เพื่อตอบคำถามและข้อสงสัยเหล่านี้ พ่อขอเริ่มต้นที่ “วัตถุประสงค์” ของการปรับปรุงบทภาวนาจากคำประกาศเรื่องบทภาวนาของคริสตชน ซึ่งสรุปได้ว่าเพื่อให้...
        1. สื่อความหมายทางเทววิทยาสมบูรณ์มากขึ้น
        2. ถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน
        3. สอดคล้องกับบทประจำพิธีบูชาขอบพระคุณ (และพระคัมภีร์คาทอลิก) ฉบับปัจจุบัน

            หลังจากสิ้นสุดการสังคายนาวาติกันที่ 2 ในปี ค.ศ. 1965 ก็ได้ให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในการประกอบพิธีกรรมแทนภาษาละตินได้ จึงเริ่มมีการแปลพิธีกรรมจากภาษาละตินที่ใช้กันมากว่า 19 ศตวรรษมาเป็นภาษาท้องถิ่นรวมถึงภาษาไทยด้วย การแปลในช่วงเวลานั้นก็ทำกันโดยผู้มีความรู้ซึ่งส่วนมากเป็นพระสงฆ์ เราก็มีบทภาวนาและบทประจำมิสซาภาษาไทยมาใช้กันตามที่สภาสังคายนาได้ประกาศ ส่วนพระคัมภีร์นั้นเราไม่ได้แปลแต่ได้ร่วมใช้ฉบับของพี่น้องคริสเตียน

            หลังจากที่ได้ร่วมใช้พระคัมภีร์ของพี่น้องคริสเตียนมานาน ในปี ค.ศ. 1992 เราก็เห็นว่าควรมีพระคัมภีร์ภาษาไทยของคาทอลิก เนื่องจากคาทอลิกกับคริสเตียนมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในการยอมรับพระคัมภีร์ จึงเริ่มแปลพระคัมภีร์จากภาคพันธสัญญาใหม่ก่อน และเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเล่มในปี ค.ศ. 2002 ต่อจากนั้นก็เริ่มแปลในภาคพันธสัญญาเดิม ซึ่งใกล้จะเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเล่มในเร็ว ๆ นี้

               และในปี ค.ศ. 2000 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม เห็นสมควรให้มีการปรับปรุงบทประจำมิสซาและได้จัดทำโครงการนำร่องเพื่อศึกษาในทุกสังฆมณฑล จนในที่สุดก็ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งนอกจากจะปรับปรุงบทประจำมิสซาแล้ว ก็ปรับบทภาวนา “ข้าแต่พระบิดา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทประจำมิสซาด้วย

               จากเหตุการณ์ทั้งสองนี้ จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงบทภาวนา เพราะในการแปลพระคัมภีร์และการปรับปรุงบทประจำมิสซานั้น คณะทำงานประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่ในด้านเทววิทยาเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาด้วย จึงทำให้มีการปรับเปลี่ยนคำท่ีเราเคยใช้กันหลายคำเพื่อให้ถูกต้องและตรงความหมายทั้งด้านเทววิทยาและด้านภาษามากขึ้น เมื่อพระคัมภีร์ก็ได้แปลใหม่แล้ว บทประจำมิสซาก็ได้ปรับปรุงใหม่แล้ว บทภาวนาที่ใช้กันมาจึงมีความไม่สอดคล้องอยู่บ้าง คณะกรรมการจึงทำการปรับปรุงเพื่อจะได้เกิดความสอดคล้องกันทั้งหมด ตั้งแต่บทภาวนา บทประจำมิสซา และพระคัมภีร์

                 หลังจากที่ได้รู้ที่มาและวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงบทภาวนาแล้ว คำถามหรือข้อสงสัยที่ฮิตติดอันดับก็คือ การสวดบทภาวนาเดิมยังทำได้หรือไม่? โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ซึ่งพ่อขอตอบแบบแยกเป็นประเด็นดังนี้

        • บทภาวนาฉบับปรับปรุงใหม่ ค.ศ. 2010 เป็นบทภาวนาทางการของพระศาสนจักรในประเทศไทย ตามคำประกาศของคณะกรรมการเพื่อพิธีกรรม สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ซึ่งหมายความว่า ในพิธีกรรมหรือการภาวนาที่เป็นสาธารณะ (public) หรือทางการ จะต้องใช้บทภาวนาฉบับปรับปรุงใหม่นี้

         • บทภาวนาแบบเดิมที่เราเคยใช้กันอยู่นั้นไม่ได้ผิดประการใด เพียงแต่คำที่ใช้นั้นขาดความสมบูรณ์ทางความหมายและหลักภาษา ซึ่งก็ยังใช้ได้เมื่อ “ภาวนาเป็นการส่วนตัว”
 

         • การภาวนา คือ การสื่อสารสัมพันธ์กับพระเจ้า ภาษาเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ แต่สิ่งที่สำคัญคือจิตใจของเราที่ปรารถนาจะสื่อสารสัมพันธ์กับพระองค์
 

        • สำหรับความคิดเห็นของพ่อ พ่อให้ความสำคัญกับจิตใจเป็นหลัก การมาถกเถียงกันในเรื่องภายนอกซึ่งมีความสำคัญไม่เท่ากับเรื่องภายในนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร หัวใจของการภาวนาคือการที่พี่น้องมีจิตใจที่อยากจะสื่อสารสัมพันธ์กับพระเจ้า ส่วนการจะใช้บทภาวนาอะไร? แบบไหน? นั้นให้ดูตามความเหมาะสมและสภาพแวดล้อมตามที่พ่อได้กล่าวไว้ข้างต้นดีกว่า

        • พระเยซูเจ้าได้สอนว่า “ผ้าเก่า ก็เหมาะที่จะปะเสื้อเก่า” ส่วน “ผ้าใหม่ ก็เหมาะที่จะปะเสื้อใหม่” พี่น้องครับ “ไม่มีอะไรดีกว่าอะไร” จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับ “ความเหมาะสม” ต่างหาก