ข่าวดีสมโภช น.เปโตรและน.เปาโล
ข่าวดีสมโภช น.เปโตรและน.เปาโล  

(29 มิถุนายน เลื่อนเป็นวันอาทิตย์ 5 กรกฎาคม 2020)
ก.ความสำคัญ
    1.การสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโลถือเป็นการเฉลิมฉลองที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีมาก่อนการฉลองพระคริสตสมภพด้วยซ้ำ เนื่องมาจากการให้ความเคารพและเลื่อมใสนักบุญมรณสักขีในหมู่คริสตชน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมาได้มีการฉลองนี้ ด้วยการถวายพิธีบูชาขอบพระคุณ 3 แห่งด้วยกัน คือที่มหาวิหารนักบุญเปโตร มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง และคาตากอมป์นักบุญเซบาสเตียน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่เก็บรักษาศพของอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง ในช่วงเวลาของการเบียดเบียนศาสนา

    2.พระคัมภีร์ไม่ได้บันทึกการพลีชีพเป็นมรณสักขีของนักบุญเปโตรและเปาโล รวมถึงอัครสาวกองค์อื่น ๆ ยกเว้นนักบุญยากอบบุตรของเศเบดี (กจ. 12:1-2) แต่เป็นที่รับรู้ในหมู่คริสตชนว่า ท่านทั้งสองได้พลีชีพเป็นมรณสักขีที่กรุงโรมตามคำสั่งของจักรพรรดิเนโร (ค.ศ. 54-68) เปโตร ถูกตรึงกางเขนเอาหัวลง ในปี ค.ศ. 64 บนเนินวาติกันอันเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตรในปัจจุบัน ส่วน เปาโล ในฐานะที่เป็นพลเมืองโรมัน ถูกตัดศีรษะด้วยดาบประมาณปี ค.ศ. 67 บนเนินน้ำพุนอกกรุงโรม ที่กลายมาเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมืองในปัจจุบัน

    3.นักบุญเอากุสตินกล่าวไว้ในบทเทศน์ของท่านว่า “อัครสาวกทั้งสองมีวันฉลองวันเดียวกัน เพราะว่าท่านทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้ว่าจะพลีชีพเป็นมรณสักขีคนละวันก็ตาม” ดังนั้น พระศาสนจักรจึงเฉลิมฉลองอัครสาวกทั้งสองในวันเดียวกัน ในฐานะที่เป็น “ศิลารากฐาน” ของพระศาสนจักรสากล ซึ่งท่านทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการยืนยันความเชื่อถึงพระคริสตเจ้าสืบต่อมา อีกทั้ง ยังสั่งสอนหลักความจริงของพระคริสตเจ้า และสละชีวิตของตนเป็นพยานยืนยันความจริงนั้น

ข.พระคัมภีร์และคำสอน
    1.บทอ่านที่หนึ่ง (กจ. 12:1-11) เล่าเรื่องกษัตริย์เฮโรดเบียดเบียนพระศาสนจักร เริ่มจากการสั่งตัดศรีษะน.ยากอบพี่ชายของ น.ยอห์น ส่วน น.เปโตรในฐานะผู้นำถูกจำคุก
    2.บทอ่านที่สอง (2 ทธ. 4:6-8,17-18) น.เปาโลได้เล่าให้ทิโมธีศิษย์ผู้ใกล้ชิดถึงชีวิตของท่านที่ได้รับใช้พระเจ้าด้วยความซื่อสัตย์
    3.พระวรสาร (มธ. 16:13-19) เล่าเรื่องพระเยซูเจ้าทรงแต่งตั้งและมอบอำนาจให้ น.เปโตรเป็นหัวหน้าของพระศาสนจักร
    4. เปโตร หัวหน้าพระศาสนจักร เดิมชื่อ “ซีโมน” เป็นชาวประมงธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้มีการศึกษาอะไรมากนัก มีน้องชายชื่อ อันดรูว์ ซึ่งเป็นคนแนะนำให้ท่านติดตามพระเยซูเจ้า (ยน 1:42) พระเยซูเจ้าได้ทรงเปลี่ยนชื่อของท่านจาก “ซีโมน” เป็น “เคฟาส” หรือ เปโตร ซึ่งแปลว่า ศิลา  (มธ 16:17-19) เพื่อค้ำจุนพระศาสนจักรและหัวหน้าของอัครสาวก (ยน. 21:15-17) จะเห็นว่าเปโตรแม้จะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนอาชีพแล้ว แต่ยังอ่อนแอ พลาดพลั้ง และท้อถอย (เคยปฏิเสธพระเยซูเจ้า 3 ครั้ง เคยหนีจากกรุงโรมจนได้พบกับพระเยซูเจ้าอีกครั้ง
    5.  เปาโล ผู้สอนและป้องกันความเชื่อ เดิมชื่อ “เซาโล” เป็นฟาริสีชั้นแนวหน้าในการตามล่าศิษย์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งท่านคิดว่าเป็นพวกมิจฉาทิฐิที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อพระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์ให้ท่านเห็น ขณะที่กำลังเดินทางไปจับกุมคริสตชนที่เมืองดามัสกัสมารับโทษ ท่านเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า บรรดาคริสตชนเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า ท่านได้กลับใจรับศีลล้างบาปจากอานาเนีย และกลายมาเป็นธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ของพระคริสตเจ้า

ค.ปฏิบัติ
    1. “สำนึกผิด เริ่มชีวิตใหม่” ทั้งเปโตรและเปาโลเหมือนกันตรงที่เคยผิดพลาดมาก่อน เปโตรเคยปฏิเสธพระเยซูเจ้าถึงสามครั้ง ส่วนเปาโลเคยเบียดเบียนกลุ่มคริสตชน แต่ภายหลังที่ได้สัมผัสกับความรักของพระเยซูเจ้า ความรักของพระองค์ได้เปลี่ยนแปลงใจท่านทั้งสอง ให้กลายเป็นผู้ร้อนรนในการนำคริสตชนไปสู่ความรอด ดังนั้น พระเจ้าทรงสามารถเรียกและเลือกใช้ผู้ที่อ่อนแอเป็นเครื่องมือที่ดีของพระองค์ได้ ความผิดพลาดในอดีตจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่การกลับใจและเริ่มต้นใหม่ต่างหาก คือการกระทำที่ควรยกย่องและเลียนแบบ

    2. “ปกป้อง บำรุงรักษา และเผยแพร่พระศาสนา” เพราะความเชื่อของเราสืบเนื่องมาจากอัครสาวก เราแต่ละคนจึงมีหน้าที่บำรุงรักษาและทำให้งอกงามเติบโต ตามแบบอย่างของ น.เปโตรผู้อภิบาล และ น.เปาโล ผู้ประกาศข่าวดีสู่ปวงชน

    3. “เคารพและร่วมมือนายชุมพา” นอกนั้น การฉลองในวันนี้ ยังเชื้อเชิญเราให้รำพึงถึงอำนาจที่พระเยซูเจ้าทรงประทานแก่นายชุมพาในพระศาสนจักร ให้เราร่วมมือกับนายชุมพาของเราทุกระดับและภาวนาเพื่อท่านจะได้ทำหน้าที่ที่พระเยซูเจ้าทรงมอบหมายอย่างศักดิ์สิทธิ์ และเกิดผลเป็นรูปธรรมในหมู่บ้านและวัดของเรา