28 แนวทางเพื่อเติมเต็มงานอภิบาลตามวัด
หมวดที่ 1: งานทำให้ชุมชนวัดศักดิ์สิทธิ์ (Sanctifying the Parish)

แนวทางที่ 1: การเฝ้าศีลมหาสนิท (Eucharistic Adoration)
                  ก่อนอื่นควรเริ่มทำวัดน้อยสำหรับเฝ้าศีล (หรือสถานที่เหมาะสม) เพราะการเฝ้าศีลมหาสนิทถือเป็นการนำคริสตชนมุ่งสู่ศูนย์กลางความเชื่อคาทอลิก นั่นคือ องค์พระเยซูคริสตเจ้า การประทับอยู่ของพระองค์ในศีลมหาสนิทจะทำให้ความเชื่อของคริสตชนเข้มแข็ง เติบโต ผ่านการใช้เวลาสงบเงียบเพื่อภาวนากับพระองค์ การเฝ้าศีลมหาสนิทยังเป็นโอกาสให้คริสตชนได้ไตร่ตรองชีวิต กระแสเรียก อีกทั้งเตรียมจิตใจเพื่อจะรับศีลอภัยบาป หรือศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ อย่างเหมาะสมต่อไป
        (ตารางเวลาการเฝ้าศีลที่วัดของคุณพ่อฟรานซิส ใช้เวลา 140 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ 17.00 น. ของวันอาทิตย์ ไปจนถึง 09.00 น. ของวันเสาร์ โดยเชิญคุณพ่อจากคณะมิชชันนารีแห่งศีลมหาสนิทมาเป็นประธานมิสซาในทุกวัน โดยมีสมาชิกของวัดราว 700 คน ได้ลงชื่อเพื่อสลับกันมาเฝ้าศีลมหาสนิท และทำชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ พระสังฆราช Sheen เคยกล่าวไว้ว่า การใช้เวลาต่อหน้าศีลมหาสนิท เป็นเสมือนการเยียวยารักษาจากแสงแห่งศีลมหาสนิท ซึ่งจะทำลายบาปต่างๆ ให้สูญสิ้นไป)

แนวทางที่ 2: คณะพลมารี (The Legion of Mary)
              แม้กลุ่มพลมารีจะเป็นองค์กรที่ขึ้นกับสันตะสำนัก แต่จุดประสงค์แท้จริงของคณะพลมารี ก็คือ การทำให้ศักดิ์สิทธิ์ (Sanctification) ซึ่งนอกจากจะสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับสมาชิกของกลุ่มเองแล้ว ยังมีส่วนทำให้สังคมและบริบทของวัดนั้นๆ ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นด้วย คณะพลมารีช่วยให้สมาชิกพัฒนาชีวิตจิตอย่างเป็นระบบตามรูปแบบของนักบุญหลุยห์ มารี เดอ มองฟอร์ต (True Devotion to Mary) รวมถึงรูปแบบชีวิตจิตของพระแม่มารีย์ และพระกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า
(คุณพ่อฟรานซิสเอง ก็เคยเข้าสังกัดคณะพลมารีตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เริ่มจากกลุ่มพลมารีเด็ก พลมารีเยาวชน และพลมารีผู้ใหญ่ ปัจจุบันคุณพ่อฟรานซิสเป็นวิญญาณรักษณ์ของกลุ่มพลมารี 8 เปรซีเดียม แบ่งเป็นกลุ่มพลมารีผู้ใหญ่ 6 เปรซีเดียม และกลุ่มพลมารีเด็ก 2 เปรซีเดียม คุณพ่อฟรานซิสพบว่าการมีกลุ่มพลมารีในแต่ละวัดนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มพลมารีเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มแพร่ธรรมของวัด)

แนวทางที่ 3: นพวารประจำสัปดาห์ (Weekly Novena)
            นพวารแม่พระเหรียญอัศจรรย์ ถือเป็นเครื่องมืออันทรงพลังของการฟื้นฟูจิตวิญญาณของวัด ซึ่งโดยปกติที่วัดของคุณพ่อฟรานซิสจะกำหนดในตอนเย็นวันจันทร์ และมีพิธีนพวารในวันศุกร์หลังจากมิสซาตอน 09.00 น. เนื่องจากว่าเป็นมิสซาที่มีคนมาร่วมพิธีมากที่สุด (ราว 300 คน) เนื้อหาสาระให้พิธีนพวารนั้น จึงเน้นถึงการกลับใจมารับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ รวมถึงการเยียวยาฝ่ายจิต การติดต่อสัมพันธ์กับพระเจ้า และการวอนขออัศจรรย์จะพระหรรษทานของพระองค์

แนวทางที่ 4: ศีลอภัยบาป (Confession)
              ตางรางเวลาบริการศีลอภัยบาปที่วัดของคุณพ่อฟรานซิส ได้แก่ เย็นวันพฤหัส วันศุกร์หลังมิสซา 09.00 น. และบ่ายวันเสาร์ รวมถึงช่วงเทศกาลมหาพรตหลังจากเดินรูป 14 ภาค คุณพ่อฟรานซิสพบว่าศีลอภัยบาปช่วยดึงดูดใจสัตบุรุษให้มารับบริการ ขอเพียงมีพระสงฆ์นั่งในที่ฟังแก้บาปตามเวลาที่กำหนด รวมถึงเชิญชวนสัตบุรุษให้มารับศีลอภัยบาป อีกทั้งเทศน์สอนเกี่ยวกับศีลอภัยบาป สัตบุรุษก็จะตอบรับในการมาใช้บริการศีลอภัยบาป อาจกล่าวได้ว่าศีลอภัยบาปนั้นเป็นการเสริมสร้างความดีของจิตวิญญาณสัตบุรุษและของวัดเลยก็ว่าได้

แนวทางที่ 5: คู่มือศีลอภัยบาป [ช่วยวินิจฉัยโรค] (The Confessional as Pharmacy)
          คุณพ่อฟรานซิสได้วางหนังสือคู่มือเล็กๆ ตรงที่ฟังแก้บาป ซึ่งบรรจุบทภาวนาต่างๆ ราว 70 บท รวมถึงการ์ดภาพพระคัมภีร์ และใบปลิวที่น่าสนใจต่างๆ คู่มือเหล่านี้เปรียบเป็นดัง “ใบสั่งยา” ในการทำกิจการใช้โทษบาป นอกเหนือจากการแนะนำ ตักเตือน และการให้สวดบทข้าแต่พระบิดาและวันทามารีอา อย่างละ 3 บทแล้ว คู่มือดังกล่าวช่วยให้ผู้ฟังแก้บาปได้วินิจฉัยปัญหา ความบาปผิดต่างๆ ของผู้มารรับบริการได้อย่างเหมาะสม
(คุณพ่อฟรานซิสแนะนำให้มีแผ่นกระดาษเล็กที่เขียนขั้นตอน คำพูด รวมถึงบทแสดงความทุกข์ซึ่งใช้ในการรับศีลอภัยบาปด้วย เพราะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่ได้มารับศีลอภัยบาปเป็นเวลานานๆ หรืออาจหลงลืมบทภาวนาแบบใหม่ เป็นต้น)

แนวทางที่ 6: เข้าเงียบแบบย่อ และงานแพร่ธรรม (Mini “Retreats” and Missions)
           คุณพ่อฟรานซิสเห็นถึงประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตจิตของสัตบุรุษของท่าน ผ่านการจัดเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจแบบครึ่งวัน ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นก็ได้ และควรแยกจัดกันระหว่างชายและหญิง โดยอาจเชิญพระสงฆ์จากคณะนักบวชต่างๆ มานำการเข้าเงียบ แบ่งปันประสบการณ์และข้อคิด ฟังแก้บาป และให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ตามที่เห็นสมควร นอกจากนี้ ยังสามารถจัดเข้าเงียบให้กับกลุ่มต่างๆ ของวัดได้อีกด้วย เช่น กลุ่มครูคำสอน กลุ่มเด็กช่วยจารีต กลุ่มเด็กเตรียมรับศีลมหาสนิทครั้งแรก เป็นต้น (ช่วงเหมาะสมที่สุดในการจัดเข้าเงียบก็คือ ช่วงเทศกาลมหาพรต)
(ตัวอย่างตารางเวลาในช่วงการเข้าเงียบ ได้แก่ เริ่มด้วยพิธีมิสซา หลังมิสซาเป็นช่วงรับศีลอภัยบาป (ราว 1 ชม.) ทำชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ (เช่น เฝ้าศีลมหาสนิท) ช่วงที่วิทยากรบรรยายให้ข้อคิด ตามด้วยการอวยพรศีลมหาสนิท และจบด้วยการรับศีลอภัยบาปอีกช่วงหนึ่ง (ราว 17.30 น.) การประชาสัมพันธ์ให้สัตบุรุษได้ทราบหลังพิธีบูชาชอบพระคุณ หรือผ่านทางสารวัด เว็ปไซด์ของวัด ฯลฯ จะช่วยให้เข้าถึงสัตบุรุษที่อาจไม่ได้มาวัดเป็นประจำได้ทราบทั่วกันด้วย

แนวทางที่ 7: การอภิบาลโดยการใช้สิ่งคล้ายศีลต่างๆ (Sacramentalize the Flock)
           เราสามารถใช้สิ่งคล้ายศีลต่างๆ ในการเสริมสร้างชีวิตคริสตชนของบรรดาสัตบุรุษได้ โดยการจัดสรรหรือทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่น การมอบเหรียญแม่พระอัศจรรย์ให้กับสัตบุรุษในโอกาสฉลองแม่พระเหรียญอัศจรรย์ในเดือนพฤศจิกายน ในเดือนกรกฎาคมโอกาสฉลองแม่พระแห่งภูเขาคาร์เมลก็มอบเสื้อจำพวก (Brown Scapular) ให้กับสัตบุรุษ หรือในเดือนตุลาคมก็ให้สายประคำ เป็นต้น สิ่งคล้ายศีลเหล่านี้สามารถช่วยให้สัตบุรุษได้รับพระหรรษทานปัจจุบัน (Actual Grace) ได้ รวมถึงน้ำเสกที่สัตบุรุษสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้าน หรือการจุดเทียนต่อหน้ารูปพระหรือนักบุญต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน

         การที่วัดมีร้านจำหน่ายศาสนภัณฑ์ รูปพระ กางเขน สิ่งคล้ายศีลต่างๆ หรือหนังสือเสริมศรัทธา หรือแม้แต่ของที่ระลึก ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างชีวิตจิตและความเชื่อความศรัทธาของบรรดาสัตบุรุษได้