ศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นดัง “ประตูสู่ความศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเชิญผู้คนมามีประสบการณ์และพบกับความหมายชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง ผ่านทางความเชื่อ เครื่องหมาย ท่าทาง สิ่งของ คำกล่าว รูปภาพ เสียง บุคคล หรือสถานที่ต่าง ๆ เช่น การเทน้ำล้างบาป การปกมือ การเจิม ศาสนบริกรน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ผ้าขาว เป็นต้น

    ในพระคัมภีร์ไม่มีบันทึกและพระเยซูเจ้าก็ไม่ได้สอนเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์แบบชัดเจน แต่พระศาสนจักรได้ใช้พระคัมภีร์ รวมถึงธรรมประเพณีของชนอิสราเอล จักรวรรดิโรมัน และกลุ่มคริสตชนในสมัยแรก ๆ เพื่ออธิบาย ขยายความพัฒนาคำสอนและพิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 ประการ

    สมัยปิตาจารย์ (ศต.2-6) ได้พัฒนาพิธีกรรมเกี่ยวกับศีลล้างบาปและพิธีบิปังโดยอาศัยพื้นฐานในพระคัมภีร์และพิธีกรรมของชนต่างศาสนา  ในช่วงของนักบุญออกัสติน แม้จะมีปัญหากับพวกที่ปฏิเสธและสอนผิดความเชื่อคาทอลิก แต่เป็นโอกาสได้พัฒนาคำสอนของศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับผลของศีลศักดิ์สิทธิ์ คือ นำพระหรรษทานและตราประทับนิรันดร ในสมัยกลาง(ศต.7-12) แม้จะมีการแยกกันระหว่างพระศาสนจักรทางตะวันออก (ออธอดอกซ์)และตะวันตก (โรมันคาทอลิก) แต่การประกอบพิธีกรรมศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆเริ่มเป็นรูปแบบมากขึ้นและนักบุญโทมัส อะไควนัส ได้สรุปศีลศักดิ์สิทธิ์ว่าเป็นพลังเหนือธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์มีสัมพันธภาพกับหรรษทานของพระเจ้า

    ปลายยุคกลางพระสงฆ์นักบวชหลายกลุ่มสอนผิดเพี้ยนและหาประโยชน์จากความเชื่อของสัตบุรุษ โดยเฉพาะเรื่องพระคุณการุณย์ ไฟชำระ ฯลฯ จนถูกท้าทายจากพวกปฏิรูปโดยการนำของมาร์ตินลูเธอร์ เรื่อยมา (ศต.12-16) จนทำให้พระศาสนจักรต้องทบทวนตนเองและเริ่มทำการปฏิรูปภายใน โดยกลับไปสู่รากฐานแท้ นั่นคือ พระคัมภีร์และธรรมประเพณีเดิมของพระศาสนจักร สังคายนาสำคัญแห่งเมืองเตรนท์ได้ประกาศจำนวนศีลศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักรคาทอลิกว่ามีทั้งหมด 7 ประการ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับความรอด หล่อเลี้ยงความเชื่อ เป็นตราประทับฝ่ายวิญญาณ และนำพระหรรษทานให้กับผู้รับแต่ละคนโดยเฉพาะ หลังจากสังคายนาเมืองเตรนท์มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ จนถึงสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 (ศต.20) จึงเกิดการปฏิรูปใหญ่ในหลายเรื่องรวมถึงศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะการเข้าสู่วัฒนธรรม (Inculturation) เช่น อนุญาตให้ถวายมิสซาเป็นภาษาท้องถิ่นได้จากเดิมที่เป็นภาษาลาตินเท่านั้น อีกทั้งมีการแปลบทพิธีกรรม บทสวด บทเพลงเป็นภาษาของแต่ละชาติ เป็นต้น


   เทววิทยาเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์สรุปได้ว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นภารกิจเชิงสัญลักษณ์ของพระศาสนจักร เครื่องหมายแห่งพระหรรษทาน ที่นำเราพบกับพระคริสตเจ้าผ่านทางพิธีกรรมรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงเราสู่ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตคริสตชน และพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดและจุดศูนย์รวมของศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ซึ่งอาจสรุปให้ชัดเจนได้ดังนี้

ศีลศักดิ์สิทธิ์    พระเยซูคริสตเจ้า        ผลและภารกิจของศีลศักดิ์สิทธิ์
ศีลล้างบาป     ผู้ลบล้างบาป                    ความเชื่อ (Faith)
ศีลกำลัง         ผู้ประทานพละกำลัง          ความเพียรทน (Perseverance)
ศีลมหาสนิท    ผู้ประทับอยู่อย่างแท้จริง     การอุทิศตน (Self-giving)
ศีลอภัยบาป     ผู้นำการคืนดี                   การสำนึกผิด (Penitence)
ศีลเจิมผู้ป่วย    ผู้เยียวยา                        ความบริบูรณ์ (Wholeness)
ศีลบรรพชา      ผู้เป็นสงฆ์สูงสุด               การรับใช้ (Service)
ศีลสมรส         ผู้เป็นองค์ความรัก             ความรัก (Love)

    ศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละประการ จึงมีพระหรรษทานและภารกิจเฉพาะ ซึ่งจะช่วยนำคริสตชนสู่ความสมบูรณ์และความศักดิ์สิทธิ์ โดยมีองค์พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลาง และมีพระศาสนจักรทรงเป็นเครื่องมือและศาสนบริกรของพระองค์