แต่ไม่ใช่หมายความว่า เงินนั้น เป็นการจ้างพระสงฆ์ให้ถวายมิสซา หรือเป็นค่าตอบแทนที่พระสงฆ์ถวายมิสซาให้ เพราะในกฎหมายพระศาสนจักรระบุว่า พระสงฆ์สามารถรับเงินถวายตามจุดประสงค์ได้วันละหนึ่งจุดประสงค์  ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถวายมิสซาเพื่อหาเงินเหมือนที่เคยเป็นมาในสมัยกลาง แม้วันนั้นจะมีจุดประสงค์มิสซามากกว่าหนึ่งจุดประสงค์ แต่พระสงฆ์ก็สามารถรับได้เพียงแค่จุดประสงค์เดียว เงินถวายตามจุดประสงค์ที่เหลือก็เป็นเงินของวัดหรือสถาบันที่พระสงฆ์สังกัดอยู่ และในกฎหมายพระศาสนจักรยังระบุอีกว่า แม้ผู้ขอไม่มีเงินถวายพระสงฆ์ก็ต้องถวายมิสซาให้ตามที่ถูกร้องขอ


ถาม: เวลาขอมิสซาฯ ต้องถวายปัจจัยเท่าไหร่?  
ตอบ:    มิสซามีคุณค่าเกินกว่าจะตั้งราคา หรือพูดง่าย ๆ ว่าไม่สามารถประเมินค่าได้ ส่วนการถวายปัจจัยนั้นก็ขึ้นกับความสะดวกของผู้ขอเป็นสำคัญ และดูสภาพเศรษฐกิจประกอบด้วย สังฆมณฑลสามารถออกข้อกำหนดในเรื่องอัตราของเงินถวายได้เพื่อเป็นมาตรฐานกลาง แต่จะถวายมากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนดได้ โดยขึ้นกับสภาพทางเศรษฐกิจของผู้ขอ แต่อย่าให้เป็นการแข่งขันหรือโอ้อวดกันว่า ใครถวายมากกว่ากัน

    ส่วนการออกวัตถุประสงค์ของผู้ขอนั้น จริง ๆ แล้วผลของการขอมิสซาเกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่ผู้ขอมีเจตนาที่จะขอมิสซานั้น ส่วนการต้องออกวัตถุประสงค์ในมิสซาหรือไม่นั้น เป็นค่านิยมของผู้ขอ ที่จริงมิสซาที่พระสงฆ์ถวายนั้นเพื่อทุกคนและการออกวัตถุประสงค์ก็ไม่ได้ทำให้มิสซานั้นเกิดผลเฉพาะกับผู้ขอ หรือไม่ได้ทำให้ผู้อื่นที่มาร่วมมิสซานั้นแต่ว่าไม่ได้ขอมิสซาไม่ได้รับผลจากมิสซาดังกล่าว สำหรับพ่อมองประเด็นนี้ว่า เป็นความสบายใจของผู้ขอมากกว่าว่าถ้าได้ยินวัตถุประสงค์ ก็เหมือนว่าได้ตามที่ขอมิสซาแล้ว จึงรอฟังว่าพ่อออกวัตถุประสงค์หรือไม่? ซึ่งตรงนี้ถ้าเทียบกับความตั้งใจ ในการขอ และการตั้งใจร่วมมิสซาที่ตนเองขอ ถือว่าสำคัญน้อยมาก แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นเรื่องสำคัญไป

ถาม: แล้วต้องเอ่ยวัตถุประสงค์ตอนไหน?
ตอบ: ในบทประจำมิสซา จะมีการเอ่ยนามของผู้ล่วงลับในบทขอบพระคุณสำหรับมิสซาระลึกถึงผู้ล่วงลับ แต่ไม่มีการเอ่ยนามของผู้เป็น แต่พระสงฆ์หลายท่านก็แทรกจุดประสงค์การขอมิสซาไว้ในบทขอบพระคุณ ทั้งนี้ก็เพื่อความสบายใจของสัตบุรุษที่ต้องการได้ยินจุดประสงค์ที่ตนเองขอ ซึ่งก็ขัดกับกฎของทางพิธีกรรม และในกฎของทางพิธีกรรมก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่ใช่ทุกวันที่จะถวายมิสซาตามจุดประสงค์ของผู้ขอได้ จะมีวันที่สามารถวายได้ และวันที่ไม่สามารถถวายได้ระบุไว้อย่างชัดเจน
    
    ในเรื่องการเอ่ยจุดประสงค์นั้น เคยมีคำแนะนำจากคณะกรรมการพิธีกรรมระดับชาติว่า ให้เอ่ยวัตถุประสงค์ก่อนการถวายมิสซานั้น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกบทขอบพระคุณ   แต่ในบางแห่งก็ไม่ชอบหรือรู้สึกไม่ดีกับทางออกแบบนี้  อยากให้เอ่ยในระหว่างมิสซาแบบที่กล่าวไว้ข้างต้นมากกว่า   ซึ่งพ่อไม่แน่ใจว่าในประเทศอื่น ๆ มีปัญหานี้เหมือนประเทศไทยหรือไม่  เท่าที่ได้สัมผัสกับประเทศต่าง ๆ ที่ไปมา ก็เห็นว่าเขาไม่ได้เอ่ยแบบที่เราทำกัน เขาจะประกาศในสารวัดให้ทราบ

จึงสรุปว่า
    การขอมิสซาตามจุดประสงค์นั้น ผลเกิดขึ้นตั้งแต่เราได้ตั้งใจและทำการขอแล้ว ส่วนการเอ่ยจุดประสงค์หรือไม่นั้น ไม่ได้เป็นผลต่อความตั้งใจของเรา และพ่อเข้าใจว่าส่วนหนึ่งที่ต้องการได้ยินก็เพื่อสบายใจว่าพระสงฆ์ไม่ได้ลืมมิสซาที่เราขอ ซึ่งตรงนี้พ่อยืนยันได้ว่า ต่อให้พระสงฆ์ลืม มิสซาที่ขอไว้ก็เป็นผล ส่วนพระสงฆ์ที่ลืมถวายให้ตามที่ขอ จะต้องไปรับผลของการที่ตนเองลืมถวายให้กับผู้ขอครับดังนั้นผู้ขอสบายใจได้ขอให้ตั้งใจจริงในการขอ และร่วมในมิสซาที่ตนขออย่างตั้งใจ ผลของการขอก็เกิดตามวัตถุประสงค์นั้นแล้วครับ

(จากคอลัมน์ ถามมา-ตอบให้ สารสังฆมณฑลราชบุรี ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน - เดือนธันวาคม 2017 )