เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข (เอกสารทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒) ช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดและแสดงปาฐกถาพิเศษ หลังจากนั้นมีการสัมมนาในห้องประชุมใหญ่ก่อนที่จะแยกย้ายไปเป็นกลุ่มตามห้องที่กำหนดหัวข้อไว้  ยอมรับว่าผู้เข้าประชุมมีโอกาสแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย มีเรื่องท้าทายให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนยากจนที่จะเข้าถึงกระบวนการความยุติธรรมในสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำ การเอารัดเอาเปรียบกลุ่มชาติพันธุ์ พี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง โดยมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องในการดูแลสิ่งแวดล้อมผืนป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกคนออกจากป่า ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านั้นอยู่ดูแลรักษาป่าตามวัฒนธรรมวิถีชีวิตพอเพียงมานาน แต่ก็ออกกฎหมายประกาศทับที่ของพี่น้องชาติพันธุ์กล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกป่า จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมในชีวิตของบิลลี่นักต่อสู้สิทธิมนุษยชน เพื่อสิทธิของพี่น้องชุมชนบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่ถูกบังคับให้หายตัวไปนับเกือบ ๒ ปีจากพื้นที่ป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี   กระแสของการดูแลสิ่งแวดล้อมโลกก็มาแรง จนภาระตกอยู่กับเกษตรกรที่ยากจนตกเป็นจำเลยโดยถูกกล่าวหาว่าทำลายสิ่งแวดล้อม เพียงแค่ตัดต้นยางของตนเองเพื่อปลูกใหม่ในพื้นที่ของตัวเองแต่ก็ถูกดำเนินคดีเสียค่าปรับจำนวนเงินเป็นล้าน

    อีกประเด็นหนึ่งที่มีการนำเสนอคือ คนไร้สัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับมหาวิทยาลัยที่ยื่นเรื่องกับทางอำเภอตามข้อเท็จจริงในสิทธิที่ควรได้รับพิจารณา แต่ก็ต้อง...รอ...รอ...โดยไม่มีคำตอบ ขณะที่บางคนก็ใกล้จะสำเร็จการศึกษา.....แล้วการพัฒนาที่ไปสู่ความมั่นคง ยั่งยืน อยู่กันอย่างมีความสุขที่ยึดเอาคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาจะเป็นจริงได้อย่างไร...ทำให้อดคิดถึงเรื่องราวที่มีการถกเถียงในที่ประชุมอื่นว่า...แม้แต่เด็กพิการที่เกิดในเมืองไทยก็ต้องเป็นคนไร้สัญชาติที่ไม่มีโอกาสได้รับสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งในกรณีนี้ก็มีบางท่านแย้งว่า คนเหล่านี้ไม่ได้เสียภาษีช่วยเหลือรัฐแต่ก็จะหวังจะได้รับความช่วยเหลือ...แต่ก็มีมุมมองที่ต่างออกไปว่า...อย่าลืมทุกวันนี้ธุรกิจพลังงานที่เติบโต สังคมไทยมีพลังงานใช้ในทุกภาคส่วนก็เพราะส่วนหนึ่งมาจากโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า ที่เป็นภัยพิบัติต่อมวลมนุษยชาติ พี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหนีภัยความตาย...ด้วยยุทธศาสตร์ ความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อเคลียร์พื้นที่ขับไล่ด้วยความรุนแรง ซึ่งไม่ปรากฏในสื่อ สิ่งพิมพ์มากนัก

    ที่ผ่านมา หลายเรื่องหลายประเด็นที่ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น นับว่ามีประโยชน์ต่อการวางแผนฯ แต่จะเป็นรูปธรรมนำไปปฏิบัติในกรอบ ๕ ปี เพื่อบรรลุตามหลักการ ๔ ข้อ ที่วางไว้นั้น ต้องมีความกล้าหาญในการเข้าสู่ความจริง ให้สังคมไทยรับรู้ความจริงมากขึ้น ที่จะต้องให้ความห่วงใยคนยากจน คนด้อยโอกาส ผู้ยากไร้เป็นกลุ่มแรก ซึ่งเป็นไปตามสมณสาสน์ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสารของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสที่กล่าวว่า “ชุมชนทุกแห่งในพระศาสนจักร ซึ่งอ้างว่าอยู่อย่างสงบ โดยไม่มีความห่วงใย ที่จะคิดสร้างสรรค์ และปราศจากความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนยากจนดำเนินชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี เมื่อเป็นเช่นนี้ชุมชนนั้นก็เสี่ยงต่อการแตกแยก” (ข้อ 207)