DOMUS NOVA IN ANTIQUA SEDE

 

ควันหลง “นิทรรศการ 350 ปี มิสซังสยาม”


           หากจะกล่าวว่าโครงการจัดสร้างบ้านพระหฤทัยเริ่มขึ้นได้อย่างไรนั้น คงจะต้องย้อนกลับไปใน ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นปีที่พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยได้ทำการฉลอง 350 ปี การสถาปนามิสซังสยาม (Apostolic Vicariate of Siam) ช่วงเวลาดังกล่าว พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยมีความสนใจในเรื่องราวของประวัติศาสตร์มากขึ้นเป็นพิเศษ และในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 2019 ทางสังฆมณฑลราชบุรีได้จัดงาน 350 ปี มิสซังสยาม วันแพร่ธรรมสากล และวันฆราวาสไทยขึ้น ณ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก งานวันนั้น ฝ่ายสำนักงานสังฆมณฑลได้จัดนิทรรศการเล่าขานประวัติศาสตร์ “วันวาน.. ที่คิดถึง” เพื่อให้คริสตชนรุ่นหลังได้รับรู้ รับทราบเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรในสังฆมณฑลราชบุรีมากยิ่งขึ้น ในวันดังกล่าวพระคุณเจ้าสิริพงษ์จรัสศรี ได้ให้เกียรติมาร่วมงานและชมนิทรรศการด้วย หลังจากจบงานพระคุณเจ้าได้พูดคุยกับคุณจิรายุทธ กลิ่นสวัสดิ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสังฆมณฑลราชบุรี แผนกประวัติศาสตร์ว่าอยากจะให้ช่วยศึกษาประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางช้าง บางนกแขวก และทำการจัดสร้างโมเดลจำลองอาคารบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวกขึ้นมา

ศึกษาข้อมูล


               ทางสำนักงานสังฆมณฑลราชบุรีก็ได้ตอบรับความประสงค์ของพระคุณเจ้าสิริพงษ์ใน ค.ศ. 2019-2020 ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานสังฆมณฑลได้เริ่มดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางช้างบางนกแขวก จากเอกสาร รูปภาพ และการสัมภาษณ์บรรดาศิษย์เก่าที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านเณรหลังนี้ ซึ่งบุคคลที่ได้รับการสัมภาษณ์คือ คุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์ คุณพ่อวงศ์สวัสดิ์ แก้วเสนีย์ คุณพ่อประดิษฐ์ ว่องวารีคุณพ่อดำรัส ลิมาลัย ครูนิมิตร ฤทธิปัญญา ฯลฯ นอกจากนั้น ทางทีมงานยังได้เข้าไปสำรวจสถานที่ตั้งของบ้านเณรอีกด้วย ซึ่งตอนแรกที่เข้าไปสำรวจนั้นมีความเข้าใจว่า ที่ดินส่วนที่ตั้งอาคารนั้นทางสังฆมณฑลได้ขายไปนานแล้ว จนพระคุณเจ้าสิริพงษ์บอกพวกเราว่า ที่ดินตรงนั้นยังเป็นของสังฆมณฑลอยู่ พวกเราก็ไม่แน่ใจ จึงได้ตรวจสอบกับแผนกที่ดินของสังฆมณฑล ก็พบว่าสังฆมณฑลยังเป็นเจ้าของที่ดินอยู่จริง ๆ แม้ที่ดินของบ้านเณรส่วนใหญ่จะถูกขายไปแล้วก็ตาม ทางทีมงานได้เข้าไปวัดขนาดของซากอาคารที่หลงเหลืออยู่หลายครั้งด้วยกัน แต่เนื่องจากพื้นที่บ้านเณรถูกทิ้งร้างไว้เป็นเวลานานหลายสิบปี มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมจนเป็นป่ารกทึบ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าไปสำรวจซากอาคารได้ถนัดนัก แต่ก็ได้ข้อมูลมาในระดับหนึ่ง หลังจากนั้นคุณสมมิตร คงมั่นประกายกิจ ก็ได้อาสาเขียนรูปอาคารหลักของบ้านเณรเป็นภาพ 2 มิติขึ้นมา

 

 

 

ขอสัมภาษณ์ "อาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล"


            เพื่อให้ข้อมูลที่ได้ศึกษาและรวบรวมมาแล้วมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 ทางทีมงานจึงขอสัมภาษณ์อาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล ประธานอำนวยการโรงเรียนในเครือสารสาสน์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าบ้านเณรแม่พระนิรมล บางนกแขวก ลำดับที่ 180 แม้ว่าท่านจะมีภาระมากมายแต่ก็ยังเสียสละเวลาให้พวกเราเข้าพบและสัมภาษณ์ ท่านได้เล่าเรื่องราวชีวิตในบ้านเณรในสมัยที่ท่านเคยอยู่ด้วยความสุขและยังได้เล่าประสบการณ์อื่น ๆ พร้อมทั้งให้คำสอน ข้อคิดหลายประการแก่พวกเราอีกทั้งยังบรรเลงเปียโนบทเพลง “สดุดีสามเณร” ที่ประพันธ์โดยพระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ให้เราฟังอีกด้วย ก็คงจะสามารถกล่าวได้ว่าท่านมีความภาคภูมิใจในสถาบันบ้านเณรมากทีเดียว ท่านได้ถามว่า “จะศึกษาข้อมูลบ้านเณรไปทำไม?” ผมก็เรียนตอบกับท่านว่า “จะนำไปทำเป็นโมเดลจำลองอาคารบ้านเณร เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ครับ” ท่านก็บอกว่า “จะทำไปทำไมโมเดล สร้างของจริงไปเลย” เป็นคำถามซึ่งพวกเราที่ไปสัมภาษณ์นั้นไม่สามารถให้คำตอบกับท่านได้ คงได้แต่นำแนวคิดของท่านในเรื่องนี้ ไปเรียนให้ผู้ใหญ่ของสังฆมณฑลได้รับทราบ ซึ่งในระหว่างการสนทนา ท่านพูดประโยคนี้ถึงสองครั้ง ว่าน่าจะสร้างของจริงไปเลยแม้ท่านจะไม่ได้พูดโดยตรงว่าท่านจะช่วยสนับสนุนการดำเนินการก่อสร้าง แต่ผมก็ตีความจากคำพูดของท่านว่านี่คงเป็นเหมือนการส่งสัญญาณมาถึงสังฆมณฑลว่าควรจะดำเนินการฟื้นฟูบ้านเณรหลังนี้ขึ้นมาใหม่ โดยท่านจะให้การสนับสนุน

 

 

 

 

 

 

             ที่จริง ก็เคยได้ยินมานานแล้วว่าท่านอาจารย์มีความคิดอยากจะสร้างอาคารที่มีลักษณะเหมือนกับบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวก เพื่อมอบให้กับทางสังฆมณฑลใช้ทำประโยชน์ แต่ก็หาบทสรุปไม่ได้ ว่าจะสร้างที่ไหน? อย่างไร? จนเวลาผ่านไปความคิดนี้จึงถูกพับเก็บไว้โดยปริยายและไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อีกเลย และในวันที่ไปสัมภาษณ์ท่าน เรามีเจตนาเพียงจะขอข้อมูลเพื่อจะนำไปสร้างโมเดลเท่านั้น

 

            ไม่เคยคิดไปไกลว่าจะสร้างอาคารจริงขึ้นมาแต่อย่างใด แต่หลังจากที่ท่านได้บอกกับพวกเราวันนั้น ก็ถือเป็น การจุดประกายความคิดนี้ให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อนำความดังกล่าวไปเรียนให้ทางผู้ใหญ่ของสังฆมณฑลได้ทราบแล้วนั้น ทางผู้ใหญ่ก็เกิดความสนใจในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน และได้มอบหมายให้ไปศึกษาและวางแผนดู

 

 

"สร้าง"อาคารหลังใหม่ในที่เดิม

            ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 อาจารย์พิบูลย์ยงค์กมล พร้อมด้วยเพื่อน ๆ ศิษย์เก่าบ้านเณรบางนกแขวกในสมัยของท่าน ได้เดินทางมาเยี่ยมพระสงฆ์อาวุโสที่พักอยู่ที่บ้านราชินีแห่งอัครสาวก ศูนย์สังฆมณฑลราชบุรี ในโอกาสคริสต์มาสและปีใหม่ ในวันนั้นอาจารย์ได้สอบถามถึงโครงการเกี่ยวกับบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวก ว่าได้ดำเนินการไปถึงไหน? อย่างไร? และสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินของบ้านเณร

 

จัดทำโมเดล


           เมื่อได้ข้อมูลมาพอสมควรแล้ว ตอนนี้ก็ต้องหาคนที่จะทำโมเดลบ้านเณร ประจวบเหมาะคุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญได้แนะนำเราให้รู้จักกับคุณประภาส อุดมกุล ซึ่งมีอาชีพรับทำโมเดล ซึ่งในขณะนั้นเขากำลังเรียนคำสอนเพื่อเตรียมตัวรับศีลล้างบาปที่วัดบางนกแขวกกับคุณพ่ออยู่พอดี ทางทีมงานจึงได้มอบหมายให้คุณประภาส พร้อมทีมงานของเขาจัดทำโมเดลจำลองบ้านเณร พร้อมกับจัดทำไฟล์ภาพอาคารเป็น 3 มิติขึ้นมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           ผมได้เรียนตอบกับท่านไปว่า ตอนนี้กำลังศึกษาและวางแผนเพื่อจัดทำโครงการกันอยู่ โดยจะใช้เป็นสถานที่อบรมบุคลากร และเป็นการเตรียมฉลอง 100 ปีมิสซังราชบุรีด้วย ส่วนที่ดินก็ยังเป็นของมิสซังส่วนหนึ่ง พร้อมกันนั้นก็ได้นำภาพเก่า ๆ ในสมัยบ้านเณรบางนกแขวกมาให้พวกท่านได้ดู และร่วมสนทนาพูดคุยกับคุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์ หลังจากสนทนากันแล้ว ท่านจึงได้ชวนให้ไปดูสถานที่ตั้งบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวกด้วยกัน เมื่อได้เดินทางมาถึงสถานที่ตั้งบ้านเณรอาจารย์เดินสำรวจพื้นที่โดยรอบแล้ว ท่านก็บอกว่า“ที่ตรงนี้ เพียงพอที่สร้างอาคารบ้านเณรขึ้นมาใหม่ได้ผมจะสร้างให้ เอาไหม มันจะสักเท่าไหร่กัน” วันนั้น ท่านอาจารย์แสดงเจตนาอย่างชัดเจนพร้อมที่จะสนับสนุนการสร้างอาคารบ้านเณรในสถานที่เดิม ผมได้เรียนตอบท่านด้วยความยินดีว่า “จะปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ของสังฆมณฑล และดำเนินการให้เร็วที่สุดครับ”

 

การอนุมัติก่อสร้างจากสังฆมณฑล


              เมื่อได้ปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ของสังฆมณฑลแล้ว ทางทีมงานก็รีบดำเนินการจัดทำแผนงาน และเขียนโครงการขึ้นโดยทันที โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน และแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางช้างบางนกแขวก พร้อมทั้งเป็นสถานที่สำหรับจัดอบรมบุคลากรของสังฆมณฑล รวมทั้งคริสตชนโดยทั่วไป จากนั้นในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2020 ได้นำแปลนพื้นอาคารบ้านเณรไปส่งให้อาจารย์ที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศบางบอน และในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2020 พระสังฆราชปัญญา กฤษเจริญ ได้ลงนามอนุมัติโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมอบหมายให้คุณพ่อเสนอ ดำเนินสดวก ในฐานะประธานกรรมการบริหารสังฆมณฑลจะได้ดำเนินการต่อไป ในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 2020 ได้มีการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินโครงการ

 

การดำเนินการก่อสร้าง


                หลังจากที่สังฆมณฑลได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง อาจารย์พิบูลย์ พร้อมด้วยทีมงานของท่านก็เข้าดำเนินการแทบจะทันทีก็ว่าได้ โดยท่านได้ส่งทีมงานมาปรับพื้นที่และทำการถมที่ดิน ในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2020 เริ่มทำการตอกเสาเข็มต้นแรก และได้มีพิธีเสกเสาเอกในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2021

 

                ท่านได้ทุ่มเทและเอาใจใส่ในการก่อสร้างโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เรียก “ช่างน้อย” ซึ่งเป็นนายช่างที่ท่านไว้ใจให้มาสร้างอาคารหลังนี้ ซึ่งในขณะนั้นนายช่างก็กำลังควบคุมงานก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ของเครือโรงเรียนสารสาสน์ที่ จ.บุรีรัมย์ แต่ท่านก็สั่งให้มาทำที่นี่ก่อน ท่านมักจะเดินทางมาดูงานก่อสร้างด้วยตัวของท่านเองอยู่บ่อย ๆ แทบทุกขั้นตอน และด้วยประสบการณ์การก่อสร้างอาคารของโรงเรียนในเครือสารสาสน์มาอย่างยาวนาน พร้อมกับทีมงานช่างมากฝีมือ การก่อสร้างนั้นดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ราวกับเนรมิตขึ้นมาเลยทีเดียว

 

                 นอกจากนั้นท่านยังได้ซื้อที่ดินคืนมาได้อีกจำนวน 3 งาน 72 ตารางวา และสร้างอาคารประกอบการเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง

 

               ด้วยความอาลัยเป็นอย่างยิ่ง ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 พระเจ้าได้รับอาจารย์พิบูลย์ไปพักผ่อนตลอดนิรันดรกับพระองค์ส่งผลให้การดำเนินการก่อสร้างซึ่งใกล้จะเสร็จแล้วนั้นหยุดชะงักลง แต่ต่อมาทางครอบครัวยงค์กมลและสังฆมณฑลก็ได้ดำเนินการต่อจนสำเร็จ

 

 

 

 

 

 

 

ว่าด้วยเรื่องของ "ชื่อ"


               Domus Nova In Antiqua Sede (บ้านใหม่ในที่เดิม) เป็นชื่อที่อาจารย์มอบให้กับสถานที่แห่งนี้ เราจึงนำมาใช้เป็นชื่อโครงการ และใช้เป็นคำขวัญของบ้านแห่งนี้ด้วย ส่วนชื่อของอาคารเราก็ใช้ชื่อเดิมซึ่งเคยมีตัวอักษรติดไว้ที่หน้าอาคารในสมัยของบ้านเณรบางช้าง นั่นคือคำว่า SS. Cordis Jesu (พระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า) สำหรับชื่อของบ้าน ทีมงานก็คิดอยู่นานว่าจะตั้งชื่อบ้านว่าอะไรดี สุดท้ายได้บทสรุปว่า “บ้านพระหฤทัย” ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของบ้านเณรที่ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ในเวลาที่ไปเชิญพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เพื่อมาเป็นประธานในพิธีเปิด-เสกบ้านพระหฤทัย พระคุณเจ้าก็บอกว่าใช้ชื่อบ้านพระหฤทัยนั้นเหมาะสมแล้ว ทางทีมงานก็สบายใจ ส่วนอาคารหลังที่ 2 ซึ่งใช้เป็นห้องอาหารนั้น เราใช้ชื่อว่า Patris Corde (ด้วยหัวใจของบิดา) ถือเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งของปีนักบุญโยเซฟ

 

 

ด้วยความกตัญญูรู้คุณ


                 โครงการก่อสร้างบ้านพระหฤทัย นับว่าเป็นพระพรของพระเจ้าที่มอบให้กับพระศาสนจักรในสังฆมณฑลราชบุรีโดยแท้จริง เพราะจากผืนดินรกร้างว่างเปล่า ไร้คนเหลียวแล บัดนี้ได้ฟื้นคืนมาเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของพระศาสนจักร และเป็นศูนย์อบรมบุคลากรของสังฆมณฑล การจัดทำโครงการนี้ก็แทบจะไม่มีใครได้คาดคิดมาก่อนก็ว่าได้ใช้เวลาในการวางแผนและดำเนินการไม่นานนัก ในการดำเนินการก่อสร้างรวมทั้งการฟื้นฟูสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาใหม่นั้น ก็เป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะ ลงตัว และทันเวลาพอดี ซึ่งถ้าหากช้าไปกว่านี้สักหน่อย การฟื้นฟูสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาใหม่ก็คงจะเป็นไปได้ยากเต็มที และถึงแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ก็ดำเนินการจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นพระเจ้าที่ทรงจัดสรรให้อย่างแท้จริง พวกเราจึงต้องขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระพรที่พระองค์ประทานให้นี้

 

                 สังฆมณฑลราชบุรีขอขอบพระคุณอาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล เป็นอย่างสูง ที่ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และทุนทรัพย์ในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานบ้านเณรบางช้าง-บางนกแขวกหลังนี้ ท่านมักพูดอยู่เสมอว่า ที่ท่านสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น ก็เป็นเพราะบ้านเณร ซึ่งตลอดชีวิตของท่าน ท่านก็ได้สนับสนุนกิจการของบ้านเณรมาโดยตลอด ขอขอบคุณ "ครอบครัวยงค์กมล" ที่ให้การสนับสนุนต่อมาจนการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จสามารถเปิดใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์

 

             ขอขอบคุณพระคุณเจ้าสิริพงษ์ จรัสศรีผู้จุดประกายความคิดในการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์สำคัญที่เกือบจะสูญหายไปนี้ให้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่งอย่างทันท่วงที ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนด้านข้อมูลทุนทรัพย์ในการจัดทำโมเดล รวมทั้งกำลังใจในการติดตามถามไถ่ทีมงานอยู่เสมอ

             ขอบคุณคุณพ่อเสนอ ดำเนินสดวก อุปสังฆราชและเจ้าอาวาสอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวกและคุณพ่อสนธยา ไทยสนธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ที่ได้ช่วยติดต่อประสานงาน และอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ขอบคุณทีมงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ทำให้การดำเนินการก่อสร้างบ้านพระหฤทัยนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

 

 

               บ้านพระหฤทัย นับว่าเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ถือเป็นจุดกำเนิดของบ้านเณรหลายแห่ง เป็นสถานที่อบรมบุคลากรทรงคุณค่าของพระศาสนจักรในอดีตมาอย่างมากมาย และในปัจจุบันก็จะทำหน้าที่เป็นสถานที่อบรมบุคลากรและบรรดาคริสตชน จึงขอเชิญชวนศิษย์เก่าของบ้านเณร รวมทั้งบรรดาคริสตชน จะได้มีส่วนร่วมช่วยกันอนุรักษ์ บำรุงรักษา มรดกทางความเชื่อแห่งนี้ไว้ตราบนานเท่านาน ขอพระเจ้าโปรดตอบแทนในน้ำใจดีของทุกท่านที่ช่วยกันสนับสนุนการดำเนินการก่อสร้างบ้านพระหฤทัย และการดำเนินกิจการของบ้านหลังนี้ต่อไปในภายภาคหน้า