เรื่องที่ 1 ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรในมือของฆราวาส
1.1 คำนิยาม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 272 อธิบายคำว่า "ฆราวาส" (คะ-รา-วาด) น. คนผู้อยู่ครองเรือน คนทั่วๆไปที่ไม่ใช่บรรพชิตหรือนักบวช
จากโน้ตสำหรับการแปลในภาษาไทยของเอกสารแห่งสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เล่มที่ 1 หน้า 190 อธิบายคำว่า "ฆราวาส" (บ. ฆร+อาวาส) แปลว่า: ที่อยู่ เรือน แต่ตามความเข้าใจของคนไทยหมายความถึงผู้ครองเรือนหรือผู้มีเหย้าเรือน เป็นคำตรงกันข้ามกับ อาวาสิก แปลว่า พระ เราใช้คำฆราวาสนี้แทนศัพท์ลาติน LAICUS และกรีก LAIKOS แปลว่าของหรือสิ่งที่เกี่ยวกับพลเรือน ตรงข้ามกับศัพท์ CLERICUS แปลว่าของสงฆ์ ของพระ
คำ "ฆราวาส" กินความถึงกลุ่มสัตบุรุษคริสตชนทุกคน นอกจากบุคคลที่เป็นสมาชิกของฐานันดรสงฆ์ คือ พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร และบรรดาผู้อยู่ในฐานะนักบวช อันพระศาสนจักรรับรองแล้ว สัตบุรุษคริสตชนเหล่านี้คือผู้ที่สังกัดอยู่ในพระกายของพระคริสตเจ้าโดยทางการได้รับศีลล้างบาป เขาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นประชากรของพระเป็นเจ้า เขามีส่วนตามฐานะและหน้าที่ของเขาในองค์พระคริสตเจ้า ด้วยภารกิจเป็นสงฆ์ ประกาศกและกษัตริย์ของพระองค์ท่าน เขาทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ตามส่วนของเขาในฐานะเป็นประชากรของพระเป็นเจ้า กระทำในพระศาสนจักรและในมนุษย์โลก (ธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักร ข้อ 31)
สังคายนาวาติกันที่ 2 กล่าวถึงฆราวาสไว้มากมายในธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักร (LUMEN GENTIUM) ในบทที่ 4 ข้อ 30-38
ข้อ 32 กล่าวถึงศักดิ์ศรีของฆราวาส : พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ที่พระเป็นเจ้าทรงสถาปนาขึ้น มีระเบียบและดำเนินงานหลายสีหลายอย่างต่างกันเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจนักหนา "เหตุว่าในร่างกายอันหนึ่ง เรามีอวัยวะหลายอัน ทุกๆอวัยวะไม่ทำหน้าที่อันเดียวกันฉันใดก็ฉันนั้น เรามากคนด้วยกันรวมเป็นร่างกายเดียวของพระคริสตเจ้า เราต่างคนก็ต่างเป็นอวัยวะของกันและกัน" (รม 12:4-5)
เป็นอันว่าประชากรของพระเป็นเจ้าที่พระองค์ได้ทรงเลือกสรรไว้มีประชากรเดียว "มีพระสวามีเจ้าเดียว ความเชื่ออันเดียว ศีลล้างบาปอันเดียว (อฟ 4:5) เกียรติศักดิ์ร่วมกันของมวลสมาชิก เนื่องจากพวกเขาได้เกิดใหม่ในพระคริสตเจ้า มีพระหรรษทานร่วมกัน เป็นลูกของพระเป็นเจ้า มีกระแสเรียกร่วมกัน มีความรอดอันเดียวกัน มีความหวังอันเดียวและมีความรักอันแบ่งแยกมิได้ เพราะฉะนั้น ในพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักร หามีความไม่เสมอภาคอันใดเลย ไม่ว่าด้านเชื้อชาติหรือด้านประเทศชาติ ไม่ว่าด้านฐานะทางสังคมหรือทางเพศ เพราะว่า "ไม่มีชาวยิวหรือชาวกรีก ไม่มีชายหรือหญิง เหตุว่าพวกท่านทุกๆคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเยซู" (กล 3:28 ; คส 3:11)
เพราะฉะนั้น ฆราวาสทั้งหลาย ท่านได้รับพระมหากรุณาจากพระเป็นเจ้า ให้มีพระคริสตเจ้าเป็นพี่ พระองค์นี้ แม่ทรงเป็นเจ้าของสรรพสิ่ง ถึงกระนั้นได้เสด็จมาไม่ใช่เพื่อให้ใครรับใช้พระองค์ แต่เพื่อทรงรับใช้คนอื่น (มธ 12:11) ท่านมีพี่น้องคือบรรดาผู้ทำหน้าที่บริการพระศาสนา เดชะอำนาจ อาชญาสิทธิ์ของพระคริสตเจ้า เขาเป็นผู้เลี้ยงดูครอบครัวของพระเป็นเจ้าด้วยการสั่งสอน ด้วยการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์และด้วยการปกครองเพื่อให้ทุกๆคนปฏิบัติอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ตามพระบัญญัติใหม่ พระบัญญัติแห่งความรัก
ข้อ 34 ฆราวาสมีส่วนร่วมในสังฆภาพทั่วไปและในคารวกิจ : พระเยซูคริสต-เจ้า องค์พระสงฆ์สูงสุดนิรันดร เพราะทรงมีพระประสงค์จะให้พวกฆราวาสด้วยเป็นพยานยืนยันและเป็นผู้ร่วมพระภารกิจของพระองค์ จึงได้ทรงบันดาลให้พวกฆราวาสมีชีวิตด้วยพระจิตของพระองค์ และทรงกระตุ้นเตือนพวกเขาเรื่อยไปไม่หยุดหย่อนให้ไปสู่ความดีทุกอย่างและความครบครันทุกประการ
การกระทำทุกอย่างทุกประการของเขา เช่น การสวดมนต์ภาวนา การเริ่มงานแพร่ธรรม ดำเนินชีวิตสามีภรรยาและครอบครัว การงานที่เขาประกอบทุกๆวัน การพักผ่อนหย่อนใจ ในเมื่อเขากระทำขณะมีพระจิตเจ้าประทับอยู่ และกระทั่งความยุ่งยากต่างๆของชีวิต ในเมื่อเขาเพียรอดทน สิ่งทั้งหลายดังกล่าวนี้ล้วนเป็นเครื่องบูชาฝ่ายจิตใจ "เป็นบูชาที่พอพระทัยของพระเป็นเจ้า โดยอาศัยพระเยซูคริสตเจ้า" (1 ปต 2:5) ในการฉลองพิธีกรรมพระสดุดีบูชา เครื่องบูชาของเขานี้ เมื่อนำมาร่วมกับการบูชาถวายพระกายของพระคริสตเจ้า ก็ได้รับนำขึ้นทูลถวายแด่พระบิดาเจ้าด้วยความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง อาศัยวิธีการอันนี้เอง ฆราวาสทั้งหลายในเมื่อประพฤติความศักดิ์สิทธิ์ เขาก็กราบนมัสการพระเป็นเจ้าทุกแห่งหน นับว่าเขายกถวายโลกทั้งโลกแด่พระเป็นเจ้า
ข้อ 35 ฆราวาสมีส่วนร่วมในหน้าที่ประกาศกของพระคริสตเจ้าและในการเป็นพยานยืนยัน : เพราะฉะนั้น พวกฆราวาสแม้กำลังทำกิจธุระฝ่ายโลก เขาก็สามารถทั้งต้องทำธุรกิจอันประเสริฐนั้น คือการประกาศพระวรสารแก่ชาวโลก มีฆราวาสบางคน ในกรณีที่ขาดแคลนศาสนบริกรหรือศาสนบริกรเองมีความขัดข้องทำหน้าที่ของตนไม่ได้ เช่น ในคราวถูกเบียดเบียน ฆราวาสก็เข้าทำหน้าที่แทนอำนาจที่ตนได้รับ มีฆราวาสจำนวนมากกว่าอีกที่ยอมเสียสละกำลังของเขาทั้งหมดเพื่อภารกิจงานแพร่ธรรม อย่างไรก็ดีฆราวาสทุกคนไม่เว้นใครเลย ต้องร่วมมือเพื่อขยับขยายและเพื่อความเจริญก้าวหน้าของพระคริสตเจ้าในโลกนี้ ฉะนั้นฆราวาสทั้งหลายจงใช้วิถีทางหาความรู้ให้มากยิ่งขึ้นเสมอในด้านความจริงที่พระโปรดไขแสดง และจงวิงวอนเร่งเร้าให้ตนได้รับพระพรตามปรีชาจากพระเป็นเจ้าด้วยเทอญ
ข้อ 36 ฆราวาสส่วนในการเป็นกษัตริย์ : พระคริสตเจ้าทรงนอบน้อมเชื่อฟังจนกระทั่งได้ทรงยอมตาย เพราะเหตุนี้พระบิดาจึงได้ทรงเทิดทูนพระองค์ขึ้น (ฟป 2:8-9) โปรดให้เสด็จเข้าสู่พระราชัยอันทรงเกียรติของพระองค์ พระองค์ท่านนี้ สรรพสิ่งอยู่ใต้อำนาจของพระองค์จนกว่าจะทรงนำพระองค์และสรรพสิ่งทั้งหลายให้เข้ามาอยู่ใต้อำนาจของพระบิดา ทั้งนี้เพื่อให้พระเป็นเจ้าทรงเป็นทุกสิ่งในทุกสิ่ง (1 ดร 15:27-28) อำนาจอันนี้ พระองค์ได้ถ่ายทอดให้แก่พวกสานุศิษย์เพื่อพวกเขาจะได้อิสรเสรีอย่างกษัตริย์และเพื่อให้พวกเขา เมื่อได้เสียสละตนเองและบำเพ็ญชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ เขาจะมีชัยต่อราชัยของบาปที่ตั้งอยู่ในตัวเอง (รม 6:12) ยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อให้เขารับใช้คนอื่น เพราะเห็นแก่พระคริสตเจ้า อาศัยความสุภาพถ่อมตนและความเพียรอดทน เขาจะได้นำพวกพี่น้องเข้าเฝ้าพระราชา ซึ่งผู้ใดรับใช้พระองค์ผู้นั้นก็เป็นกษัตริย์ พระคริสตเจ้ามีพระประสงค์ให้แม้กระทั่งสัตบุรุษฆราวาสทำการงานขยับขยายพระราชัยของพระองค์ให้แผ่ไพศาลออกไป
เพราะฉะนั้นบรรดาฆราวาสผู้อยู่ในแนวหน้า สันทัดในกิจการฝ่ายโลก ความอุตสาหะทำการงาน พร้อมทั้งพระหรรษทานต่างๆของพระคริสตเจ้าของพระคริสตเจ้าที่เขามีอยู่ย่อมค้ำชูเขาขึ้น คอยช่วยเหลืออยู่ภายในตัวเขา
นอกนั้นพวกฆราวาสเมื่อรวมกำลังกันยังสามารถบำบัดรักษาองค์กรและสถานะต่างๆของโลกเมื่อมันโน้มนำไปสู่บาป เขาจะนำให้สิ่งต่างๆเหล่านี้เข้ามาสู่หลักความยุติธรรมแล้วช่วยสนับสนุนคุณธรรม แทนที่จะเป็นอุปสรรคขัดข้อง...
สังคายนาวาติกันที่ 2 ในพระสมณะกฤษฎีกาว่าด้วย การแพร่ธรรมของฆราวาส (APOSTOLICAM ACTUOSITATEM) กล่าวถึงความสำคัญของฆราวาสในเรื่องงานแพร่ธรรม (ข้อ 21) ว่า "ถ้ายังไม่มีคณะฆราวาสที่เป็นฆราวาสจริงๆทำงานร่วมกับพระธานานุกรม ก็ถือว่าเป็นพระศาสนจักรยังไม่ได้ตั้งขึ้นอย่างแท้จริง ยังไม่มีชีวิตอย่างเต็มที่และยังไม่เป็นเครื่องหมายอันสมบูรณ์บอกพระคริสตเจ้าในหมู่มนุษย์ ข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าจะหยั่งรากลึกลงไปในจิตใจ ชีวิตและงานของชาติใดชาติหนึ่งไม่ได้ถ้าไม่มีฆราวาสทำงานอย่างขันแข็ง หน้าที่สำคัญของฆราวาสทั้งหญิงและชายคือการเป็นองค์พยานประกาศพระคริสตเจ้า ซึ่งเขาต้องทำด้วยการดำรงชีวิตและคำพูดในครอบครัวในกลุ่มสังคมและในวงงานอาชีพ เพราะว่าในตัวเขาเหล่านั้นต้องปรากฎตัวมนุษย์คนใหม่ซึ่งสร้างขึ้นด้วยความเที่ยงธรรมและความศํกดิ์สิทธ์อันแท้จริงตามแบบพระเป็นเจ้า (อฟ 4:24) ฆราวาสต้องร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อนร่วมชาติด้วยความรักอย่างจริงใจ เพื่อให้ พันธะใหม่ที่ต้องร่วมใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามที่รหัสธรรมเรื่องพระคริสตเจ้าสอนนั้นปรากฏในความประพฤติของเขา ฆราวาสยังต้องถ่ายเทความเชื่อถึงพระคริสตเจ้าในหมู่ผู้ที่ตนผูกพันอยู่ด้วยชีวิตและอาชีพ"
1.2 ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร
กฎหมายพระศาสนจักรกล่าวถึงฆราวาสโดยเฉพาะในบรรพ 2 (ประชากรของพระเจ้า) ภาค 1 (คริสตชน) ลักษณะที่ 2 : หน้าที่และสิทธิของคริสตชนฆราวาส มาตรา 224-231 โดยสามารถแบ่งเป็นสาระสำคัญ ดังนี้
1.2.1 งานแพร่ธรรมของฆราวาส : ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 225 วรรค 2 กล่าวว่า "ฆราวาสแต่ละคนมีหน้าที่ตามสถานภาพของตนในการทำให้ระเบียบของกิจการฝ่ายโลกซึมซาบและสมบูรณ์ไปด้วยจิตตารมย์แห่งพระวรสาร ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นพยานถึงพระคริสต์ในลักษณะพิเศษ โดยการประกอบธุรกิจ รวมทั้งโดยการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายโลกนั่นเอง"
กฎหมายที่ต้องการบอกถึงสิทธิและหน้าที่ของฆราวาสโดยบอกถึงแนวทางแห่งการแพร่ธรรมด้วยกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 224-231
พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกปัจจุบัน (GAUDIUM ET SPES) ข้อ 43,2 กล่าวว่า "อาชีพและงานทางโลกเป็นของฆราวาส โดยเฉพาะแม้ว่าไม่ใช่อย่างเด็ดขาดทีเดียว ฉะนั้นเมื่อปฏิบัติงานเป็นคนๆก็ดีหรือเป็นหมู่ๆก็ดี ในฐานะเป็นพลโลก ฆราวาสมิใช่แต่ต้องถือกฎที่ได้แก่แต่ละวิชาเท่านั้น แต่ควรเอาใจใส่หาความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงใส่ตัวในวิชานั้นๆด้วย ฆราวาสควรเต็มใจร่วมมือกับผู้ที่มุ่งถึงจุดหมายอันเดียวกัน เมื่อฆราวาสสำนึกถึงสิ่งที่ความเชื่อเรียกร้องให้ทำและประกอบด้วยกำลังของความเชื่อแล้ว เมื่อมีโอกาสเขาไม่ควรลังเลใจที่จะคิดการริเริ่มใหม่ๆและทำจนสำเร็จลุล่วงไป..."
ข้อ 43,4 กล่าวว่า "ฆราวาสต้องมีส่วนร่วมในชีวิตทั่วไปของพระศาสนจักรอย่างแข็งขันนั้น มิใช่แต่ต้องชุบโลกให้มีจิตตารมณ์ตามพระคริสตธรรมเท่านั้น แต่ยังได้รับเรียกมาให้เป็นพยาน ประกาศพระคริสตเจ้าในทุกกรณีและในท่ามกลางประชาคมมนุษย์ด้วย"
1.2.2 สิทธิและหน้าที่ของฆราวาส : กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 224 กล่าวว่า "นอกจากหน้าที่และสิทธิที่คริสตชนทุกคนพึงมีตามปกติและตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตราอื่นๆ คริสตชนฆราวาสยังมีหน้าที่และสิทธิต่างๆตามที่มีบัญญัติไว้ในมาตราต่างๆของลักษณะนี้" (ลักษณะ 2 : หน้าที่และสิทธิของคริสตชนฆราวาส)
ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรที่เกี่ยวข้องกับฆราวาสอื่นๆมีดังนี้
กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 207 วรรค 1 กล่าวว่า "โดยการกำหนดของพระเป็นเจ้า ในพระศาสนจักรมีคริสตชนที่เป็นศาสนบริกรศักดิ์สิทธิ์ (SACRED MINISTER) ซึ่งตามนัยบอกฎหมายเรียกว่า สมณะ (CLERIC) ส่วนคริสตชนอื่นเรียกว่า ฆราวาส"
ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรมาตรานี้ต้องการบอกว่าในพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกของเราจะประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นฆราวาสและสมณะหรือนักบวชหรือผู้ที่ได้รับการเสก สมาชิกของพระศาสนจักรส่วนใหญ่เป็นฆราวาส ฆราวาสจึงต้องสำนึกถึงหน้าที่ของตนอย่างดี ดูจากปฏิทินคาทอลิกปี 2550/2007 บอกสถิติคาทอลิกในประเทศไทยไว้ว่ามีจำนวนคาทอลิกหรือฆราวาส 332,227คน มีพระสงฆ์ 714 องค์ภราดา 114 ท่านภคินีหรือซิสเตอร์ 1,494 ท่าน
ถ้าเราคิดเป็นค่าทางคณิตศาสตร์จะสรุปได้ว่า พระศาสนจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยประกอบด้วยฆราวาสร้อยละ 99.31 ผู้ถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าหรือสมณะคิดเป็นร้อยละ 0.69 ตัวเลขทางด้านคณิตศาสตร์นี้ปรากฎให้เห็นชัดว่าฆราวาสคือสมาชิกส่วนใหญ่ของพระศาสนจักร ฆราวาสคือพลังของพระศาสนจักรจริงๆ
กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 208-223 จะกล่าวถึงทุกคน กล่าวคือทั้งสมณะและฆราวาส ส่วนกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 225-231 กล่าวถึงสิทธิและหน้าที่ของฆราวาสซึ่งเราจะศึกษาในบทต่อไป กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 759 กล่าวว่า "คริสตชนฆราวาส โดยเหตุที่ได้รับศีลล้างบาปและศีลกำลังก็เป็นพยานถึงข่าวดีแห่งพระวรสารทั้งด้วยวาจาและด้วยตัวอย่างแห่งชีวิตคริสตชน พวกเขายังสามารถได้รับเชิญให้เข้าร่วมกับพระสังฆราชและพระสงฆ์ในการปฏิบัติศาสนบริกรพระวาจาด้วย"
กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1282 และ 1287 วรรค 1 กล่าวถึงงานดูแลและบริหารทรัยพ์สินของพระศานจักรโดยฆราวาส โดยมาตรา 1282 กล่าวว่า "ทุกคนไม่ว่าจะเป็นสมณะหรือฆราวาส จึงมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพย์สินฝ่ายพระศาสนจักร โดยตำแหน่งอันชอบด้วยกฎหมาย ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนในนามของพระศาสนจักร ตามกฎเกณฑ์ของกฎหมาย"
กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1287 วรรค 1 กล่าวว่า "โดยตำหนิประเพณีที่ตรงกันข้าม ผู้บริหารทั้งที่เป็นสมณะและฆราวาสซึ่งทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินฝ่ายพระศาสนจักรใดๆไม่ว่า ที่มิถูกถอนออกจากอำนาจปกครองของพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลสังฆราชโดยชอบด้วยกฎหมาย มีหน้าที่ต้องส่งรายงานทุกปีแก่ผู้ใหญ่ผู้ทรงอำนาจท้องถิ่น ซึ่งท่านต้องส่งรายงานนั้นแก่คณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจเพื่อตรวจสอบ"