สมณสาส์น “ขอคำสรรเสริญจงมีแด่พระองค์”
LAUDATOSII:ว่าด้วยการเอาใจใส่ดูแลบ้านส่วนรวมของเรา
สมณสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสมุ่งประเด็นไปที่ “ระบบนิเวศที่สมบูรณ์” พร้อมกับการพิทักษ์ธรรมชาติของโลกด้วยความยุติธรรมต่อคนยากจนและคนที่เสียงต่อการได้รับอันตรายมากที่สุดด้วย พระองค์ตรัสว่าในสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ทัศนคติ ความคิด สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า เรากับเพื่อนมนุษย์ และเรากับธรรมชาติ
เพื่อให้ชีวิตกลับคืนสู่ความสมดุลย์และมีความกลมกลืนอีกครั้ง การกลับตัวกลับใจใหม่ในท่าทีที่ถูกต้องเท่านั้น เราจึงจะสามารถจัดการกับการคุกคามที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ พระองค์ยืนยันว่าแม้ว่าวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือดีที่มีอยู่ซึ่งทำให้เราสามารถได้ยินเสียงเรียกร้องของผืนโลก แต่ว่าการเสวนาและการศึกษาก็เป็นกุญแจสำคัญสองดอกที่สามารถ “ช่วยเราให้รอดพ้นจากการทำลายตนเองซึ่งปัจจุบันกำลังโถมกระหน่ำเราอยู่”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสไตร่ตรองและตั้งคำถามที่ท้าทายมาก ในสภาวะที่ภูมิอากาศของโลกผันแปรแบบเฉียบพลัน และระบบนิเวศผกผลัน พระองค์จึงตั้งประเด็นว่า “โลกชนิดไหนกันที่พวกเราจะส่งมอบต่อให้กับผู้ที่จะตามมาภายหลัง ต่อลูกหลานที่กำลังเจริญเติบโต?”
คำตอบที่พระองค์เสนอนั้นเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในระบบการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม รวมถึงวิถีชิวิตของเราแต่ละคนด้วยในสมณสาส์น “ขอคำสรรเสริญจงมีแด่พระองค์” (LAUDATOSIi) จึงมีเนื้อหาสาระดังนี้
วิเคราะห์ บทที่ 1 การท้าทายที่สำคัญที่สุดที่กำลังเผชิญกับ “บ้านส่วนรวมของเราคือผืนแผ่นดินโลกนี้”
อากาศเป็นพิษ ขยะ และ ความมักง่ายชอบทิ้งขว้าง: “โลกซึ่งเป็นบ้านส่วนของพวกเราดูเหมือนกำลังกลายเป็นกองขยะส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่ว”
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: “เราทราบว่ามีสิ่งหนึ่งที่กำลังท้าทายมนุษย์ทุกวันนี้ แต่หลายคนที่มีอำนาจทางทรัพยากร เศรษฐกิจ และการเมืองดูเหมือนมัวแต่สาละวนอยู่แต่เล่นลิ้นกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหรือปิดบังปัญหาดังกล่าว”
น้ำ: “การมีน้ำสะอาดที่สามารถดื่มได้เป็นสิทธิสากลพื้นฐานของมนุษย์” แต่ประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กต้องเจ็บไข้ได้ป่วยและเสียชีวิตลงเพราะดื่มน้ำที่มีเชื้อโรค”
ความหลากหลายของชีวิตสัตว์และพืช: “แต่ละปีเราจะเห็นการสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชนับพันชนิด” เราไม่อาจเดาถึงผลร้ายที่จะตามมา เพราะ “เราทุกคนที่เป็นสัตว์มีชีวิตต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน” บ่อยครั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจข้ามชาติเป็นอุปสรรคต่อการปกป้องคุ้มกัน
การล่มสลายของการจัดระบบสังคม: รูปแบบปัจจุบันของการพัฒนาสังคม ส่งผลร้ายต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ส่วนใหญ่ และ “หลายเมืองใหญ่ๆ ขาดโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งใช้พลังไฟฟ้าและน้ำมากเกินความจำเป็น”
ความไม่เท่าเทียมในโลก: ปัญหาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อคนที่ตกอยู่กับความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายรวมถึงมนุษย์ส่วนใหญ่ของโลก การแก้ไขไม่ได้อยู่ที่การลดอัตราการเกิด แต่ต้องแก้ที่การบริโภคสุดโต่ง
วิเคราะห์ บทที่ 3 พูดถึงรากเหง้าของปัญหาที่เป็นสาเหตุแห่งวิกฤตที่กำลังทวีเพิ่มขึ้นทุกๆวัน ซึ่งมาจาก
เทคโนโลยี: ยุคแห่งเทคโนโลยี่นำเอาความเจริญก้าวหน้ามาสู่การพัฒนาที่ค่อนข้างยั่งยืน แต่ละเลยไม่คำนึงถึงหลัก “จริยธรรม” ความก้าวหน้า“ให้ความรอบรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจแก่คนบางคน หรือคนกลุ่มน้อยเท่านั้นซึ่งทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็นเจ้านายของมวลมนุษย์
สภาวะจิตที่หมกมุ่นหลงไหลในเทคโนโลยี: “เศรษฐกิจรับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทุกอย่างโดยเล็งผลกำไรเป็นที่ตั้ง แต่ในตัวมันเองนั้นการตลาดไม่สามารถรับรองถึงการพัฒนามนุษย์และสังคมแบบองค์รวมได้
มนุษย์คือศูนย์กลางของชีวภาพ: ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและการล่มสลายของสังคมเป็นผลของการที่มอง “ทุกสิ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่งดงามนอกจากว่ามันนำมาซึ่งผลประโยชน์สำหรับตนเอง”
แรงงาน: ระบบนิเวศที่สมบูรณ์จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณค่าของแรงงานเพื่อทุกคนสามารถที่จะมีงานทำ นี่เป็นการทำธุรกิจเลวร้ายต่อสังคมที่ไม่ยอมลงทุนกับคนเพื่อที่จะทำกำไรในระยะสั้น
เทคโนโลยีด้านชีววิทยา: “Genetically modified organism (GMO)”เป็นประเด็นที่สลับซับซ้อนเกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยแก้บางปัญหาได้ก็จริง แต่ว่ามันก็นำเอาปัญหามาด้วยเช่นกัน เช่น ที่ดินตกอยู่ในกำมือของเจ้าของเพียงไม่กี่คน ตัดแข้งตัดขาของเกษตรกรรายย่อย ทำลายระบบชีวภาพและระบบนิเวศ
ดังนั้นการแก้ปัญหาระบบนิเวศจะอยู่ตรงไหน? ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวไว้ข้างบนและน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
คำสอนจากบทที่ 2 พระวาจาพระเจ้าเรื่องการสร้างสรรพสิ่ง:
สำรวจพระคัมภีร์ทั้งพระธรรมเก่าและพระธรรมใหม่เพื่อแสดงให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์นั้นมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า กับเพื่อนมนุษย์ และกับโลกที่ถูกสร้างขึ้น เราต้องยอมรับความบาปของเราเมื่อเราทำลายความสัมพันธ์ดังกล่าวและต้องตระหนักถึง “ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่” ที่เราต้องมีต่อสิ่งสร้างของพระเจ้า
ข้อเสนอจากบทที่ 4 การจัดระบบนิเวศที่บริบูรณ์:
เราจำเป็นต้องค้นหาความจริงใหม่แห่งความยุติธรรมซึ่งหมายความว่า “การวิเคราะห์ปัญหาที่เกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่อาจที่จะแยกออกจากการวิเคราะห์ประเด็นที่เกี่ยวกับมนุษย์ ครอบครัว การงาน เศรษฐกิจ และการเมือง” ในขณะเดียวกันการแก้ปัญหาต้องมีพื้นฐานบน “การเลือกเข้าข้างเพื่อนร่วมโลกพี่น้องชาย-หญิง ของเราที่ยากจนที่สุด”
ข้อเสนอ จากบทที่ 5 การเสวนา:
วิธีเข้าถึงปัญหาและการลงมือปฏิบัติเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “การอภิปรายที่มีใจเปิดกว้างและซื่อสัตย์ เพื่อที่ผลประโยชน์พิเศษของบางคนหรือบางกลุ่มหรืออุดมการณ์บางอย่างจะไม่ไปขัดกับความดีส่วนรวม” พระศาสนจักรไม่ประสงค์ที่จะไปจัดการระบบเรื่องวิทยาศาสตร์หรือเปลี่ยนแปลงนโนบายใดๆ แต่พระศาสนจักรสามารถส่งเสริมการเสวนาเกี่ยวกับการบริหารจัดการในระดับโลกและระดับท้องถิ่น เพื่อการตัดสินใจที่โปร่งใส การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งพร้อมที่จะเสวนาด้วยความเคารพกับผู้ที่มีความเชื่อแตกต่างกันและกับโลกวิทยาศาสตร์
ข้อเสนอจากบทที่ 6 การศึกษา การเปลี่ยนใจใหม่ การมุ่งชีวิตฝ่ายจิต:
การศึกษา พระสันตะปาปาขอร้องให้โรงเรียน ครอบครัว สื่อ และพระศาสนจักรทุกส่วนให้ช่วยกันหล่อหลอมนิสัยและพฤติกรรม การเอาชนะการเห็นแก่ตัวขณะที่เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและรู้จักประมาณในการบริโภค ซึ่งจะสามารถ “กดดันผู้มีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” ให้เกิดการเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญในสังคมได้
การเปลี่ยนแปลงหัวใจใหม่เกี่ยวกับระบบนิเวศ: นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีในฐานะที่เป็นต้นแบบของ “ความห่วงใยอย่างจริงจังในการปกป้องพิทักษ์โลก” ซึ่งท่านแสดงให้ปรากฏในรูปแบบของความกตัญญูต่อพระเจ้าในสิ่งสร้างบนผืนแผ่นดินโลก การมีใจกว้าง ความคิดสร้างสรรค์ และการที่มีใจกระตือรือร้น
ชีวิตฝ่ายจิต: สมณสาส์นจบด้วยภาวนาสองบทเป็นการแสดงถึงความเชื่อในพระเจ้านั้นสามารถหล่อหลอมและเป็นแรงบันดาลใจให้เราปกป้องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ พระตรีเอกภาพ แบบฉบับของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ และความหวังของเราที่จะได้รับชีวิตนิรันดรสามารถสอน กระตุ้น และเพิ่มความเข้มแข็งไห้เราสามารถปกป้องพิทักษ์ธรรมชาติโลกที่พระเจ้าทรงประทานให้กับเรา
(นำเสนอโดย วิษณุ ธัญญอนันต์)
สรุปจากเนื้อข่าวสารของวิทยุวาติกัน