2. หญิงคนหนึ่งรอสัญญาณไปเพื่อจะได้เดินข้ามถนน เธอมองไปฝั่งตรงข้ามเห็นเด็กสาวอายุ 17 คนหนึ่งหน้าตาดีแต่ยืนร้องไห้หน้าตาเศร้าหมองรอข้ามถนนเหมือนกัน เมื่อได้สัญญาณไฟให้เดินข้ามถนน ทั้งสองได้เดินสวนทางกัน หญิงคนนี้ก็มีลูกสาวที่อยู่ในวันใกล้เคียงกัน ในฐานะของคนเป็นแม่คน เธอน่าจะเข้าใจหัวอกของเด็กสาวผู้มีความทุกข์คนนี้ดี แต่เธอกลับเดินสวนกันไปโดยไม่ได้ทำอะไรเลย แม้เหตุการณ์นี้จะผ่านไปหลายชั่วโมง แต่ภายในจิตใจของหญิงคนนี้ไม่สงบได้เลย เธอถามตนเองว่า “ทำไมฉันจึงเมินเฉยกับเด็กคนนั้น  ทำไมฉันจึงไม่ทักทายเธอ ไม่ถามเธอสักคำว่า ‘มีอะไรให้ฉันช่วยไหม’ ฉันทำกับเธอเสมือนว่าเธอไม่มีตัวตนในโลกนี้”

ข.พระคัมภีร์และคำสอน    
       1. บทอ่านที่หนึ่ง (ฉธบ 30:10-14) โมเสสสอนให้ชาวอิสราเอลปฏิบัติตามบทบัญญัติ โดยแนะนำว่า การปฏิบัติตามนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ไม่อยู่ไกลจนเอื้อมไม่ถึง แต่อยู่ใกล้คืออยู่ในปากและในใจของพวกเขาเอง
      2. บทอ่านที่สอง (คส1:15-20) น.เปาโลยืนยันให้เราเชื่อและวางใจในพระเยซูเจ้าเพราะพระองค์ทรงเสด็จมาเพื่อนำสันติสุขมาให้เราด้วยพระโลหิตของพระองค์
      3. พระวรสาร (ลก10:25-37) น.ลูกาเล่าเรื่อง ชาวสะมาเรียผู้ใจดีที่เราทราบดี ข้อสังเกตจากเรื่องนี้ คือ พระเยซูเจ้าต้องการเปรียบเทียบลักษณะของคนโดยผ่านทางบุคคลสามประเภทได้แก่ พระสงฆ์ เลวี และชาวสะมาเรีย (1) พระสงฆ์(ชาวยิว) เขาอาจจะกำลังเดินไปกรุงเยรุซาเล็มเพื่อทำหน้าที่ถวายบูชาที่พระวิหาร เมื่อพบคนเจ็บเขาอาจคิดว่าคนนั้นตายแล้ว เขาจึงเดินผ่านไปเพราะการสัมผัสคนตายจะทำให้เป็นคนไม่สะอาดและไม่สามารถทำหน้าที่ถวายบูชาได้ (2) เลวีเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ในแวดวงศาสนาคล้ายๆกับสังฆานุกรในปัจจุบัน สาเหตุที่เขาไม่ช่วยเหลืออาจจะไม่ชัดเจน อาจจะคล้ายกับพระสงฆ์หรือกลัวว่าคนเจ็บนั้นแกล้งตายถ้าไปช่วยอาจจะโดนทำร้ายได้ เพราะถนนนี้เต็มไปด้วยอาชญากร สุดท้าย (3) ชาวสะมาเรีย การให้ชาวสะมาเรียเป็นวีรบุรุษในเรื่องนี้ทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจเป็นพิเศษ เพราะพวกเขาถูกชาวยิวรังเกียจ ไม่คบหาสมาคมด้วย ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในวิหาร ไม่ให้เป็นพยานในศาล พระเยซูทรงเลือกคนเช่นนี้เพื่อสอนผู้ฟังที่เป็นชาวยิวว่าความรักต้องไม่มีพรมแดน ความรักต้องไปถึงทุกคนที่มีความต้องการ ต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง หรือเมิยเฉยคนที่มีทุกข์เหมือนเรื่องหญิงที่ไม่สนใจเด็กสาวคนนั้น “เราอาจจะทิ้งเวลาสองสามนาทีนั้นไป แต่เวลาเพียงเล็กน้อยนั้นอาจจะเพียงพอที่จะทำให้คนๆหนึ่งรู้ว่ามีคนห่วงใยเขา”

ค. ปฏิบัติ              
          1. “ถามตนเอง” ว่าฉันได้ช่วยเหลือคนที่มีความต้องการอย่างไรบ้าง อยู่เคียงข้างเขา พร้อมที่จะช่วยเหลือ หรือเราเดินหนี แกล้งมองไม่เห็น  
          2. เรา “ดูแลคนในครอบครัว” ดีแล้วหรือยัง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่หลายคนทำดีกับคนแปลกหน้า นอกบ้านแต่ละเลยกับคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง คู่สมรส หรือลูกหลาน
          3. ข่าวดีในวันนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้เราออกไปข้างนอก เสี่ยงชีวิต และเป็นวีรบุรุษ แต่เชิญเราให้ออกไปช่วยเหลือผู้อื่นด้วย “ความสุภาพ” ไม่ต้องเป็นวีรบุรุษแต่เป็นคนธรรมดาๆที่จะเอ่ยปากกับคนอื่นๆได้ง่ายๆว่า “มีอะไรให้ช่วยบ้างไหมเอ่ย”