ทำไม ? พระสังฆราชยอห์น บอสโก ปัญญา กฤษเจริญ พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลราชบุรี จึงให้นโยบายให้มีการต้อนรับและแสดงความยินดีกับพระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ
กลุ่มคริสตชนที่รวมตัวกันในเขตปกครองเรียกว่า “สังฆมณฑล” (DIOCESE) มารวมตัวกันหลาย ๆ สังฆมณฑล ซึ่งเรียกว่า “กลุ่มสังฆมณฑล” บรรดาพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล ต้องเป็นหนึ่งเดียวกับอัครสังฆราชผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มสังฆมณฑล หัวหน้ากลุ่มสังฆมณฑลจะได้รับการเรียกว่า “อัครสังฆราช”(ARCHBISHOP)
สังฆมณฑลราชบุรี คือ กลุ่มคริสตชนในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงครามและเพชรบุรี
สังฆมณฑลราชบุรีจะมีหัวหน้ากลุ่มสังฆมณฑลคือ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ โดยมีอัครสังฆราชเป็นหัวหน้า (METROPOLITAN) (ม. 435) อัครสังฆราชจะไม่มีอำนาจในเรื่องการปกครองภายในของแต่ละสังฆมณฑล นอกจากเรื่องที่สันตะสำนัก (HOLY SEE) หรือประมวลกฎหมายพระศาสนจักรกำหนดไว้ (ม. 436§2 ; §3) เช่นการเยี่ยมเยียน การรักษาความเชื่อ การรักษากฎระเบียบ ผู้ดูแลเรื่องการแต่งตั้งพระสังฆราชภายในกลุ่มสังฆมณฑล รายงานให้พระสันตะปาปาทราบถึงการละเมิดใด ๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นในกลุ่มสังฆมณฑล
ประเทศไทยแบ่งกลุ่มสังฆมณฑลเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ ประกอบด้วย สังฆมณฑลราชบุรี สังฆมณฑลจันทบุรี สังฆมณฑล เชียงใหม่ สังฆมณฑลนครสวรรค์และสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี
2. กลุ่มอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ประกอบด้วย สังฆมณฑลนครราชสีมา สังฆมณฑล อุบลราชธานีและสังฆมณฑลอุดรธานี
ดังนั้น ในฐานะที่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ เป็นหัวหน้ากลุ่มของสังฆมณฑลราชบุรี และพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่สังฆมณฑลราชบุรี จะได้ร่วมแสดงความยินดี และต้อนรับการมาเยี่ยมเยียนของ...พระคาร์ดินัล ฟรังซิส เซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ