อำนาจและหน้าที่ของหัวหน้ากลุ่มสังฆมณฑลอำนาจและหน้าที่ของหัวหน้ากลุ่มสังฆมณฑล
ตามประมวลกฎหมายพระศาสนจักรมีดังนี้

1. ดูแล เอาใจใส่เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ การสอนคำสอน แจ้งให้สันตะสำนักทราบ เมื่อพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลไม่อยู่ประจำสังฆมณฑลเกิน  6  เดือนและเป็นการไม่อยู่อย่างไม่ถูกต้อง เช่น ไม่แจ้งให้ทราบว่าไปทำการใด (ม. 395§4) หรือพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะถูกโทษจากพระศาสนจักร อัครสังฆราชผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มจะต้องแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อสันตะสำนัก (ม. 415)

2. ด้วยเหตุที่เหมาะสมก่อนที่จะรายงานต่อสันตะสำนักหรือกระทรวง จะต้องเยี่ยมเยียนพระสังฆราชในกลุ่มที่กำลังอยู่ในเหตุการณ์ตามข้อ 1 เพื่อทราบเหตุและข้อเท็จจริง

3. อัครสังฆราชผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มสังฆมณฑลจะต้องเข้ามาดูแลผู้ที่จะเป็นผู้ดูแลสังฆมณฑล (DIOCESAN ADMINISTRATOR) เมื่อตำแหน่งพระสังฆราชว่างลง และคณะที่ปรึกษาไม่สามารถเลือกผู้ดูแลสังฆมณฑลภายในระยะเวลา 8 วัน (ม. 421) หรือมีการเลือกที่ไม่ถูกต้อง เช่น คุณสมบัติไม่ครบตามประมวลกฎหมาย

พระศาสนจักรมาตรา 425§1 กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้เป็นผู้บริหารสังฆมณฑลไว้ดังนี้

3.1 เป็นพระสงฆ์และไม่จำเป็นต้องเป็นพระสงฆ์สังฆมณฑล
3.2 มีอายุอย่างน้อย  35  ปี
3.3 ไม่ใช่เป็นบุคคลที่ถูกอำนาจทางการเมืองหรือคณะกรรมการคัดสรรพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลเป็นผู้กำหนดมา

4. อัครสังฆราชผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มมีอำนาจในการประกาศสมัชชา กำหนดระยะเวลา หัวข้อสถานที่ หลังจากได้ปรึกษากับพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลในกลุ่ม และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดประชุมสมัชชาภายในกลุ่มสังฆมณฑล (ม. 442 §1)

5. อัครสังฆราชผู้เป็นหัวหน้ากลุ่ม ต้องเป็นประธานในการประชุมสมัชชากลุ่มสังฆมณฑล (ม. 442§2)

6. อัครสังฆราชผู้เป็นหัวหน้ากลุ่ม สามารถเชิญผู้อื่นเข้าร่วมประชุมสมัชชาหลังจากปรึกษากับบรรดาพระสังฆราชภายในกลุ่มแล้ว (ม. 443§6)

7. อัครสังฆราชผู้เป็นหัวหน้ากลุ่ม จะต้องรับรู้มติ คำประกาศและแถลงการณ์ของสมัชชาสังฆมณฑล (DIOCESAN  SYNOD) ของทุกสังฆมณฑลในกลุ่ม (ม. 467) และพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลผู้จัดสมัชชาต้องส่งมติ ประกาศและแถลงการณ์ดังกล่าว ให้สภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทยอีก 1 ฉบับ

8. อัครสังฆราชผู้เป็นหัวหน้ากลุ่ม เป็นที่ปรึกษาของพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล ในเรื่องเกี่ยวกับสภาสงฆ์ การบริหารและการปกครองสังฆมณฑล หรือปัญหาต่าง ๆ  ซึ่งส่งผลให้พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ (ม. 501§3)

9. อัครสังฆราชหัวหน้ากลุ่ม ต้องรับรู้ผลการตัดสินคดีจากสำนักงานวินิจฉัยคดีภายในกลุ่มสังฆมณฑล โดยให้ศาลอัครสังฆมณฑลเป็นศาลอุทธรณ์ ส่วนศาลแต่ละสังฆมณฑลในกลุ่มเป็นศาลชั้นต้น(ม. 1438, 1๐) หรือตามที่ สภาพระสังฆราชจะกำหนดไว้

pallium i10. อัครสังฆราชหัวหน้ากลุ่ม สามารถประกอบพิธีกรรมและปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ในทุกวัดของทุกสังฆมณฑลในกลุ่ม เหมือนตนเป็นพระสงฆ์สังฆมณฑลนั้น นอกจากภายในอาสนวิหารที่ควรแจ้งพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลก่อน (ม. 436§3)

11. อัครสังฆราชหัวหน้ากลุ่มมีสิทธิขอผ้าคลุมไหล่ (PALLIUM) จากพระสันตะปาปา หลังจากได้รับการอภิเษกแล้ว อาจจะขอด้วยตนเองหรือผู้อื่นขอให้ ผ้าคลุมไหล่ดังกล่าวหมายถึงอำนาจที่ตนมีเหนือกลุ่มสังฆมณฑล และเป็นเครื่องหมายถึงความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรส่วนกลางและพระสันตะปาปา (ม. 437§1)