นัยของกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 228 คือ
           ก)ฆราวาสสามารถทำหน้าที่ในพระศาสนจักร
           ข)ฆราวาสที่จะมาทำหน้าที่ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม
          ค)ผู้มีอำนาจของพระศาสนจักรเป็นผู้รับรองหรือแต่งตั้งฆราวาสเข้าทำงานในพระศาสนจักร
          ง)ฆราวาสที่มีความรู้ รอบคอบ และเที่ยงธรรมสามารถช่วยเหลือพระศาสนจักรในฐานะผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษา

กฎหมายพระศาสนจักรมาตราอื่นๆที่แสดงให้เห็นบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องฆราวาส โดยจะศึกษาดังต่อไปนี้

             7.1.1 ฆราวาสทุกคนต่างเป็นประชากรของพระเป็นเจ้า มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ดังปรากฎในกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 208 ความว่า “โดยการเกิดใหม่ในพระคริสต์ คริสตชนทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงในศักดิ์ศรีและหน้าที่การงานเพื่อร่วมมือกันเสริมสร้างพระกายทิพย์ของพระคริสต์ตามสภาพและหน้าที่ของแต่ละคน”

             7.1.2 ฆราวาสสทุกคนมีส่วนในพันธะกิจของพระศาสนจักร ดังปรากฏในกฎหมายพระ ศาสนจักรมาตรา 216 ความว่า “เนื่องจากคริสตชนทุกคนมีส่วนร่วมในพันธกิจของพระศาสนจักร จึงมีสิทธิสนับสนุนหรือค้ำจุนกิจการการแพร่ธรรมด้วยการริเริ่มของตนอง ตามสถานภาพของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ห้ามใช้ชื่อคาทอลิกโดยพลการในการริเริ่มใดๆเว้นไว้แต่ว่าจะได้รับความเห็นชอบจากผู้ทรงอำนาจฝ่ายพระศาสนจักรแล้ว”

            7.1.3 ฆราวาสบางคนสามารถเข้าทำงานในพระศาสนจักรได้ตามกฎหมายของพระศาสนจักรมาตรา 208 วรรค 1 และ 2 ดังนี้ “ฆราวาสที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถรับตำแหน่งและหน้าที่ฝ่ายพระศาสนจักรจากนายชุมพาบาลผู้ศักดิ์สิทธิ์ของเขา ซึ่งตำแหน่งและหน้าที่ดังกล่าว เขาสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดของกฎหมาย” วรรค 2 กล่าวว่า “ฆราวาสที่ดีเด่นในความรู้ ความรอบคอบ และความเที่ยงธรรมที่จำเป็น สามารถช่วยเหลือนายชุมพาบาลของพระศาสนจักรในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษา แม้ในการประชุมสภาด้วยตามเกณฑ์ของกฎหมาย”

             7.1.4 ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรต่อไปนี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของฆราวาสในการทำงานในพระศาสนจักร โดยแยกเป็นเรื่องต่างๆ ดังนี้

             7.1.4 ความสัมพันธ์ของฆราวาสในพิธีกรรมดังปรากฏในกฎหมายพระศาสนจักร
                      มาตรา 230 กล่าวไว้ในวรรคที่ 1 ว่า “ฆราวาสชายที่มีอายุและคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ โดยกฤษฎีกาของสภาพระสังฆราช สามารถได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อ่าน และผู้ช่วยพิธีกรรมถาวรตามจารีตพิธีกรรมที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม การมอบตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้ มิได้เป็นการให้สิทธิ์ที่จะรับเงินค่าครองชีพหรือค่าตอบแทนแก่พวกเขาจากพระศาสนจักร”

                     มาตรา 230 วรรค 2 กล่าวว่า “ฆราวาสสามารถรับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อ่านชั่วคราวระหว่างการประกอบพิธีกรรมได้ ในทำนองเดียวกันฆราวาสทุกคนสามารถปฏิบัติหน้าที่พิธีกรหรือนักขับร้องหรือหน้าที่อื่นๆตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายได้”


                     มาตรา 230 วรรค 3 กล่าวว่า “เมื่อพระศาสนจักรมีความจำเป็นและขาดศาสนบริกร ฆราวาสแม้มิใช่เป็นผู้อ่านหรือผู้ช่วยพิธีกรรม สามารถปฏิบัติหน้าที่บางอย่างแทนได้ เช่น ทำหน้าที่ศาสนบริกรพระวาจา เป็นประธานนำการภาวนาในพิธีกรรม โปรดศีลล้างบาปและแจกศีลมหาสนิท ทั้งนี้ตามข้อกำหนดของกฎหมาย”

             7.1.4.2 ความสัมพันธ์ของฆราวาสในฐานะเป็นศาสนบริกรแห่งพระวาจา ซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา 759 ความว่า “คริสตชนฆราวาส โดยเหตุที่ได้รับศีลล้างบาปและศีลกำลังก็เป็นพยาน คือข่าวดีแห่งพระวรสารทั้งด้วยวาจาและด้วยตัวอย่างแห่งชีวิตคริสตชน พวกเขายังสามารถได้รับเชิญให้เข้าร่วมกับพระสังฆราชและพระสงฆ์ในการปฏิบัติศาสนบริการพระวาจาด้วย”

                     มาตรา 766 กล่าวว่า “ฆราวาสสามารถได้รับอนุญาตให้เทศน์ในวัดหรือสถานภาวนาได้ ถ้าหากจำเป็นในบางกรณีหรือหากมีประโยชน์ในกรณีเฉพาะ ทั้งนี้ตามข้อกำหนดของสภาพระสังฆราช...” และสภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทยได้ออกกฤษฎีกาที่ 6ให้พระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลอาจจะอนุมัติให้บรรดาฆราวาสแสดงธรรมในวัดหรือภาวนาสถานได้ในกรณีต่างๆโดยสอดคล้องกับมาตรา 767 ดังต่อไปนี้

            ก) เมื่อมีบรรดาสัตบุรษมาชุมนุมกันโดยไม่มีพระสงฆ์หรือสังฆานุกร ซึ่งสามารถพูดภาษาของกลุ่มนั้นได้
            ข)เมื่อมีการประกอบวจนพิธีกรรม โดยไม่มีพระสงฆ์หรือสังฆานุกร
            ค)เมื่อมีบรรดาสามเณรใหญ่ที่เริ่มเรียนสาขาวิชาเทววิทยาถูกส่งไปฝึกงานอภิบาลตามวัด
            ง)เมื่อมีเหตุการณ์แบบอย่างร้องให้บรรดาฆราวาสเข้ามามีส่วนร่วมด้วย (เช่นเรื่องการเงิน เรื่องร้องเรียนพิเศษต่างๆ เหตุการณ์พิเศษต่างๆ)
           จ)เมื่อพระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลเห็นว่าเหมาะสมและมีข้อกำหนดเสริมว่า “บทเทศน์ในมิสซา (HOMILY) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ถูกสงวนไว้สำหรับบรรดาพระสงฆ์ และบรรดาสังฆานุกรเสมอ ดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 767 วรรค 1”

                7.1.4.3 ความสัมพันธ์ของฆราวาสในฐานะเป็นครูคำสอน ซึ่งกล่าวไว้ในกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 776 ความว่า “พระสงฆ์เจ้าอาวาสโดยหน้าที่ต้องเอาใจใส่ให้มีการอบรมคำสอนแก่ผู้ใหญ่ เยาวชนและเด็ก เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ ท่านต้องใช้บริการของสมณะที่สังกัดกับวัดปกครอง สมาชิกของสถาบันชีวิตที่ถวายแล้ว และของคณะชีวิตแพร่ธรรม โดยคำนึงถึงเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบัน รวมทั้งคริสตชนฆราวาสด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูคำสอน บุคคลทั้งหมดเหล่านี้หากไม่มีข้อขัดขวางอันชอบต้องไม่ปฏิเสธให้ความช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ เจ้าอาวาสต้องส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของบิดามารดาในการสอนคำสอนในครอบครัวดังระบุในมาตรา 774 วรรค 2”

                 7.1.4.4 ความสัมพันธ์ของฆราวาสในฐานะผู้ทำงานแพร่ธรรมร่วมกับธรรมทูตกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 785 วรรค 4 กล่าวว่า “ให้ใช้ครูสอนคำสอนในการทำงานแพร่ธรรม กล่าวคือคริสตชนฆราวาสที่ได้รับการอบรมอย่างเหมาะสมและมีชีวิตคริสตชนที่ดีเด่นซึ่งอุทิศตนเพื่อสอนพระวรสารและจัดการเกี่ยวกับพิธีกรรม รวมทั้งงานด้านเมตตาจิตภายใต้การดูแลของธรรมทูต”
 
                 7.1.4.5 ความสัมพันธ์ของฆราวาสในฐานะอาจารย์ผู้สอนวิชาศักดิ์สิทธิ์ ดังปรากฏ
ในกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 229 วรรค 3 ความว่า “ในทำนองเดียวกัน เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เกี่ยวกับความเหมาะสมที่จำเป็นแล้ว ฆราวาสก็สามารถรับอนุญาตให้สอนวิชาศักดิ์สิทธิ์จากผู้ทรงอำนาจทางพระศาสนจักรที่ถูกต้องได้”

                  7.1.4.6 ความสัมพันธ์ของฆราวาสในฐานะสมาชิกสมัชชาสังฆมณฑล ดังปรากฏในกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 460 ความว่า “สมัชชาสังฆมณฑล คือกลุ่มพระสงฆ์และคริสตชนที่ได้รับเลือกจากพระศาสนจักรเฉพาะถิ่น เพื่อช่วยเหลือพระสังฆราชสังฆมณฑล ยังประโยชน์ของปวงชนทั่วเขต       สังฆมณฑล” และกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 463 วรรค 2 กล่าวว่า “พระสังฆราชสังฆมณฑลยังสมารถเรียกผู้อื่นเข้าร่วมประชุมสมัชชา    สังฆมณฑลได้อีก ซึ่งอาจจะเป็นสมณะ สมาชิกสถาบันชีวิตที่ถวายแล้วหรือคริสตชนฆราวาสได้”

                  7.1.4.7 ความสัมพันธ์ของฆราวาสในฐานะผู้ปกครองในพระศาสนจักร ซึ่งได้กล่าวไว้ในกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 129 วรรค 2 ความว่า “คริสตชนที่เป็นฆราวาสสามารถมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจการปกครองตามกฎเกณฑ์ของกฎหมาย”

                  7.1.4.8  ความสัมพันธ์ของฆราวาสในฐานะผู้ปกครองวัด ซึ่งได้กล่าวไว้ในกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 517 วรรค 2 ความว่า “หากเพราะความขาดแคลนพระสงฆ์ พระสังฆราชสังฆมณฑลมีความเห็นว่าต้องมอบให้สังฆานุกรหรือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระสงฆ์หรือกลุ่มบุคคลมีส่วนในงานอภิบาลวัดปกครอง ท่านก็ต้องตั้งพระสงฆ์องค์หนึ่งที่มีอำนาจปกครองและอำนาจปฏิบัติของเจ้าอาวาสเป็นผู้อำนวยการอภิบาล”

                  7.1.4.9 ความสัมพันธ์ของฆราวาสในฐานะผู้ประกอบพิธีสมรส  ซึ่งกล่าวในกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1112
                            วรรค 1 ความว่า “ถ้าสภาพพระสังฆราชได้เห็นชอบและสันตะสำนึกได้อนุญาตแล้ว ที่ใดที่ขาดพระสงฆ์และสังฆานุกรพระสังฆราช สังฆมณฑลสามารถมอบอำนาจให้แก่ฆราวาสประกอบพิธีแต่งงานได้”
                             วรรค 2 กล่าวว่า “ต้องเลือกฆราวาสที่เหมาะสมที่สามารถให้การอบรมบุคคลที่จะแต่งงาน และมีคุณสมบัติที่จะประกอบพิธีกรรม การแต่งงานได้อย่างถูกต้อง”
               7.1.4.10 ความสัมพันธ์ของฆราวาสในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของพระศาสนจักร ซึ่งได้กล่าวไว้ในกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 494 วรรค 1 ความว่า “ในแต่ละสังฆมณฑล หลังจากฟังคณะที่ปรึกษาและคณะที่ปรึกษาด้านทรัพย์สินแล้ว พระสังฆราชต้องแต่งตั้งผู้จัดการทรัพย์สิน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจการเงิน และเป็นผู้โดดเด่นทีเดียวด้านความซื่อสัตย์”
 กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1282 ยังกล่าวอีกว่า “ทุกคนไม่ว่าจะเป็นสมณะหรือฆราวาส ซึ่งมีส่วนในการบริหารทรัพย์สินฝ่ายพระศาสนจักร โดยตำแหน่งอันชอบด้วยกฎหมาย ต้องปฏิบัติหน้าที่ในนามของพระศาสนจักรตามกฎเกณฑ์ของกฎหมาย”

                7.1.4.11 ความสัมพันธ์ของฆราวาสในฐานะเจ้าหน้าที่ในสำนักสังฆมณฑล ซึ่งกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 482

                           วรรค 1 กล่าวว่า “ในทุกๆสำนักให้มีการแต่งตั้งเลขาธิการ ซึ่งมีงานหลักคือจัดทำเอกสารและเก็บรักษาเอกสารไว้ในที่เก็บเอกสารของสำนักฯ เว้นไว้แต่ว่ากฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”
                             วรรค 2 กล่าวว่า “ถ้าเห็นว่าจำเป็น เลขาธิการก็สามารถมีผู้ช่วยได้โดยมีตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการ”
                             วรรค 3 กล่าวว่า “เลขาธิการ (CHANCELLOR) และรองเลขาธิการเป็นนิติกรณ์ (NOTARY) และเลขานุการของสำนักฯโดยอัตโนมัติ
 
                 7.1.4.12 ความสัมพันธ์ของฆราวาสในฐานะเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรม ซึ่ง
แบ่งหน้าที่ได้ดังนี้
                             ก) ผู้พิพากษา :กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1421 วรรค 2 กล่าวว่า “สภาพระสังฆราชสามารถอนุญาตให้แต่งตั้งฆราวาสเป็นผู้พิพากษาด้วย และเมื่อเห็นว่าจำเป็นก็สามารถเลือกผู้หนึ่งในบรรดาฆราวาสให้ประกอบขึ้นเป็นคณะผู้พิพากษา”
                             ข) ผู้เชี่ยวชาญ : กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1424 กล่าวว่า “ในการพิจารณาคดีที่มีผู้พิพากษาเพียงผู้เดียว ท่านสามารถใช้ผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่านเป็นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองอาจเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาสที่มีประวัติดี”
                             ค) ผู้สอบคดี : กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1428 วรรค 2 กล่าวว่า “พระสังฆราชสามารถรับรองให้สมณะหรือฆราวาสทำหน้าที่เป็นผู้สอบคดี แต่บุคคลนั้นต้องโดดเด่นในด้านความประพฤติดี ความรอบคอบและวิชาการ
                           ง) ผู้ผดุงความยุติธรรมและผู้ปกป้องพันธะ : กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1435 ความว่า “พระสังฆราชมีหน้าที่แต่งตั้งผู้ผดุงความยุติธรรมและผู้ปกป้องพันธะ พวกเขาต้องเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาสที่มีประวัติไม่ด่างพร้อยและมีวุฒิปริญญาเอกหรือปริญญาโททางกฎหมายพระ ศาสนจักร และมีความสุขุมรอบคอบ และร้อนรนในความยุติธรรมอย่างแจ้งชัด”

 

7.2 ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องฆราวาสกับพระศาสนจักรตามคำสอนของสังคายนาวาติกันที่ 2  

            7.2.1 พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยการแพร่ธรรมของฆราวาส (APOSTOLICAM  ACTUOSITATEM)  ข้อ 24 ความว่า “ในพระศาสนจักร มีการริเริ่มในการแพร่ธรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นโดยฆราวาสสมัครเลือกทำเองและดำเนินงานตามความวินิจฉัยอันฉลาดของเขาเอง อาศัยการริเริ่มเช่นนี้ ในบางโอกาสพระศาสนจักรจึงทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นบ่อยครั้งพระฐานานุกรมจึงชมเชยและสนับสนุนการริเริ่มเหล่านั้น..”

              7.2.2 พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักร (LUMEN GENTIUM) ข้อ 37 กล่าวว่า“ฝ่ายบุคคลที่มีหน้าที่ศาสนบริกร (หรือชุมพาบาล) ทั้งหลายก็จงรับรู้ศักดิ์ศรีและความรับผิดชอบของฆราวาส ต้องส่งเสริมเขาด้วย จงยินดีรับความคิดเห็นอันปรีชาฉลาดของพวกเขา จงวางใจมอบตนแก่เขาเพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักร จงปล่อยเขาให้มีเสรีภาพในการทำงานและจงให้เวลาแก่พวกเขา ยิ่งไปกว่านั้นจงส่งเสริมให้พวกเขามีกำลังใจ ให้เขาริเริ่มงานด้วยตัวของเขาเอง จงมีความรักประสาพ่อ พิจารณาดูการงานที่เขาเริ่มขึ้น มองดูในองค์พระคริสตเข้าซึ่งความหวังและความปรารถนาดีที่พวกฆราวาสเสมอ อิสรภาพอันยุติธรรมซึ่งใครๆก็มีสิทธิ์ในสังคมบ้านเมือง ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ศาสนบริการจงรับรู้ด้วยความเคารพไว้ด้วย เนื่องจากพวกฆราวาสและศาสนบริกรต่างคบค้ากันอย่างสนิทสนมดังนี้ ก็หวังได้ว่า พระศาสนจักรจะได้รับคุณประโยชน์มากมาย เช่น ฆราวาส จะมีความสำนึกในการรับผิดชอบส่วนของเขาโดยเฉพาะอย่างแน่วแน่ขึ้น เขาจะมีแก่ใจ สละกำลังเรี่ยวแรงร่วมงานของพระศาสนจักรง่ายขึ้น ฝ่ายศาสนบริกร เพราะได้รับความช่วยเหลือจากฆราวาส ท่านจะตัดสินด้วยความแน่ใจขึ้นและเหมาะสมขึ้น ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณ ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับโลก จึงจะเป็นอันว่าพระศาสนจักรทั้งพระศาสนจักรขะแข็งแกร่งขึ้นด้วย อาศัยสมาชิกของท่านเพื่อชีวิตของโลกได้รับผลสำเร็จยิ่งขึ้น”

                 7.2.3 พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยงานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร (Ad GENTES) ข้อ 21 ความว่า “ฉะนั้นสภาสังคายนานี้พร้อมกันขอบพระคุณพระเป็นเจ้า เนื่องในผลงานอันงดงามที่พระศาสนจักรทั่วไปได้ประกอบมาด้วยน้ำใจร้อนรนและกว้างขวาง สภาสังคายนานี้ใคร่จะวางหลักเกณฑ์งานธรรมทูตและผนึกกำลังของสัตบุรุษเข้าด้วยกัน เพื่อว่าประชากรของพระเป็นเจ้าซึ่งมุ่งเดินหน้าไปทางประตูคับแคบแห่งไม้กางเขน จะได้ขยายพระราชัยของพระคริสตเจ้าซึ่งกวาดสายตามองเห็นทุกยุคทุกสมัย (บสร 36:19)และจะได้เตรียมทางให้พระองค์เสด็จมา”