จากชื่อของสมณกระทรวงนี้ เราจะเห็นว่าแบ่งออกเป็น 2 เรื่องคือ เรื่องพิธีกรรม และ เรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งที่จริงแล้วก็คือเรื่องเดียวกัน เพราะว่าศีลศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่ายังมีพิธีกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วย ดังนั้นถ้าจะเปรียบให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ พิธีกรรมนั้นเป็นเสมือนร่มใหญ่ ส่วนศีลศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นเสมือนร่มเล็กที่อยู่ภายใต้ร่มใหญ่อีกทีหนึ่ง

    ศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacraments) เป็นพิธีกรรมที่มีลักษณะเป็นทางการของพระศาสนจักร และคาทอลิกทุกคนมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติพิธีกรรมเหล่านี้ โดยมีความสัมพันธ์กับช่วงต่าง ๆ ในชีวิตของคาทอลิก และตามจุดประสงค์ของศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละประการ พระศาสนจักรคาทอลิกยืนยันว่าศีลศักดิ์สิทธิ์มี 7 ประการ ได้แก่ ศีลล้างบาป ศีลมหาสนิท ศีลกำลัง ศีลอภัยบาป ศีลเจิมคนไข้ ศีลบรรพชา และศีลสมรส

จากศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 ประการนี้ เราสามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้ 3 ประการคือ
    1. ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตคริสตชน ซึ่งประกอบไปด้วย ศีลล้างบาป ศีลมหาสนิทและศีลกำลังศีลศักดิ์สิทธิ์ในหมวดหมู่นี้เกี่ยวข้องกับชีวิตคริสตชน กล่าวคือ เริ่มต้นชีวิตคริสตชนด้วยศีลล้างบาปและหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชนด้วยศีลมหาสนิท สุดท้าย คือการยืนยันความเป็นคริสตชนด้วยศีลกำลัง สำหรับผู้ใหญ่ที่เข้ามาเป็นคริสตชน สามารถที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามประการนี้ได้พร้อมกันในครั้งเดียว

    2. ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเยียวยารักษา ซึ่งประกอบไปด้วย ศีลอภัยบาป และศีลเจิมคนไข้ ศีลศักดิ์สิทธิ์ในหมวดหมู่นี้เกี่ยวข้องกับการเยียวยารักษาทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายร่างกาย เพราะเมื่อเราเข้าสู่ชีวิตคริสตชนแล้ว เราอาจจะทำบาป ซึ่งทำให้ชีวิตคริสตชนของเรามัวหมองไปศีลอภัยบาปจึงเป็นหนทางที่จะช่วยให้เราได้ชำระชีวิตคริสตชนของเราให้กลับสะอาดบริสุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง ในขณะเดียวกัน บาปยังทำให้มโนธรรมของเราบกพร่องไป การรับศีลอภัยบาปก็เป็นการบำบัดรักษามโนธรรมของเรา ให้มีความเที่ยงตรงอีกครั้ง ส่วนศีลเจิมคนไข้นั้น ก็ช่วยให้คริสตชนที่อยู่ในความบกพร่องหรืออ่อนแอทางร่างกายจะได้รับพละกำลังจากพระเจ้า และรวมถึงพละกำลังทางวิญญาณด้วย ทำให้ร่างกายและวิญญาณมีความเข้มแข็ง

    3. ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งหน้าที่คริสตชน ซึ่งประกอบไปด้วย ศีลบรรพชา และ ศีลสมรส ศีลศักดิ์สิทธิ์ในหมวดหมู่นี้เป็นการมอบบทบาทหน้าที่ให้กับสมาชิกของพระศาสนจักร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ สมณะ (Clergy) กับ ฆราวาส (Laity) โดยที่ศีลบรรพชาเป็นการทำให้สมาชิกคนหนึ่งได้เข้าสู่สมณภาพ (Priesthood) ทำหน้าที่ถวายบูชาและภาวนาสรรเสริญพระเจ้าในนามของพระศาสนจักร

    ศีลบรรพชาประกอบไปด้วย สังฆานุกร พระสงฆ์ และพระสังฆราช ส่วนสมาชิกที่ไม่ได้เป็นสมณะแต่เป็นฆราวาส ก็ทำหน้าที่ร่วมในแผนการสร้างของพระเจ้าโดยการมีครอบครัว ศีลสมรสจึงเป็นการทำให้สมาชิกของพระศาสนจักรเข้าสู่หน้าที่นี้ของพวกเขา อย่างไรก็ตามก็จะมีฆราวาสกลุ่มหนึ่งที่อุทิศตนรับใช้พระเจ้าเป็นพิเศษ ดำเนินชีวิตตามคำแนะนำพระวรสาร หรือที่เราเรียกสมาชิกกลุ่มนี้ว่า ผู้รับเจิมถวายตัว หรือคำเดิมคือ นักบวช ซึ่งการรับเจิมนี้ไม่ได้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ และไม่ได้เป็นการบวชเช่นศีลบรรพชาแต่เรามักจะเรียกติดปากว่า “บวช” เช่น บวชซิสเตอร์ บวชบราเดอร์ เป็นต้น


    นอกเหนือจากศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 ประการ คาทอลิกเราก็ยังมีพิธีกรรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปในลักษณะของความศรัทธาภักดี (Devotions) โดยมีความแตกต่างจากศีลศักดิ์สิทธิ์ก็คือ ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นทางการแบบที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติ แต่ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของแต่ละบุคคล ว่ามีความศรัทธาในเรื่องนั้นมากน้อยเพียงใด และในแต่ละท้องที่ก็มีความศรัทธาภักดีที่แตกต่างกันไป ในท้องที่หนึ่งอาจจะมีความศรัทธาภักดีแบบนี้ในท้องที่ของตน ในขณะที่อีกท้องที่หนึ่งไม่มีความศรัทธาภักดีแบบนี้ หรือมีความศรัทธาภักดีแบบอื่นที่แตกต่างออกไป ตัวอย่างของความศรัทธาภักดี ได้แก่ นพวารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนพวารแม่พระนิจจานุเคราะห์ นพวารพระคริสตสมภพ นพวารนักบุญอันตน ฯลฯ ซึ่งเราจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ตามแต่ละกลุ่ม ไม่มีการกำหนดว่าต้องทำเหมือนกัน วัดนักบุญอันตน มีนพวารนักบุญอันตน ในขณะที่วัดอื่น ๆ อาจจะไม่มี สังฆมณฑลราชบุรีมีนพวารพระคริสตสมภพ ในขณะที่สังฆมณฑลอื่นอาจจะไม่มี บางวัดอาจจะมีนพวารแม่พระนิจจานุเคราะห์ ในขณะที่อีกบางวัดอาจจะไม่มี คณะนักบวชบางคณะอาจจะมีนพวารพิเศษที่เกี่ยวข้องกับคณะ ในขณะที่คณะอื่น ๆ อาจจะไม่มี ทั้งนี้หัวใจของความศรัทธาภักดีก็คือเป็นพิธีกรรมที่ทำให้ชีวิตคริสตชนมีความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้ามากยิ่งขึ้น

    สำหรับพิธีกรรมที่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรนัก เพราะว่ามีความเป็นเอกภาพและได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี การประกอบพิธีกรรมเหล่านี้ก็มีแบบแผนที่ชัดเจนแน่นอนทั่วโลก แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ พิธีกรรมที่เป็นความศรัทธาภักดี ซึ่งถ้าไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้ถูกต้อง ก็อาจจะทำให้เกิดการหลงผิดในทางความเชื่อได้ จนบางทีกลายเป็นความเชื่อแบบงมงายในสิ่งเหนือธรรมชาติ (Superstition) ไปได้

    ดังนั้น จึงอยากนำเสนอความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความศรัทธาภักดี เพื่อเป็นแนวทางให้กับคาทอลิกทุกท่านจะได้มีความเชื่อความศรัทธาอย่างถูกต้อง


    1. พระเจ้าคือผู้สูงสุด เป็นผู้ประทานพรต่าง ๆ แก่มนุษย์ ส่วนแม่พระ ทูตสวรรค์และนักบุญทั้งหลายที่เราเคารพนับถือนั้น อยู่ในฐานะคนกลาง (mediator) ที่นำคำภาวนาของเราไปเสนอต่อพระเจ้า และนำพรของพระกลับมาสู่เรามนุษย์อีกทีหนึ่ง ดังนั้น ท่าทีที่ถูกต้องในการมีความศรัทธาภักดีของเราหรือในการร่วมพิธีกรรมเหล่านี้ก็คือ เราต้องไปให้ถึงพระเจ้าไม่ใช่หยุดอยู่แค่แม่พระ ทูตสวรรค์หรือนักบุญเท่านั้น

    2. การไม่ยึดติดกับรูปเคารพ ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่คาทอลิกถูกตำหนิอย่างมากที่เรามีรูปเคารพต่าง ๆ มากมาย และหลายครั้งเราก็ไปกราบไหว้รูปเคารพเหล่านั้น ในลักษณะของการนับถือรูปเคารพ อันที่จริงแล้วความเชื่อที่ถูกต้องของคาทอลิกเราไม่ได้นับถือรูปเคารพว่ารูปเหล่านั้นมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ รูปที่เราสร้างขึ้นมานั้นเป็นเพียงวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อให้เราคิดถึงสิ่งที่ตาเรามองไม่เห็น เช่น เมื่อเราเห็นรูปแม่พระ ใจของเราก็จะได้คิดถึงแม่พระ ไม่ใช่หยุดที่แค่รูปแม่พระรูปนั้น ในบทอวยพรหรือบทเสกรูปพระ ก็ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ทุกครั้งที่ตาเห็นรูปเหล่านี้ ใจจะระลึกถึงกิจการดีงาม ความศักดิ์สิทธิ์ และเจริญรอยตามแบบอย่างของ........” ดังนั้น การที่เรามีความศรัทธาภักดีหรือร่วมพิธีกรรมที่เป็นความศรัทธาภักดี แล้วเรายึดติดว่าต้องรูปนั้นรูปนี้ เราก็กำลังเข้าข่ายของการนับถือรูปเคารพ

    3. ความศรัทธาภักดีจะต้องสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตตามพระวรสาร ซึ่งพระวรสารแปลว่าข่าวดีพูดง่าย ๆ ก็คือเราต้องปฏิบัติตามสิ่งที่พระเยซูเจ้าสอน แล้วเราจะมีชีวิตที่ดีทั้งในโลกนี้ คือเราจะอยู่ในสังคมด้วยความสุขสันติ และในโลกหน้าก็คือ เราจะได้รับชีวิตนิรันดรเป็นรางวัล หากเรามีแต่ความศรัทธาภักดีแบบงมงาย คิดว่าไปร่วมพิธีกรรมที่เป็นความศรัทธาภักดีนี้ ถวายพวงมาลัยหรือปัจจัยให้รูปนี้ กราบไหว้รูปนี้  แต่ไม่ได้ดำเนินชีวิตแต่ละวันด้วยการทำในสิ่งที่ดีตามคำสอนของพระเยซูเจ้า ต่อให้เราไปร่วมพิธี ถวายสิ่งต่าง ๆ มากมายแค่ไหนก็ตาม ชีวิตก็ไม่อาจดีได้ เพราะความดีต้องเกิดจากจิตใจที่ดีมีความคิดที่ดี และมีการกระทำที่ดี สอดรับกัน

    บทสรุป พิธีกรรมเป็นการแสดงออกของความเชื่อที่เรามี ดังนั้น การไปร่วมพิธีกรรมจึงเป็นสิ่งที่เราควรทำอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกันการไปร่วมพิธีกรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องก็มีความสำคัญด้วย เพื่อให้พิธีกรรมที่เราไปร่วมนั้น ช่วยให้เราสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้ามากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ทำให้เราเกิดความลุ่มหลงงมงาย ไปติดกับสิ่งที่เป็นเพียงวัตถุและห่างไกลจากพระเจ้า