PAX ET CARITAS : สันติภาพและความรัก

ถามตอบเรื่องวิถีชุมชนวัดและชุมชนคริสตชนย่อย
1. วิถีชุมชนวัด คืออะไรกันแน่? เป็นกลุ่มที่ทำอะไร? เป็นกลุ่มองค์กรพิเศษหรือเปล่า? เป็นกลุ่มใหม่หรือเปล่า? พูดกันหลากหลายเหลือเกิน เป็นอะไรกันแน่

     คำตอบ วิถีชุมชนวัด คือ การเป็นชุมชนวัดที่ประกอบด้วยชุมชนคริสตชนย่อยๆ ที่มีความสัมพันธ์เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นการกลับสู่วิถีชุมชนของยุคอัครสาวก ที่มีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางในชุมชน และเป็นชุมชนที่สมาชิกมีความรักซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือแบ่งปันกัน จนกระทั่งสามารถ เป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าแก่ทุกคนรอบข้าง


ที่ผ่านมาเราได้ยินชื่อ “กลุ่ม BECs” กันจนคุ้นหู เป็นชื่อย่อจาก “Basic Ecclesial Communities” หรือ SCCs “Small Christian Communities” ซึ่งหมายถึงชุมชนคริสตชนย่อย หรือชุมชนคริสตชนพื้นฐาน เพราะเป็นส่วนย่อยของชุมชนวัด ปัจจุบันเราตกลงเลือกใช้คำว่า “วิถีชุมชนวัด” แทน

     เราพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า “กลุ่ม” กับชุมชนคริสตชนย่อย เพราะชุมชนคริสตชนย่อยไม่ใช่ “กลุ่มใหม่” แต่เป็นวิถีชีวิตที่มาพร้อมกับการเป็นคริสตชนในศีลล้างบาป ดังนั้น คริสตชนทุกคน ไม่ว่าจะสังกัดกลุ่มใดหรือไม่ก็ตาม ล้วนมีส่วนเป็นชุมชนคริสตชนย่อยอยู่แล้ว โดยไม่ต้องสมัคร และก็ลาออกไม่ได้เช่นกัน

     ส่วนคำว่า AsIPA “Asian Integral Pastoral Approach” เป็นกระบวนการอบรม ซึ่งมีแผนก AsIPA สหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (FABC) เป็นผู้รับผิดชอบเพื่อให้ความรู้แก่ทุกคนเพื่อให้เข้าใจจิตตารมณ์วิถีชุมชน วัด ประกอบด้วยหลักสูตรหรือคู่มือในการสร้างความตระหนักแก่ชุมชน วิธีการรวมตัว การอบรมผู้นำ การหล่อเลี้ยงชุมชนย่อย ฯ และที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายคือการแบ่งปันพระวาจา 7 ขั้นตอนนั้นเอง เอกสารแบ่งเป็นหมวด A-E (ในปัจจุบัน) และยังคงมีเอกสารออกมาอย่างต่อเนื่อง

ใน ภาคปฏิบัติมีเครื่องหมายสี่ประการเป็นการบ่งชี้ถึงวิถีชุมชนวัดที่เป็น รูปธรรมตามแนวทางของพระศาสนจักร คือ 1. จำนวนสมาชิกในกลุ่มย่อยเริ่มจากประมาณ 5-15 ครอบครัว เป็นเพื่อนบ้านกัน หรืออยู่ในละแวกเดียวกัน 2. กิจกรรมสำคัญคือการแบ่งปันพระวาจาเป็นพื้นฐานของการพบปะกัน 3. การแสดงออกและทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันของชุมชนคริสตชนย่อยนั้นมาจากความเชื่อ และ 4. ชุมชนคริสตชนย่อยต้องเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรสากลและต้องขึ้นกับวัดที่ ตนสังกัด

     สรุปได้ว่า วิถีชุมชนวัดคือชุมชนคริสตชนย่อยๆ ของชุมชนในวัดมารวมตัวกัน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่องค์พระเยซูคริสตเจ้า มีการร่วมกันอ่านพระวาจา ไตร่ตรอง แบ่งปันประสบการณ์ ภาวนา เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพบปะและหล่อเลี้ยงชีวิตของสมาชิก โดยมีจุดประสงค์เพื่อประกอบกิจการแห่งความรักซึ่งกันและกันช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน กำหนดกิจกรรมแห่งความดีที่จะปฏิบัติร่วมกัน เช่น เยี่ยมคนป่วย ให้ความช่วยเหลือคนยากจนในกลุ่มย่อยของตนฯลฯ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมชีวิตจิตของสมาชิก เช่น การนำพระวาจาที่แบ่งปันมาเป็นข้อตั้งใจในการดำเนินชีวิตร่วมกัน ฯลฯ อย่างไรก็ดี กิจการต่างๆ เหล่านี้กระทำโดยเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนวัดที่ตนสังกัด

2. ชุมชนคริสตชนย่อย (BEC) คืออะไรกันแน่?

ตอบ ชุมชนคริสตชนย่อย (BEC) เป็นเรื่องที่สามารถมองได้ 2 แบบ ซึ่งต่างก็เน้นเรื่องการดำเนินชีวิตเป็นกลุ่ม
     1. ชุมชนคริสตชนย่อยเป็นวิถีชีวิตที่คริสตชนทุกคนพึงเป็น อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า ในศีลล้างบาป คริสตชนเป็นลูกของพระเจ้า เป็นสมาชิกของพระศาสนจักร เป็นส่วนหนึ่งของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า (เทียบ 1คร. 12:12-30) เป็นพี่น้องกัน มีพระเยซูคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางในการดำเนินชีวิต ซึ่งคริสตชนพบกับพระองค์ได้อย่างชัดเจนในพระวาจา และการรับศีลมหาสนิทในพิธีบูชาขอบพระคุณ นอกจากนั้นคริสตชนยังต้องดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนพี่น้อง ด้วยการรักกันและกัน ช่วยเหลือแบ่งปันกัน เอาใจใส่ดูแลและเสริมสร้างสังคมที่คริสตชนเป็นสมาชิก และเป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสตเจ้าแก่ทุกคนรอบข้าง

     2. ชุมชนคริสตชนย่อยยัง เป็นรูปแบบและแนวทางในการดำเนินชีวิตของคริสตชนที่พระศาสนจักรนำเสนอ (โดยให้พระศาสนจักรท้องถิ่นปรับให้เหมาะกับบริบทของตน) เพื่อให้พระหรรษทานของพระเจ้าในศีลล้างบาปได้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ในชีวิตของคริสตชนทุกคนซึ่งเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร เป็นส่วนหนึ่งของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า (เทียบ 1คร. 12:12-30) โดยยึดเอารูปแบบของคริสตชนสมัยอัครสาวก (เทียบ กจ. 2:42-47 และ กจ. 4:32-35) เป็นรูปแบบในการดำเนินชีวิตของคริสตชนในสมัยปัจจุบัน

     ดังนั้น ชุมชนคริสตชนย่อย จึงเน้นไปที่ชุมชนวัดที่ทุกคน ทั้งฆราวาส นักบวช พระสงฆ์ มีส่วนร่วม เป็นชุมชนที่มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ในภาคปฏิบัตินั้นเนื่องจากชุมชนคริสตชนของวัดนั้นเป็นชุมชนใหญ่ อาจจะทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตในรูปแบบนี้เป็นไปได้ช้า และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายก็อาจจะไม่เต็มที่นัก พระศาสนจักรจึงเสนอรูปแบบการจัดชุมชนคริสตชนในวัดเป็นกลุ่มย่อย ประมาณ 5-15 ครอบครัว ที่เป็นเพื่อนบ้านกันให้มารวมตัวกัน และในการพบปะกันทุกครั้งมีการแบ่งปันพระวาจาเป็นพื้นฐาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคริสตชนในกลุ่มย่อยนี้ดำเนินชีวิตด้วยกันโดยมีศูนย์ กลางที่องค์พระเยซูคริสตเจ้า และได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจาของพระองค์ แต่แน่นอนว่าการรวมกลุ่มกันไม่ใช่เป็นเพียงกลุ่มศรัทธาที่มาสวดภาวนาร่วมกัน เพราะเหตุว่าชีวิตคริสตชนที่แท้จริงนั้นต้องเป็นชีวิตที่รัก แบ่งปัน และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมกันรับผิดชอบและพัฒนาสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ดังนั้น การประชุมพบปะกันด้วยความเชี่อนี้จึงต้องมีแนวทางในการปฏิบัติร่วมกันซึ่ง แสดงออกเป็นกิจกรรมแห่งความรักต่อเพื่อนพี่น้องทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิตอย่าง เป็นรูปธรรม และแน่นอนกลุ่มย่อยเหล่านี้ทำความดีเพื่อพระคริสตเจ้าในพระ ศาสนจักรของพระองค์ จึงเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนวัดที่ตนสังกัดและพระศาสนจักรสากล และด้วยการดำเนินชีวิตเช่นนี้ ชีวิตของคริสตชนจึงเป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสตเจ้าแก่ทุกคนรอบข้าง


3. สัตบุรุษมาวัดก็บุญแล้ว ไปร่วมมิสซาที่วัดเพียงอย่างเดียวยังไม่พออีกหรือจะเรียกร้องให้เขาทำวิถีชุมชนวัดอีกหรือ?

     ตอบ เมื่อเราได้รับศีลล้างบาปเป็นคริสตชน เราเป็นคริสตชน 24 ชั่วโมง และตลอดชีวิต การมาร่วมมิสซาในวันพระเจ้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตคริสตชน เนื่องจากวิถีชีวิตของคริสตชนในฐานะลูกของพระเจ้าโดยอาศัยศีลล้างบาปนั้น เป็นการดำเนินชีวิตโดยมีพระเยซูคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น คริสตชนพึงหล่อเลี้ยงชีวิตของตนด้วยพระวาจาและศีลมหาสนิท ปฏิบัติตามคำสอนและแบบอย่างชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า มีความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ สิ่งเหล่านี้หาใช่ข้อเรียกร้องที่เกินเลยไม่ แต่ทว่าเป็นวิถีชีวิตที่คริสตชนพึงปฏิบัติในฐานะลูกของพระเจ้า


4. ทำไมต้องมีวิถีชุมชนวัด ? ทำไมต้องมาทำเรื่องนี้กัน?

     ตอบ จากอดีตที่ผ่านมางานทุกอย่างของพระศาสนจักรขึ้นอยู่กับพระสงฆ์ นักบวช แต่ฆราวาสซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่กลับไม่มีบทบาทมากนัก ประกอบกับกระแสการดำเนินชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ของสังคมโลกทำให้ฆราวาสเอง ขาดความตระหนักในหน้าที่รับผิดขอบในพระศาสนจักร ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรสากลมีความมุ่งหวังที่จะทำให้วัดทุกๆ วัดในพระศาสนจักรท้องถิ่น เป็นชุมชนวัดที่สมาชิกทุกคนในวัด ทั้งฆราวาส นักบวช พระสงฆ์ ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน แบบที่เรียกว่า “ชุมชนวัดที่ทุกคนมีส่วนร่วม” โดยมีประสบการณ์การประทับอยู่ของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพใน “พระวาจา” ที่พวกเขาแบ่งปัน และใน “ศีลมหาสนิท” ที่พวกเขาเข้าไปรับในพิธีบูชาขอบพระคุณ การมีประสบการณ์ชีวิตกับพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพดังกล่าวจะ ขับเคลื่อนสมาชิกแต่ละคนให้ออกไปประกาศข่าวดี และแบ่งปันประสบการณ์ความเชื่อในชีวิตของตนให้แก่บุคคลที่อยู่รอบข้างในทุก ซอกทุกมุมของชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ ทั้งกับผู้ที่เป็นคริสตชนและกับผู้นับถือศาสนาอื่น

     เพื่อจะให้ความมุ่งหวังนี้ประสบความสำเร็จ พระศาสนจักรแนะนำให้ฟื้นฟูคริสตชนเป็นชุมชนย่อยหรือเป็นวิถีชุมชนวัด และในบริบทของทวีปเอเชีย สหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย ได้เสนอให้ชุมชนคริสตชนย่อยหรือวิถีชุมชนวัด ใช้ “กระบวนการอภิบาลแบบบูรณาการ” (AsIPA หรือ Asian Integral Pastoral Approach) เป็นเครื่องมือในการฝึกอบรม ซึ่งพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยก็มุ่งหวังให้เกิด “ชุมชนวัดที่ทุกคนมีสัมพันธ์เป็นหนึ่งและมีส่วนร่วม” เช่นกัน จึงเน้นเรื่องวิถีชุมชนวัดในแผนอภิบาล ค.ศ. 2000-2010 ต่อเนื่องมาจนถึงแผนฯ ค.ศ. 2010-2015 โดยพยายามปรับกระบวนการอภิบาลแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย

5. วิถีชุมชนวัดมีประโยชน์อย่างไร? ชุมชนวัดที่เป็นอยู่ยังไม่ใช่วิถีชุมชนวัดอีกหรือ?

     คำตอบ วิถีชุมชนวัดมีประโยชน์กับพันธกิจของชุมชนวัด เพราะความเป็นหนึ่งเดียวกันและการมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกฝ่ายในวัด คือ ทั้งฆราวาส นักบวช พระสงฆ์ โดยมีพระเยซู คริสตเจ้า เป็นศูนย์กลาง จะขับเคลื่อนพันธกิจของวัดซึ่งก็คือพันธกิจของพระเยซูคริสตเจ้า ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ในขณะเดียวกันรูปแบบของความรักและความเป็นหนึ่งเดียวของสมาชิกทุกคนในวัด ก็จะเป็นประจักษ์พยานที่ดีถึงองค์พระเยซูคริสตเจ้าแก่ทุกคนรอบข้าง

     ในแง่ของชีวิตคริสตชนและชีวิตหมู่คณะ การดำเนินชีวิตตามวิถีชุมชนวัด เป็นการส่งเสริมให้คริสตชนมีความรักซึ่งกันและกัน รู้จักแบ่งปันช่วยเหลือกัน บำเพ็ญประโยชน์เพื่อชุมชนส่วนรวม ซึ่งจะทำให้ชีวิตของแต่ละคน และการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชนคริสตชนเต็มไปด้วยความสุขทั้งกายและใจ

จริงๆ แล้วชุมชนวัดที่เป็นอยู่ก็พยายามมุ่งสู่จิตตารมณ์ของวิถีชุมชนวัด ซึ่งพยายามเน้นพระเยซูคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง สอนให้คริสตชนรักกันและกัน และก็พยายามให้ คริสตชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของวัด แต่ยังขาดรูปแบบการดำเนินงานของชุมชน คริสตชนย่อยที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องมีเครื่องหมายบ่งบอก 4 ประการ ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว คือ 1. จำนวนสมาชิกในกลุ่มย่อยเริ่มจากประมาณ 5-15 ครอบครัว เป็นเพื่อนบ้านกัน หรืออยู่ในละแวก หรือโซนเดียวกัน 2. กิจกรรมสำคัญคือการอ่านพระวาจา การแบ่งปันพระวาจาเป็นพื้นฐานของการพบปะกัน 3. การแสดงออกและทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันของชุมชนคริสตชนย่อยนั้นมาจากความเชื่อ และ 4. ชุมชนคริสตชนย่อยต้องเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรสากลและต้องขึ้นกับวัดที่ ตนสังกัด

 

6. สัตบุรุษมาจากต่างสถานที่กัน ไม่ได้อยู่ละแวกเดียวกัน หรือในโซนเดียวกัน นับเป็นชุมชนคริสตชนย่อยเดียวกันหรือเปล่า?

     คำตอบ จากข้อที่ 1 ของเครื่องหมายสี่ประการในการบ่งชี้ถึงความเป็นชุมชนคริสตชนย่อย คือ สมาชิกในกลุ่มย่อย ประมาณ 5-15 ครอบครัว เป็นเพื่อนบ้านกัน ทำให้เราได้ความชัดเจนว่า สัตบุรุษที่มาจากที่ต่างกัน ไม่ได้อยู่ในละแวกเดียวกัน หรือในโซนเดียวกันยังไม่นับเป็นชุมชนคริสตชนย่อย แน่นอนถ้าเขามาประชุมพบปะกันเพื่อแบ่งปันพระวาจา ก็ต้องถือว่าเขาเป็นกลุ่มพระวาจาหรือเป็นกลุ่มที่รักพระวาจา หรือถ้าเขาทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันเป็นองค์กรด้วยจิตตารมณ์แห่งความเชื่อและความรักในองค์พระเยซูคริสต เจ้า โดยขึ้นกับพระศาสนจักร ก็ถือว่าเขาเป็นกลุ่มกิจกรรมคาทอลิก


7. คนในเมืองจะรวมกลุ่มได้อย่างไร? เดินทางลำบาก เวลาก็ไม่มี ตื่นตีห้า ถึงบ้านสามทุ่มแทบทุกวัน

     คำตอบ คนในเมืองก็สามารถรวมกลุ่มกันได้ แน่นอนเป็นความยากลำบาก และต้องใช้ความเสียสละเป็นอย่างมากในสภาพเศรษฐกิจยุคปัจจุบันที่ต้องดิ้นรน เพื่อปากท้อง แต่เชื่อว่าถ้าพี่น้องคริสตชนตระหนักถึงความสำคัญของวิถีชุมชนวัด เขาจะสามารถจัดเวลาพบปะสม่ำเสมอได้อย่างแน่นอน เช่น ประเทศสิงคโปร์ หรือเมืองมุมไบประเทศอินเดีย หรือพี่น้องคริสตชนในกรุงเทพฯ บางแห่งที่เริ่มเป็นชุมชนคริสตชนย่อย เขาก็เป็นสังคมเมืองเช่นเดียวกัน แต่เขาก็สามารถรวมกลุ่มกันได้ และทำได้ดีด้วย


8. จะเริ่มวิถีชุมชนวัดอย่างไร และรวมกลุ่มวิถีชุมชนวัดเพื่อทำอะไรบ้าง?

     คำตอบ คงต้องเริ่มที่การให้พี่น้องคริสตชนมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการเป็นคริสตชนของตน เป็นต้น เรื่องการมีส่วนร่วมของคริสตชนในชุมชนวัดตามกระแสเรียกของตน ให้ความรู้เรื่องวิถีชุมชนวัดแก่ทุกฝ่าย คือ ฆราวาส นักบวช และพระสงฆ์ รวมทั้งการสร้างผู้นำซึ่งเป็นฆราวาสที่จะมาร่วมงานกับพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำ ในกลุ่มย่อย เมื่อทุกฝ่ายมีความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง และมีผู้นำที่เข้มแข็ง ก็เชื่อว่าวิถีชุมชนวัดจะเกิดและมีความยั่งยืน
การรวมกลุ่มวิถีชุมชนวัดก็เพื่อให้คริสตชนช่วยเหลือกันในการดำเนินชีวิตเป็น คริสตชนที่ดี หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยพระวาจาและศีลมหาสนิท ออกจากตนเอง โดยมอบความรักให้กับผู้อื่น เป็นต้น ผู้ป่วย คนยากไร้ คนชรา ฯลฯ ตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเองต่อสังคม และพัฒนาสังคมที่ตนอยู่ให้ดีขึ้น ดำเนินชีวิตร่วมกันเป็นประจักษ์พยานถึงองค์พระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืน พระชนมชีพ

9. พระสงฆ์สนับสนุนจริงหรือไม่? พ่อเจ้าวัดเอาจริงหรือเปล่า? ถ้าพ่อเจ้าวัดไม่เล่นด้วย วิถีชุมชนวัดไม่มีทางเกิด

     คำตอบ พระสงฆ์เป็นผู้อภิบาล เป็นศิษย์ของพระเยซูคริสตเจ้า และเป็นศาสนบริกรของพระศาสนจักร แน่นอนย่อมสนับสนุนแนวทางของพระคริสตเจ้าที่พระศาสนจักรนำเสนอ มั่นใจว่าวิถีชุมชนวัดเกิดอย่างแน่นอนถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทั้งฆราวาส นักบวช และพระสงฆ์ แต่คงเป็นวิถีชุมชนวัดที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย กล่าวสั้นๆคือชุมชนคริสตชนย่อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับพ่อเจ้าวัด แต่พ่อเจ้าวัดต้องอยู่ร่วมกับชุมชนคริสตชนย่อย


10. งานนี้มักจะล้มไปถ้าเปลี่ยนตัวพ่อเจ้าวัด จริงหรือไม่?

     คำตอบ คือ ใช่ และไม่ใช่
     ใช่ เพราะว่า หากคุณพ่อเจ้าวัดสร้างชุมชนคริสตชนย่อยโดยไม่สร้างผู้นำที่เป็นฆราวาสที่ เข้มแข็งขึ้นมาด้วย และสมาชิกชุมชนคริสตชนย่อยก็ยังไม่กระจ่างแจ้งต่อบทบาทและหน้าที่ของตน แน่นอน เมื่อคุณพ่อเจ้าวัดต้องย้ายไปประจำที่อื่น ชุมชนคริสตชนย่อยก็อาจจะล้มได้

     ไม่ใช่ เพราะว่า หากคุณพ่อเจ้าวัดสร้างผู้นำฆราวาสที่เข้มแข็งและให้ความรู้ ความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในชุมชนคริสตชนย่อย แม้คุณพ่อเจ้าวัดจะย้าย แต่ฆราวาสซึ่งเป็นผู้นำก็สามารถดำเนินการวิถีชุมชนวัดต่อไปได้เรื่อยๆ โดยประสานงานกับคุณพ่อเจ้าวัดองค์ใหม่และองค์ต่อๆ ไป


11. ถ้าพ่อเจ้าวัดไม่แสดงออกว่าสนับสนุน หรือไม่สนับสนุนจะตั้งเองได้หรือไม่?

     คำตอบ หลักประการหนึ่งของวิถีชุมชนวัด คือ ต้องเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรสากลและต้องขึ้นกับวัดที่ตนสังกัด ดังนั้น พี่น้องฆราวาสคงจะตั้งชุมชนคริสตชนย่อยเองไม่ได้ แต่พี่น้องมีสิทธิขอคำแนะนำหรือร้องขอจากคุณพ่อเจ้าวัด และขอให้มั่นใจว่าวิถีชุมชนวัดเป็นสิ่งดี เป็นแนวทางของพระศาสนจักร ซึ่งคุณพ่อเจ้าวัดย่อมต้องให้การสนับสนุนอย่างแน่นอน


12. พระสงฆ์ / นักบวชจำเป็นต้องเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน คริสตชนย่อยหรือไม่? พระสงฆ์ และนักบวชที่ประจำอยู่ที่วัด มีบทบาทหน้าที่อย่างไรในวิถีชุมชนวัด

     คำตอบ ทุกคนมีส่วนเป็นชุมชนคริสตชนย่อยตั้งแต่รับศีลล้างบาป และทุกๆ กระแสเรียกของพระศาสนจักรก็มีรากฐานและศูนย์กลางอยู่ที่พระเยซูคริสตเจ้า หลักการสำคัญประการหนึ่งของชุมชนคริสตชนย่อย คือ การมีส่วนร่วมของฆราวาส นักบวช และพระสงฆ์ แต่แน่นอนด้วยบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันตามกระแสเรียกของแต่ละคน บทบาทของพระสงฆ์และนักบวชจึงควรเป็นบทบาทของผู้ให้ความรู้ในเรื่องวิถีชุมชน วัดแก่สัตบุรุษ เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่ผู้นำในชุมชนคริสตชนย่อย ให้กำลังใจ ช่วยแก้ไขปัญหา และสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนคริสตชนย่อยให้ดำเนินไปด้วยดีในชุมชนวัด ในสนามงานอภิบาลที่ตนรับผิดชอบ


13. วิถีชุมชนวัดเป็นการเพิ่มภาระให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ นักบวช ฆราวาส โดยเฉพาะฆราวาสที่เป็นสมาชิกกลุ่มอื่นๆ อยู่แล้ว หรือไม่

      คำตอบ ถ้าเรามองว่าวิถีชุมชนวัดเป็นวิถีชีวิตที่พระเจ้าประทานให้แก่เราเมื่อเรา รับศีลล้างบาป เราจะไม่มีความรู้สึกเลยว่าวิถีชุมชนวัดเป็นภาระ เหมือนกับเวลาที่เราหายใจ เราไม่เคยรู้สึกหนักใจหรือเป็นภาระเลยว่าทำไมเราต้องหายใจมากมายขนาดนี้ อันที่จริงถ้าเรามองย้อนกลับไปยังชุมชนคริสตชนในสมัยแรก ซึ่งเป็นรูปแบบของวิถีชุมชนวัดในปัจจุบัน เราจะพบว่าพวกเขาดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า รักกันและกัน สวดภาวนา และร่วมพิธีบิปัง ถ้ามองแบบนี้เราจะเห็นว่าเป็นงานของพระสงฆ์อยู่แล้ว (หาใช่ภาระที่เพิ่มขึ้น) ที่จะต้องเสริมสร้างวิถีชีวิตแบบนี้ให้เกิดแก่ชุมชนคริสตชนในชุมชนวัดของตน และสำหรับฆราวาสอื่นๆ ก็เช่นกัน โดยความเป็นคริสตชน เราต้องมีชีวิตแบบนี้เช่นกัน เพียงแต่วิถีชุมชนวัดเป็นการทำให้รูปแบบชีวิตนี้มีแนวทางที่ชัดเจนและเป็น รูปธรรมขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในชุมชนย่อยที่เราอาศัยอยู่ และถือเป็นสิ่งดีถ้าฆราวาสคริสตชนจะอุทิศตนให้วัดมากขึ้นโดยเป็นสมาชิกของ กลุ่มกิจกรรมคาทอลิกอื่นๆ แต่คงไม่เหมาะนักหาก คริสตชนคนหนึ่งจะอุทิศตนให้แก่ผู้อื่นและแก่วัดอย่างมากมายตามจิตตารมณ์ของ กลุ่มกิจกรรมคาทอลิกที่ตนสังกัด แต่ละเลยความรัก ความเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนคริสตชนย่อยที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง


14. ใครต้องเข้าร่วมวิถีชุมชนวัดบ้าง หากเป็นสมาชิกองค์กรอยู่แล้ว สมาชิกของพลมารี หรือเซอร์ร่า ฯลฯ ต้องเข้าร่วมกับวิถีชุมชนวัดหรือไม่

     คำตอบ ตามที่ได้กล่าวแล้วว่าวิถีชุมชนวัดไม่ใช่กลุ่มองค์กรพิเศษ แต่เป็นที่รวมของทั้งผู้ที่เป็นสมาชิกค์กรต่างๆแล้ว และผู้ที่ยังไม่สังกัดองค์กรด้วย เป็นวิถีชีวิตที่มาพร้อมกับการเป็นคริสตชนในศีลล้างบาป ดังนั้น คริสตชนทุกคนมีส่วนเป็นชุมชนคริสตชนย่อยอยู่แล้ว โดยไม่ต้องสมัคร และก็ลาออกไม่ได้เช่นกัน แต่เมื่อเป็นส่วนของชุมชนคริสตชนย่อยแล้วจะเข้าสังกัดเป็นสมาชิกในองค์กรใด ก็แล้วแต่ความสมัครใจของคริสตชนคนนั้น


15. สมาชิกที่บ้านอยู่ไกลกันมากจริงๆ จะรวมกลุ่มกันได้อย่างไร?

     คำตอบ ตามสภาพความเป็นจริงหากไม่มีบ้านใกล้กันจริงๆ หรืออาจจะไม่สามารถรวบกลุ่มได้ไม่ว่าด้วยปัญหาด้านความปลอดภัย หรือด้านสถานที่เราอาจทำได้ 2 แบบ คือ 1. เข้าร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ที่สะดวกกว่า หรือมาร่วมกันที่วัดกับคริสตชนอื่นๆ 2. ใช้รูปแบบธรรมฑูตในการดำเนินชีวิตคริสตชน อย่างไรก็ตามเคยมีกรณีที่เมื่อแสวงหาจริงๆ พบว่ามีคริสตชนอยู่ใกล้กับเราโดยไม่รู้มาก่อน พึงสังเกตุว่าวิธีการแบบนี้ถือเป็นวิธีการพิเศษ ไม่ควรนำมาใช้แบบต่อเนื่องในเวลาปรกติ

16. สมาชิกที่อยู่ตามอพาร์ทเมน หรือคอนโดมิเนียม หรือบ้านสมาชิกล้วนแต่เล็กๆไม่มีที่ที่รวมกลุ่มกันได้จะทำอย่างไร?

     คำตอบ การรวบตัวกันเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้สมาชิกมีโอกาสได้อ่านพระวาจาและนำไป ปฏิบัติในสถานการณ์ชีวิตจริงของพวกเขา หากสถานที่ไม่อำนวยจริงๆ สมาชิกสามารถใช้วัด หรือบริเวณใดก็ได้โดยขอความเห็นชอบของหมู่คณะในการตัดสินใจ สิ่งที่สำคัญคือสมาชิกหลักที่เข้าร่วมมาจากละแวกบ้านเดียวกันนั่นเอง และผู้นับถือศาสนาอื่นก็ได้รับการต้อนรับในการประชุมด้วยเช่นกัน

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทยรวมพลังรักษ์โลก ค.ศ.2024-2025

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2024

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก