11 เหตุผลที่ต้องอ่านพระคัมภีร์“ทุกถ้อยคำในพระคัมภีร์ได้รับการดลใจจากพระเจ้า และมีประโยชน์ เพื่อสั่งสอน ว่ากล่าวตักเตือนให้ปรับปรุงแก้ไขและอบรมให้ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม” (2ทิโมธี 3:16)

ทำไมเราจึงต้องศึกษาพระคัมภีร์เป็นลำดับแรก
เราหวังอะไรจากการศึกษาพระคัมภีร์
ให้เราพิจารณาเหตุผลต่างๆ 11 ประการ ดังนี้

1.ข้อคำสอน  
         จากพระคัมภีร์ 2 ทิโมธี 3:16 เราพบประโยชน์จากการอ่านพระคัมภีร์ 4 ประการด้วยกัน ประการแรกได้แก่ “ข้อคำสอน” ข้อคำสอนเป็นเนื้อหาพื้นฐาน เป็นแก่น เป็นหลักของความเชื่อทั้งหมดของคริสต์ศาสนาที่คริสตชนทุกคนจะต้องเรียนรู้และนำไปปฏิบัติในชีวิต ข้อคำสอนของคริสตชนทุกข้อจะต้องมีพื้นฐานอยู่ในพระคัมภีร์ และได้รับการรับรองจากผู้มีอำนาจของพระศาสนจักร จึงจะเป็นข้อคำสอนที่ถูกต้อง
         ถ้าเราอยากรู้ว่าเราต้องเชื่ออะไรและทำไมเราต้องเชื่ออย่างนั้น เราจำเป็นต้องอ่านพระคัมภีร์ เราทุกคนควรต้องเรียนรู้ข้อคำสอนพื้นฐานว่าเราคริสตชนมีข้อคำสอนอะไรและสามารถอ้างอิงพระคัมภีร์มาสนับสนุนข้อคำสอนนั้นได้

2.ว่ากล่าวตักเตือน/แก้ไข
         การอ่านพระคัมภีร์ทำให้เรารู้ว่าเรา เรื่องที่เราเชื่อหรือปฏิบัตินั้นถูกหรือผิดอย่างไร บางครั้งข้อความจากพระคัมภีร์ทำหน้าที่ว่ากล่าวหรือเตือนสติเราในขณะที่เรากำลังหลงผิดอะไรบางอย่างอยู่ เช่น คนหนึ่งกำลังโกรธเพื่อน เมื่อเขาได้อ่านพระคัมภีร์พบตอนหนึ่งว่า “ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง” (มัทธิว 18:22) เขาจึงมีสติและใจเย็นขึ้น
        ในชีวิตของเรา นอกจากเราจะมีคนที่รักเราคอยว่ากล่าวตักเตือนเราแล้ว การอ่านพระคัมภีร์เป็นประจำจะช่วยให้เราได้พิจารณาตนเองและหยุดการกระทำหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนั้นได้ นอกจากนั้นพระคัมภีร์ยังให้คำแนะนำว่าเราควรปรับปรุงแก้ไขตัวของเราอย่างไร จึงรวมประโยชน์ของพระคัมภีร์ในเรื่องว่ากล่าวตักเตือนและการแก้ไขปรับปรุงตนไว้ด้วยกัน
         การอ่านพระคัมภีร์จึงช่วยเราให้เปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นคนดีบริบูรณ์เหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น “อย่าคล้อยตามความประพฤติของโลกนี้ แต่จงเปลี่ยนแปลงตนเองโดยการฟื้นฟูความคิดขึ้นใหม่ เพื่อจะได้รู้จักวินิจฉัยว่าสิ่งใดเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า สิ่งใดดี และสิ่งใดเป็นที่พอพระทัยอันสมบูรณ์พร้อมของพระองค์” (โรม 12:2)

3.อบรมให้ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม
        สำหรับการดำเนินชีวิตในก้าวแรกของคริสตชนเป็นทั้งเรื่องที่ตื่นเต้นและสับสน มีทั้งความยินดี ความร้อนร้นซึ่งเต็มไปด้วยความสุขในชีวิตในฐานะคริสตชนที่ได้รอดพ้นจากความบาปผิดต่างๆ และจากการลงโทษอันเนื่องมาจากบาป แต่ต่อไปจะดำเนินชีวิตใหม่อย่างไร สิ่งที่เคยประพฤติปฏิบัติเดิมๆ หรือสิ่งที่คนอื่นๆ ปฏิบัติกันในสังคมนั้น เราจะทำตามได้ไหม หรือต้องวางตัวอย่างไร อะไรทำได้ อะไรต้องละเว้น อะไรทำแล้วเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า เรามีคำถามมากมายในการดำเนินชีวิตประจำวัน คำถามที่เกิดขึ้นเสมอคือ เราจะต้องทำอย่างไร
        การศึกษาพระคัมภีร์อย่างดี สม่ำเสมอและจริงจังภายใต้การทรงนำของพระจิตเจ้าจะช่วยให้ผู้ที่เพิ่งมาเป็นคริสตชน และผู้ที่เป็นคริสตชนมานานแล้วได้เรียนรู้ถึงแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องถูกต้อง

4.หลีกเลี่ยงการทำบาป   
“ข้าพเจ้าเก็บรักษาพระดำรัสของพระองค์ไว้ในใจ เพื่อจะได้ไม่ทำบาปต่อพระองค์” (สดุดี 119:11)
          ในอีกแง่หนึ่งของการได้รับการอบรมให้ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมก็คือ การสอนให้เราได้รู้ที่จะหลีกเลี่ยงบาป พระคัมภีร์ไม่เพียงแต่บอกให้คริสตชนต้องกระทำอะไรและอย่างไร แต่ยังบอกว่าอะไรเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงด้วย เราไม่ควรมองพระคัมภีร์ว่าบัญชีของความประพฤติ หรือกฎระเบียบ แต่จากการศึกษาหรืออ่านอย่างสม่ำเสมอนี้เองทำให้เรื่องต่างๆจากพระคัมภีร์ซึมซับเข้าไปในจิตใจของผู้นั้น จนกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พระวาจาของพระเจ้าจะช่วยทำให้เรามั่นใจในสิ่งที่เราคิดและทำ และในเวลาเดียวกันช่วยเราให้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ แนะนำเราให้รู้จักละเว้นการคิดและการกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พระวาจาของพระเจ้าช่วยฉุดรั้งเราให้เอาชนะอำนาจของบาปและการประจญ และความรู้พระวาจาของพระเจ้าทำให้เราได้ใกล้ชิดพระเจ้า เหมือนเราได้เสียบปลักไฟเพื่อทำให้เครื่องไฟฟ้าสามารถทำงานได้อย่างดี

5.ให้แนวทางในการดำเนินชีวิต  
“พระวาจาของพระองค์เป็นโคมส่องทางของข้าพเจ้า เป็นแสงสว่างส่องทางเดินให้ข้าพเจ้า” (สดุดี 119:105)
         ในพระคัมภีร์เราพบทั้งคำตอบและสิ่งท้าทายในชีวิต พระวาจาของพระเจ้าเป็นดังโคมส่องทางเดินของเรามนุษย์ว่าทางไหนที่ปลอดภัย ทางไหนที่ควรระมัดระวัง ในยามที่เกิดวิกฤติ พระคัมภีร์ตอนใดตอนหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นมาในใจ หรือเราอาจจะพบแนวทางในการเผชิญวิกฤติด้วยการค้นหาคำตอบจากพระคัมภีร์ เหมือนยามหิวเราสามารถเปิดอาหารสำเร็จรูปมารับประทานได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าในช่วงที่เราอยู่ในภาวะสิ้นหวังเราถึงจะเปิดพระคัมภีร์ เหมือนจะขับรถในความมืดจึงต้องเปิดไฟหน้ารถ หรือให้เกิดอุบัติเหตุก่อนจึงค่อยเปิดไฟ พระเจ้าไม่ทรงปรารถนาให้เราคอยจนกว่าจะถึงวิกฤติจึงค่อยปรึกษาพระองค์โดยการอ่านพระคัมภีร์ แต่ทรงปรารถนาให้ทุกย่างก้าวของเราเดินไปด้วยแสงสว่างแห่งพระวาจาของพระองค์  

6.ให้ปรีชาญาณ
“สุภาษิตของซาโลมอน กษัตริย์แห่งอิสราเอล พระโอรสของกษัตริย์ดาวิด สุภาษิตเหล่านี้เขียนไว้เพื่อให้รู้จักปรีชาญาณและมีระเบียบ  เพื่อเข้าใจถ้อยคำที่มีความหมายลึกซึ้ง” (สุภาษิต 1:1-2)
         หนังสือสุภาษิตเป็นหนังสือที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาหรือปรีชาญาณของมนุษย์ เช่นเดียวกับหนังสือพระคัมภีร์ฉบับอื่นๆ อย่างที่กล่าวไว้ใน 1 โครินธ์ 2:10-16 ที่บอกเราว่าพระเจ้าทรงเผยแสดงให้เราได้รับรู้จิตใจของพระเยซูเจ้าผ่านทางคำสอนขององค์พระจิตเจ้า คำสอนขององค์พระจิตพบได้ในพระวาจาของพระองค์ ถ้าใครอยากรู้ว่าพระเยซูเจ้าคิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือพระเยซูเจ้าจะทรงปฏิบัติอย่างไรต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง เราจำเป็นต้องอ่านพระคัมภีร์ พระคัมภีร์บรรจุความคิดและปรีชาญาณของพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ การอ่านพระคัมภีร์ทำให้เราเริ่มคิดเหมือนพระเจ้า พระองค์ทรงกระทำและมองสิ่งต่างๆด้วยสายตาหรือทัศนะของพระองค์

7.ก่อให้เกิดความเชื่อ  
“ดังนั้น ความเชื่อจึงมาจากการฟัง สิ่งที่ได้ฟังก็มาจากพระวาจาของพระคริสตเจ้า” (โรม 10:17)
         ถ้าท่านขาดความเชื่อหรือไม่แน่ใจว่ามีความเชื่อหรือไม่อย่างไร แน่นอนเราทุกคนต่างเคยมีวิกฤติความเชื่อมากบ้างหรือน้อยบ้าง เราจะไปหาความเชื่อได้จากแหล่งใด ขอให้เราได้เข้าหาพระคัมภีร์เพราะจากพระคัมภีร์จะช่วยทำให้ความเชื่อของเราเริ่มต้นขึ้น ความเชื่อที่เข้มแข็งและมั่นคงจะเกิดขึ้นจากการที่เราอ่านพระคัมภีร์อยู่เสมอ จงใช้เวลาที่เหมาะสมและใช้เวลาอย่างดีเพื่อการอ่านพระคัมภีร์ บำรุงความเชื่อต่อสู้กับความสงสัยและความกลัวเมื่อตกอยู่ในการทดลอง

8.ให้ความรอดพ้นไปสู่สวรรค์
 “พระเยซูเจ้ายังทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์อื่นอีกหลายประการให้บรรดาศิษย์เห็น แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่า พระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อนี้แล้ว
ท่านทั้งหลายก็จะมีชีวิตเดชะพระนามของพระองค์” (ยอห์น 20:30-31)
          ข้อความตอนนี้เป็นข้อความที่ให้กำลังใจและความหวังแก่เรามากมาย น.ยอห์นได้บอกเราอย่างเฉพาะเจาะจงว่าทำไมท่านจึงได้เขียนพระคัมภีร์นี้ให้เรา เหตุผลนี้เป็นเหตุผลเดียวกับจุดประสงค์ของพระคัมภีร์ของเรา พระคัมภีร์เขียนถึงเพื่อ “ให้ท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่า พระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็จะมีชีวิตเดชะพระนามของพระองค์” นอกจากนั้นพระคัมภีร์ทุกฉบับยังถูกเขียนขึ้นด้วยรูปแบบที่ง่ายๆเพื่อให้ข้อมูล และตอบสนองต่อความอยากรู้ของมนุษย์ พระคัมภีร์ไม่ใช่หนังสือวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือนวนิยาย เพื่อความบันเทิงใจ แต่เป็นหนังสือที่ต้องอ่านด้วยการใช้ความคิด ไตร่ตรอง และภาวนา เป็นหนังสือแห่งความเชื่อและความไว้วางใจ จุดประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านมีความเชื่อในองค์พระเยซูเจ้า ซึ่งความเชื่อจะช่วยให้เรามีชีวิตนิรันดร

9.ให้แบบอย่างชีวิต
 “เหตุการณ์เหล่านี้บังเกิดขึ้นกับพวกเขาเพื่อเป็นตัวอย่าง และมีบันทึกไว้เพื่อเตือนสติเราซึ่งกำลังเผชิญกับวาระสุดท้ายของยุค” (1โครินธ์ 10:11)
          น.เปาโลสอนโดบการยกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆในอดีตของชาวอิสราเอลที่บันทึกไว้ในพันธสัญญาเดิมให้ประชาชนได้รับรู้เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้จากอดีต เอาอดีตเป็นบทเรียน เรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่ให้หลงตกไปทำผิดซ้ำๆอีก เราสามารถพูดได้ว่าชีวิตของเรามีเวลาแต่เพียงสั้นๆ จึงไม่สามารถกระทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ คนฉลาดจึงควรเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น และในเวลาเดียวกันเราก็สามารถเรียนรู้เรื่องที่ดีจากคนดีจำนวนมากมายที่พระคัมภีร์ได้นำเสนออีกด้วย

10.ให้ความชื่นชมยินดี  
 “เราเขียนเรื่องนี้ถึงท่าน เพื่อความปิติยินดีของเราจะได้สมบูรณ์” (1ยอห์น 1:4)
          จะมีอะไรน่าตื่นเต้นเท่ากับการได้เรียนรู้เรื่องต่างๆที่พระเจ้าได้ทรงกระทำต่อผู้ที่มีความไว้วางใจหรือเชื่อพระองค์ จะเป็นความยินดีมากเท่าไรที่รู้จักพระเจ้าสรรพานุภาพ “ขอพระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระเจ้า ผู้ทรงกระทำทุกอย่างได้ตามพระอานุภาพที่แสดงพลังอยู่ในตัวเรามากกว่าที่เราอาจขอหรือคาดคิด” (เอเฟซัส 3:20) คนเรายอมทุ่มเทใช้เวลา พละกำลัง เทคนิค หลักการ เพื่อได้รับเงินเพียงเล็กๆ ถ้าบุคคลนั้นมีความเชื่อและใช้เวลาเพื่อการศึกษาพระคัมภีร์ ขอรับรองว่าสิ่งที่เราจะได้นั้นจะมีคุณค่ามากกว่าเงินที่เราใช้หมดไปในเวลาไม่นาน

11.ได้รับพร
“ความสุขจงมีแก่บรรดาผู้อ่านและผู้ฟังถ้อยคำของการประกาศพระวาจานี้และปฏิบัติตามข้อความที่เขียนไว้ เพราะเหตุการณ์นั้นใกล้เข้ามา” (วิวรณ์ 1:3)
          อัครสาวกยอห์นได้เขียนพระวรสารเพื่อให้เราเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าและจดหมายฉบับแรกของท่านทำให้เราอ่านแล้วเกิดความชื่นชมยินดี แต่ในหนังสือวิวรณ์ พระองค์ทรงสัญญาว่าจะใครที่อ่านและปฏิบัติตามจะได้รับพระพร
เราได้พิจารณาประโยชน์บางประการจากการอ่านพระคัมภีร์ พระคัมภีร์ต้องเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคริสตชน เราต้องใช้เวลาอ่านและไตร่ตรองพระคัมภีร์เพื่อการเติบโตชีวิตฝ่ายจิตของเรา จึงจะสามารถพูดได้ว่าเราเป็น “ศิษย์พระคริสต์ เจริญชีวิต ประกาศข่าวดีใหม่”

(ข้อมูลจาก https://answersfromthebook.org/2012/04/23/11-reasons-to-study-the-bible/)


(สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 35 ฉบับที่ 3 เดือนพฤศจิกายน 2016 - เดือนมกราคม 2017 คอลัมน์ "คำสอนพระศาสนจักรกับสถานการณ์ปัจจุบัน" โดย คุณพ่อวัชศิลป์  กฤษเจริญ )