ที่ไปที่มาของการเคารพวิญญาณบรรพบุรุษในวันตรุษจีน
ใน ค.ศ. 1742 เกิดความขัดแย้งกันของคณะสงฆ์ 3 คณะในประเทศจีน คือ คณะโดมีนิกัน คณะฟรังซิสกัน และคณะเยสุอิต โดยคณะโดมีนิกันและคณะฟรังซิสกัน ห้ามพี่น้อง ชาวจีนที่กลับใจแล้ว ทำการไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ เพราะถือ เป็นสิ่งนอกรีต ทำไม่ได้เด็ดขาด ทำให้ชาวจีนทิ้งศาสนากันมากมาย เพราะศาสนาคริสต์ขัดกับขนบธรรมเนียม และความดีงามที่เคยปฏิบัติ แต่ถือว่าโชคดีและพระอวยพร ที่พระสงฆ์คณะเยสุอิต มองเห็นส่วนดีของประเพณีการเคารพวิญญาณบรรพบุรุษ ตลอดจนวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตของชาวจีน ซึ่งอนุญาตให้ทำตามประเพณีได้แต่มีเงื่อนไขบางประการในการอธิบายใหม่ เพื่อขัดเกลาให้สอดคล้องกับความเชื่อของเราชาวคริสต์
ต่อมา ค.ศ. 1939 พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 โดยผ่านทางกระทรวงเผยแผ่ศาสนาออกเอกสารชื่อ Plane Compertum ทรงอนุญาตให้คริสตชนชาวจีนมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ในพิธีเคารพวิญญาณบรรพบุรุษ ขอเพียงว่าการทำเช่นนั้น ถือว่าเป็นเพียงธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในทางสังคมโดยไม่มีความหมายสำคัญอะไรทางการนมัสการในเชิงของนิกายศาสนา
พระสงฆ์คณะเยสุอิตจึงกำหนดแนวทางปฏิบัติบางประการดังนี้
1. ป้ายชื่อ วิญญาณบรรพบุรุษ สามารถตั้งอยู่ในบ้านได้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความกตัญญูรู้คุณ เพียงแต่ห้ามเชื่อว่าวิญญาณเหล่านั้นสถิตอยู่ในป้าย ร่วมถึงป้ายชื่อขงจื้อ ก็สามารถตั้งในบ้านได้ในฐานะอาจารย์ของชาวจีน
2. ประเพณีการเผากระดาษเงินกระดาษทองไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะขัดกับความเชื่อ (ชาวจีนเชื่อว่าการเผากระดาษคือการส่งสิ่งเหล่านั้นส่งไปถึงผู้ตาย) เพราะคริสตชนอาศัยคำภาวนา การพลีกรรม พิธีมิสซา และการทำบุญต่าง ๆ ในการแสดงความรัก เพื่อช่วยเหลือวิญญาณผู้ล่วงหลับไม่ใช้การเผากระดาษ ในกรณีนี้ร่วมถึงพิธีกงเต๊กด้วย ไม่สามารถทำได้
3. การนำอาหาร และผลไม้มาไหว้ตามธรรมเนียม สามารถทำได้ แต่ห้ามเชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษมากินอาหารเหล่านั้น เพียงเป็นประเพณีที่บ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของความรัก ความผูกพันธ์ และความเคารพเท่านั้น (เทียบธรรมเนียมของชาวยุโรป มักนำดอกไม้มามอบให้ผู้ตายที่สุสาน เพื่อเป็นเพียงสัญลักษณ์ความรัก ความคิดถึง และความผูกพันธ์ ซึ่งความเป็นจริงผู้ตายก็ไม่ได้รับดอกไม้นั้น)
ต่อมาหลายประเทศได้นำแนวปฏิบัติของประเทศจีนไปใช้ เช่น คนจีนในไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม
ส่วนชาวไทย มีหนังสือของคุณพ่อไพศาล อานามวัฒน์ ชื่อ “แนวทางปฏิบัติตนของคาทอลิกต่อประเพณี–ศาสนพิธีของคนไทยเชื้อสายจีน” ออกในปี พ.ศ2550 ได้พูดเกี่ยวกับวันตรุษจีนไว้ดังนี้
1. พิธีการที่คริสตชนคาทอลิกสามารถปฏิบัติได้ เช่น การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดาหรือปู่ย่าตายาย การไหว้และขอพรผู้ใหญ่หรือญาติมิตรเป็นสิ่งที่ดีงาม
2. พิธีการที่คริสตชนคาทอลิกไม่ควรปฏิบัติ เช่น การไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภในวันไหว้รับวันตรุษจีน ซึ่งเชื่อว่าเทพเจ้าแห่งโชคลาภจะเสด็จลงมา เพราะคริสตศาสนาไม่ได้มีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าแห่งโชคลาภ
แต่ผมว่าควรดูเหตุผลแนวปฏิบัติของชาวจีนประกอบด้วยจะมีแนวทางชัดเจนขึ้น ส่วนข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในระหว่างไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ สมควรปฏิบัติตามธรรมเนียมของชาวคริสต์ ด้วยการสวดบทภาวนาหรือสายประคำ หรือจากหนังสือผู้ล่วงหลับ จะทำให้การไหว้วิญญาณบรรพบุรุษมีความสมบูรณ์ขึ้น
(จากคอลัมน์ "ศาสนสัมพันธ์" สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 35 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2017)