ในประวัติศาสตร์แห่งความรอดเพื่อสานงานพันธกิจไถ่กู้ของพระคริสตเจ้า โดยพระศาสนจักรคาทอลิกที่รับมอบหมายผ่านทางบรรดาอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับพระเยซูเจ้าเมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปี ที่ผ่านมา ส่งต่อมาถึงบรรดาปิตาจารย์ในบริบทคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคแต่ละสมัย ในพระสมณสาสน์ “ความรักในความจริง” (Caritas in Veritate) โดย  สมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ ๑๖ กล่าวว่า “คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร คือ มิติพิเศษแห่งการประกาศความจริงนี้ เป็นการรับใช้ความจริงซึ่งจะทำให้เราเป็นไท การเปิดใจกว้างสู่ความจริง ไม่ว่าความจริงนั้นจะมาจากสาขาวิชาใด คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรจะรับไว้ จัดการรวบรวมความจริง สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกัน ทำการรำพึง ไตร่ตรองมัน ควบคู่ไปพร้อม ๆ กันกับชีวิตทางสังคมมนุษย์และประเทศชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลงเสมอ...คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ให้ความสว่างต่อปัญหาใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นเสมอ ๆ นั้น ด้วยความสว่างที่ไม่มีวันเปลี่ยน  สิ่งนี้จะช่วยพิทักษ์คุณสมบัติถาวร และที่เป็นประวัติศาสตร์ของความเชื่อที่เป็นมรดกตกทอดมา ซึ่งพร้อมกันกับคุณสมบัติเฉพาะของมัน มันก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งขนบธรรมเนียมปฏิบัติ ที่พระศาสนจักรใช้ในการเจริญชีวิตเรื่อยมา  คำสอนด้านสังคมถูกสร้างขึ้นบนรากฐานที่อัครสาวกมอบให้กับบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร จากนั้น ก็ส่งต่อและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมโดยปราชญ์คริสตชนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย...” (ข้อ 9 และ 12) ซึ่งผลที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาของพระศาสนจักรคาทอลิกมีทั้งความชื่นชมยินดีและความเศร้าโศก ซึ่งนักบุญยอห์นปอลที่ ๒ สมเด็จพระสันตะปาปาได้กล่าวในช่วงการก้าวเข้าสู่พันปีที่ ๓ (ช่วงปี ค.ศ. ๒๐๐๑)  ว่า “ขอโทษในอดีตที่ผ่านมาที่พระศาสนจักรได้กระทำผิดพลาดไป”


    เมื่อครั้งที่กรรมาธิการฝ่ายสังคมของสังฆมณฑลราชบุรีได้จัดสัมมนาฝ่ายสังคมและองค์กรพันธกิจด้านสังคมเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๐๑๔  ที่ผ่านมา โดยอาจารย์ชัยณรงค์ มณเทียรวิเชียรฉาย เป็นวิทยากร ได้เล่าเรื่องตอนที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสขึ้นตำแหน่งองค์ประมุขสูงสุดของพระศาสนจักรคาทอลิกในช่วงปีแรก ว่ามีผู้สื่อข่าวจากนิตยสารชื่อดัง ได้มาสัมภาษณ์พระองค์ท่าน ซึ่งมีคำถามหนึ่งเป็นคำถามแรก ถามท่านว่า “ท่านเป็นใคร” .....องค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสนิ่ง แล้วก็พูดอยู่ในลำคอ แต่ยังไม่เปล่งเสียงออกมา..สักพักพระองค์ท่านก็พูดว่า “ฉันเป็นคนบาป”...บุคคลที่ประกาศว่าเป็นคนบาปอย่างพระองค์ท่านได้ขึ้นปกนิตยสาร Time ฯลฯ

    ชีวิตและคำสอนของท่านตามจิตตารมณ์พระวรสาร คำสอนของพระเยซู ท่านได้เน้นให้ห่วงใยคนยากไร้ ให้พี่น้องเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคม พระองค์ท่านได้ท้าทายสังคมให้ฟังเสียงของพวกเขาเพราะบรรดาเสียงของคนยากจนมีหลายสิ่งหลายอย่างที่สอนเรา...นี้คือแง่มุมหนึ่งของคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ที่เป็นสัญญาณแห่งกาลเวลาที่ท้าทายให้เราตระหนักในความจริงทุกมิติ ที่ก่อให้เกิดความยุติธรรม สันติสุข ความชื่นชมยินดีในสังคม ก็มีพื้นฐานมาจากผู้คน ชุมชน ที่ตระหนักในความบาปความอ่อนแอ ความล้มเหลว แล้วหันมาเชื่อในพระศรัทธาในชีวิตที่มีความหวัง เพราะโดยอาศัยการนำทางของพระจิตแห่งความจริง ที่ก่อให้เกิดคำสอนด้านสังคมคำสอนที่มีชีวิตเดินได้ในสังคม  เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง ชุมชน สังคม โลก ดั่งวลีที่บอกว่า....“เด็ดดอกไม้หนึ่งดอกสะเทือนถึงดวงดาว”