UT UNUM SINT : เพื่อทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน


        มิชชันนารี่ท่านนี้จึงได้นำเอานาฬิกาแดดใส่ลังกลับไปยังหมู่บ้านที่อัฟริกา เมื่อหัวหน้าหมู่บ้านเห็นนาฬิกาแดด เขาเสนอให้ตั้งนาฬิกาแดดนี้ไว้ตรงกลางของหมู่บ้าน ชาวบ้านเองพากันตื่นเต้นที่เห็นสิ่งของเช่นนี้และยิ่งตื่นเต้นมากยิ่งขึ้นเมื่อรู้ว่ามันมีประโยชน์และทำงานได้อย่างไร


          มิชชันนารี่เองก็พลอยดีใจไปด้วยเมื่อเห็นว่าชาวบ้านมีความสุขและตอบรับนาฬิกาแดดกันอย่างดี โดยที่ไม่ได้นึกว่าในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้จะเกิดอะไรขึ้นกับนาฬิกาแดดนี้
           ชาวบ้านมีความรู้สึกดีใจกับนาฬิกาแดดนี้มาก พวกเขาพากันมาพร้อมหน้ากันและสร้างหลังคาครอบนาฬิกาแดดนี้ไว้เพื่อป้องกันแดดและฝน
            พวกเราคงรู้ว่าเมื่อทำเช่นนี้แล้ว นาฬิกาแดดจะทำงานได้อย่างไร......แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการฉลองพระตรีเอกภาพอย่างไร

          ผมคิดว่านาฬิกาแดดในเรื่องนี้มีส่วนคล้ายกับพระตรีเอกภาพอย่างมากทีเดียว และเราคาทอลิกเองก็ทำตัวของเราคล้ายๆกับชาวบ้านอัฟริกา พวกเรามีคำสอนที่งดงามเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพระตรีเอกภาพ ซึ่งมีพระนามประกอบไปด้วย พระบิดา พระบุตร และพระจิต

             เราจัดวางคำสอนนี้ไว้ให้เป็นศูนย์แห่งความเชื่องของเรา เราต่างชื่นชม และให้ความเคารพต่อความเชื่อนี้
              แต่แทนที่เราจะนำเอาคำสอนนี้มาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา เรากลับสร้างหลังคาคลุมความเชื่อนี้เหมือนชาวอัฟริการสร้างหลังคาคลุมนาฬิกาแดด
             พวกเราหลายคนถือว่าความเชื่อเรื่องพระตรีเอกภาพมีคุณค่าต่อชีวิตแต่เพียงเล็กน้อย หรือมองแค่เป็นเหมือนเครื่องประดับในความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น
             ดังนั้นการเฉลิมฉลองในวันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะช่วยทำให้เราได้หันมาพิจารณาถึงคำสอนประการนี้ โดยหวังประโยชน์สองประการคือ

            หนึ่ง ให้เราได้ทบทวนถึงพระวาจาของพระเจ้าหรือพระคัมภีร์ว่าได้พูดถึงพระตรีเอกภาพอย่างไร
            สอง เราจะนำเอาคำสอนเรื่องพระตรีเอกภาพมาใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไร
                     เราเริ่มกันที่ข้อแรกก่อน พระคัมภีร์พูดถึงพระตรีเอกภาพไว้อย่างไร...เราพบคำอ้างอิงถึงพระตรีเอกภาพบ่อยๆจากพระวรสารของนักบุญยอห์น เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสเกี่ยวถึงพระบิดา พระองค์มักจะอ้างต่อถึงพระจิตผู้ที่จะเสด็จลงมาต่อจากพระองค์

                     ข้ออ้างอิงที่เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องพระตรีเอกภาพ ที่เราพบในพระวรสารของมัทธิวก็คือพระวรสารที่เราได้รับฟังกันในวันนี้ “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต”(มธ. 28:19)

                     ข้ออ้างอิงที่เห็นเป็นภาพพจน์เกี่ยวกับพระตรีเอกภาพ เราพบได้ในพระวรสารของนักบุญมาระโก จากเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างที่แม่น้ำจอร์แดน “ทันทีที่พระองค์เสด็จขึ้นจากน้ำก็ทรงเห็นท้องฟ้าถูกแหวกออก พระจิตเสด็จลงมาเหนือพระองค์ดุจนกพิราบ และมีเสียงมาจากฟากฟ้าว่า ‘ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา’(มก. 1:10-11)
“เสียง” “นกพิราบ” “พระเยซูเจ้า” ทั้งสามภาพลักษณ์นี้เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงพระตรีเอกภาพอย่างสมบูรณ์

                     นักบุญลูกามีความเข้าใจในเทววิทยาเรื่องพระตรีเอกาภาพได้อย่างลึกซึ้งและน่าจับใจ โดยที่ท่านเองมองเห็นว่าประวัติศาสตร์แห่งความรอดเป็นห้วงเวลาแห่งพระตรีเอกภาพอย่างแท้จริง โดยที่ท่านเห็นว่าพันธสัญญาเดิมเป็นยุคสมัยของ “พระบิดา” พระวรสารเป็นยุคสมัยของ “พระบุตร พระเยซูเจ้า” และเหตุการณ์หลังจากพระวรสารซึ่งเริ่มต้นจากวันพระจิตเสด็จลงมาเป็นห้วงเวลาของ “พระจิตเจ้า”

                       ที่สุดขอยกเอาข้ออ้างอิงจากบทจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ฉบับที่สองที่ได้สรุปถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามพระบุคคลที่เป็นหนึ่งเดียวกันดังนี้ “ขอพระหรรษทานของพระเยซูคริสต์เจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้า ขอความรักของพระเจ้าและความสนิทสัมพันธ์ของพระจิต สถิตอยู่กับทุกท่านเทอญ”(2โครินธ์ 13:13)

                   ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราได้ยินคำสอนจากนักเทววิทยาต่างๆมากมายที่พยายามให้คำอธิบายถึงพระตรีเอกภาพเพื่อให้เราเข้าใจ เช่น นักบุญแพททริกใช้ใบไม้สามใบเพื่อแทนพระตรีเอกภาพ นักบุญอิกญาซิโอแห่งโลโยลาได้ตัวโน๊ตสามตัวที่ประกอบกันเป็นเสียงเดียวกัน บางคนใช้ตัวอย่างของน้ำที่มีสามรูปแบบ คือ ไอน้ำ น้ำแข็ง และของเหลว แต่ก็เป็นน้ำเดียวกัน บางคนอธิบายโดยการใช้กระดาษสีขาวแล้วแบ่งออกเป็นสามส่วนเท่าๆกัน แม้จะมีสามส่วนแต่ก็เป็นกระดาษแผ่นเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ บางคนใช้ไข่เป็นอุปกรณ์ ไข่ประกอบด้วยเปลือกไข่ ไข่ขาวหรือวุ้น และไข่แดง ซึ่งทั้งสามประกอบกันเป็นไข่ ฯลฯ

 คราวนี้มาสู่ประเด็นที่สอง – เราจะนำคำสอนเรื่องพระตรีเอกภาพมาใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไร
ข้อแนะนำประการหนึ่งที่จะช่วยเราได้ก็คือ “การภาวนา” เราจะภาวนาก่อนนอน โดยใช้เวลา 3 นาที

“นาทีแรก” ให้เราคิดถึงสิ่งที่ดีๆที่เกิดขึ้นกับเราในวันนี้ เช่น การได้คุยกับคนที่ดีๆ การได้พบคนดี การได้ทำดี ให้เราได้พูดกับ “พระบิดาเจ้าสวรรค์” เกี่ยวกับเรื่องดีๆเหล่านี้และขอบพระคุณพระองค์

“นาทีที่สอง” ให้เราคิดถึงสิ่งที่จุดตกต่ำหรือสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นกับตัวเราในวันนี้ เช่น คำพูด การกระทำ การโกรธ ฯลฯ แล้วให้เราพูดกับ “พระเยซูเจ้า” ถึงสิ่งเหล่านั้น ขอโทษพระองค์สำหรับความล้มเหลวหรือความอ่อนแอของตนเอง

“นาทีที่สาม” ให้เรามองไปข้างหน้า ว่าวันพรุ่งนี้เราจะทำอะไรเพื่อให้ชีวิตของเราขึ้นไปกว่าเดิม มีอะไรบ้างที่เราควรทำแต่ไม่ได้ทำก็ขอให้เราได้กระทำในวันพรุ่งนี้ โดยขอ “พระจิตเจ้า” ทรงช่วยเหลือให้เราได้กระทำจนสำเร็จ

                   การภาวนาเช่นนี้เป็นการผสมผสานระหว่างการภาวนากับการพิจารณานโนธรรมเข้าด้วยกัน และที่สำคัญเป็นการอัญเชิญพระตรีเอกภาพให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชีวิตจิตของเราเอง
                 ถ้าเราทำเช่นนี้ได้ทุกวัน ชีวิตฝ่ายจิตของเราจะเติบโตขึ้น คำสอนเรื่องพระตรีเอกภาพก็จะมีประโยชน์ต่อชีวิตของเรา ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ เราก็จะเป็นเหมือนชาวอัฟริกาที่สร้างหลังคามาคลุมนาฬิกาแดดนั้นเอง

               ขอให้เราจบด้วยการทำเครื่องหมายที่แสดงถึงความเชื่อในพระตรีเอกภาพ ซึ่งเป็นเครื่องหมายและการกระทำที่สำคัญของเราคาทอลิก คือ “เดชะพระนาม พระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาแมน”

 

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทยรวมพลังรักษ์โลก ค.ศ.2024-2025

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 37 ฉบับที่ 3 เดือนมกราคม-เมษายน 2024

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก