PAX ET CARITAS : สันติภาพและความรัก

กฎหมายพระศาสนจักรในมือฆราวาส โดย คุณพ่อไพยง  มนิราช
เรื่องที่ 3 งานอภิบาลและแพร่ธรรมของฆราวาส
3.1 งานอภิบาลและแพร่ธรรมของฆราวาสตามประมวลกฎหมายของพระศาสนจักร

              กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 225 วรรค 1 กล่าวว่า "เนื่องจากฆราวาสได้รับมอบหมายหน้าที่จากพระเป็นเจ้าในการแพร่ธรรมเช่นเดียวกับคริสตชนทุกคนโดยทางศีลล้างบาปและศีลกำลัง ดังนั้นจึงมีหน้าที่และสิทธิทั่วไปในการทำงานในลักษณะส่วนบุคคลหรือในลักษณะรวมกันเป็นสมาคม เพื่อว่าสารของพระเป็นเจ้าเรื่องความรอด สามารถเป็นที่รู้จักและยอกรับจากคนทั่วทุกมุมโลก หน้าที่นี้จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในสภาวการณ์ที่ประชาขนสามารถได้ยินพระวรสาร และรู้จักพระคริสต์ได้เพียงจากฆราวาสเท่านั้น"

        นัยของกฎหมายมาตรานี้ คือ ฆราวาสมีหน้าที่ทำงานแพร่ธรรมตามที่ได้ปฏิญาณสัญญาในเวลารับศีลล้างบาปและศีลกำลัง และการทำงานแพร่ธรรมนั้นอาจเป็นการทำแบบ
                   1.) ส่วนตัวหรือส่วนบุคคคล

                   2.) รวมกันเป็นกลุ่มหรือสมาคม องค์กร

       โดยมุ่งประกาศข่าวดีเรื่องความรอดแก่เพื่อนมนุษย์ทุกคนในโลก กล่าวอย่างง่ายๆ คือเนื้อหาที่จะประกาศ คือพระวรสาร โดยมีเป้าหมายที่กว้าง คือทุกคนในโลก ดังนั้นงานแพร่ธรรมของฆราวาสตามกฎหมายมาตรานี้จึงมีเป้าหมายที่กว้างไกลและไม่จบสิ้น งานแพร่ธรรมของฆราวาสจึงกว้างไกลและไม่จบสิ้นเพราะประชากรของพระเป็นเจ้ามีมากกว่า 6,000 ล้านคน

          กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 204 วรรค 1 กล่าวว่า "คริสตชน โดยเหตุที่ถูกผนึกเป็นหนึ่งเดียวในพระพระคริสต์ทางศีลล้างบาป รวมกันเป็นประชากรของพระเป็นเจ้า เนื่องจากพวกเขามีส่วนร่วมในหน้าที่สงฆ์ หน้าที่ประกาศก หน้าที่กษัตริย์ของพระคริสต์ ตามรูปแบบของตนเอง ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้รับเรียกให้ปฏิบัติพันธะกิจ ซึ่งพระเป็นเจ้าได้มอบหมายให้พระศาสนจักรปฏิบัติในโลกตามสภาพเฉพาะของแต่ละคน"

        นัยของกฎหมายมาตรา 204 วรรค 1 คือ คริสตชนเป็นประชากรของพระเป็นเจ้าและเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรโดยทางศีลล้างบาป คริสตชนทุกคนจึงมีหน้าที่สงฆ์ ประกาศกและกษัตริย์ตามฐานะหน้าที่ของตน เช่น นักบวช พ่อบ้านแม่บ้าน ครู ข้าราชการ หน้าที่ทั้ง 3 ประการนี้ คือพันธะกิจของคริสตชนทุกคนในพระศาสนจักร

          กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 211 กล่าวว่า "คริสตชนทุกคนมีหน้าที่และสิทธิในการทำงาน เพื่อให้สารของพระเป็นเจ้าเรื่องความรอด แผ่ไปถึงมนุษย์ทุกคน ทุกยุค ทุกสมัย ทั่วพิภพ ยิ่งวันยิ่งมากขึ้น"

        นัยของกฎหมายมาตรา 211 คือ งานแพร่ธรรมเป็นสิทธิและหน้าที่ของคริสตชนทุกคน รายละเอียดของหน้าที่ คือ

          1) ประกาศข่าวดีเรื่องความรอดซึ่งเป็นเนื้อหาหลักและสำคัญ

          2) เป้าหมายของการประกาศข่าวดี คือ มนุษย์ทุกคน ทุกยุค ทุกสมัย ทั่วพิภพ

          3) สภาพความสำเร็จของการประกาศข่าวดี คือ มนุษย์ได้รับข่าวดียิ่งวันยิ่งมากขึ้น

          งานแพร่ธรรมของฆราวาสจึงไม่น่ามีการจบ แต่ยิ่งวันยิ่งมากขึ้น โดยเริ่มจากบุคคลในครอบครัว สังคม หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ประเทศ และโลก

         

        กฎหมายพระศาสนจักรอีกหนึ่งมาตราที่กล่าวถึงงานอภิบาลและแพร่ธรรมของฆราวาส คือมาตรา 216 กล่าวว่า "เนื่องจากคริสตชนทุกคนมีส่วนร่วมในพันธกิจของพระศาสนจักร จึงมีสิทธิสนับสนุนหรือค้ำจุนกิจการการแพร่ธรรมด้วยการริเริ่มด้วยตนเองตามสถานะและสภาพของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ห้ามใช้ชื่อคาทอลิกโดยพลการในการริเริ่มใดๆ เว้นไว้แต่ว่าได้รับความเห็นชอบจากผู้ทรงอำนาจฝ่ายพระศาสนจักร"

          นัยของกฎหมายมาตรา 216 นี้ คือ

         1)      คริสตชนทุกคนมีหน้าที่ทำงานแพร่ธรรมซึ่งเป็นพันธกิจ(MISSION)ของคริสตชนทุกคนผู้เป็นสมาชิกของพระศาสนจักร

         2)      คริสตชนทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ช่วยเหลือกิจการงานแพร่ธรรมตามฐานะหน้าที่ของแต่ละคน

         3)      คริสตชนสามารถริเริ่มกิจกรรมงานแพร่ธรรมหรืองานช่วยเหลือแพร่ธรรมได้เสมอ

        4)      การตั้งชื่อหน่วยงาน กลุ่มหรือองค์กรโดยมีชื่อเกี่ยวกับแม่พระ นักบุญและพระเยซูเจ้า จะต้องขออนุญาตพระสงฆ์ประจำสังฆมณฑลก่อน เพราะการอ้างนามของพระเยซูเจ้า แม่พระและนักบุญต้องมีความเหมาะสม

           บทบาทงานแพร่ธรรมและอภิบาลยังปรากฎในรูปแบบพ่อแม่ทูนหัวที่ต้องอภิบาลและแพร่ธรรมลูกทูนหัวของตนเองในกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 873-874 ดังนี้

 

         1) กฎหมายมาตรา 873 กล่าวว่าคริสตชนต้องมีพ่อแม่อุปถัมภ์ทางด้านความเชื่อดังนี้ "ต้องมีพ่ออุปถัมภ์คนหนึ่ง หรือแม่อุปถัมภ์คนหนึ่งเท่านั้น หรือจะมีทั้งพ่ออุปถัมภ์และแม่อุปถัมภ์ก็ได้"

         2) กฎหมายมาตรา 874 วรรค 1 กล่าวถึง คุณสมบัติของผู้ทำงานอภิบาลและแพร่ธรรมและแพร่ธรรมในฐานะพ่อแม่ทูนหัวหรือพ่อแม่อุปถัมภ์ดังนี้ "บุคคลที่รับหน้าที่พ่อแม่อุปถัมภ์นั้นต้อง

              ก)     ได้รับการเลือกจากผู้จะรับศีลล้างบาปเอง หรือจากบิดามารดา หรือจากผู้ทำหน้าที่แทนบิดามารดาของเขาหรือถ้าขาดบุคคลเหล่านี้ ให้เจ้าอาวาสหรือศาสนบริกรเลือกแทน บุคคลที่เป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ต้องมีความเหมาะสมมีเจตจำนงรับหน้าที่นี้

              ข)      มีอายุครบ 16 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่พระสังฆราชสังฆมณฑลได้กำหนดอายุเป็นอย่างอื่นหรือเจ้าอาวาสหรือศาสนบริกรเห็นว่ามีเหตุอันควรยกเว้นได้

              ค)      เป็นคาทอลิกที่รับศีลล้างกำลังหรือศีลมหาสนิท และเจริญชีวิตที่สอดคล้องกับความเชื่อซึ่งเหมาะสมกับบทบาทที่จะรับ

              ง)      ไม่เป็นบุคคลที่ยังต้องโทษใดๆทางการกฎหมายพระศาสนจักร ไม่ว่าโทษที่ลงทัณฑ์แล้ว หรือโทษที่ได้ประกาศโดยชอบ

              จ)      ไม่เป็นบิดาหรือมารดาของผู้ที่จะรับศีลล้างบาป"

 

3.2 งานอภิบาลและแพร่ธรรมของฆราวาสตามคำสอนของสังคายนาวาติกันที่ 2

 

3.2.1  พระสมณะกฤษฎีกาว่าด้วยการแพร่ธรรมของฆราวาส(APOSTOLICAM  ACTUOSITATEM)

          3.2.1.1        บทนำ : พระสมณะกฤษฎีกาฉบับนี้ สภาสังคายนามุ่งจะบรรยายธรรมชาติ ลักษณะ และประเภทต่างๆของการแพร่ธรรม โดยฆราวาสมุ่งจะแถลงหลักการขั้นพื้นฐานและให้คำแนะนำในด้านอภิบาลสัตบุรุษเพื่อทำให้การแพร่ธรรมได้ผลดียิ่งขึ้น

          3.2.1.2        ข้อ 24 กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของพระฐานานุกรมที่จะต้องส่งเสริมการแพร่ธรรมชองฆราวาส ให้หลักการและช่วยเหลือทางฝ่ายวิญญาณชักนำให้ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของพระศาสนจักรและเอาใจใส่ให้ถือตามคำสอนและบทบัญญัติขั้นมูลฐาน

 

3.2.2 พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักร (LUMEN GENTIUM)

          3.2.2.1        หน้าที่ของฆราวาสในการทำงานแพร่ธรรม ปรากฏอยู่ในข้อ 33 ความว่า เพราะฉะนั้น ฆราวาสทุกคนจึงมีภาระอันสูงศักดิ์ บังคับให้เขาออกแรง ทำงานเพื่อบรรลุตามความประสงค์ของพระเป็นเจ้าโดยนำเอาความรอดไปสู่มนุษย์ทุกๆคน ทุกๆสมัย ทุกๆแห่งหน และยิ่งวันยิ่งมากขึ้น ฉะนั้นจึงต้องเปิดทางทุกๆด้านให้พวกฆราวาสเองเข้ามาร่วมมือทำงานตามพละกำลังของเขาและตามความจำเป็นของกาลเวลา ในภารกิจของพระศาสนจักรเอง กล่าวคือ งานบันดาลความรอดพ้นโดยอาศัยพวกฆราวาสร่วมมือลงแรงด้วย

         3.2.2.2        ข้อ 36 กล่าวถึงหน้าที่ของฆราวาสในการสนับสนุนงานแพร่ธรรมในองค์กรคาทอลิก "นอกนั้นพวกฆราวาส เมื่อรวมกำลังกัน ยังสามารถบำบัดรักษาองค์การและสถานะต่างๆของโลกเมื่อมันโน้มนำไปสู่บาป เขาจะนำสิ่งต่างๆเหล่านี้เข้ามาสู่หลักความยุติธรรมและช่วยสนับสนุนคุณธรรม แทนที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวาง การปฏิบัติดังนี้เป็นการทำความเจริญแก่วัฒนธรรมและทำให้การปฏิบัติงานของมนุษย์ดีชอบ ชุ่มฉ่ำด้วยคุณค่าของศีลธรรมโดยการกระทำอย่างนี้เองอีกด้วย เนื้อนาของโลกจะสรรพพร้อมที่จะรับเมล็ดพันธุ์แห่งพระวาจาของพระป็นเจ้า และประตูในสถานที่ต่างๆจะเปิดอ้าเพื่อต้อนรับพระศาสนจักร เป็นทางนำสันติสุขเข้ามาสู่โลกจักรวาล"

 

3.2.3 พระสมณะกฤษฎีกาว่าด้วยงานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร (Ad GENTES)

          กล่าวถึงหน้าที่แพร่ธรรมของฆราวาส ปรากฏในข้อ 21 ความว่า "หน้าที่สำคัญของฆราวาสทั้งชายและหญิง ก็คือการเป็นองค์พยานประกาศพระคริสตเจ้า ซึ่งเขาต้องทำด้วยการดำรงชีวิตและคำพูดในครอบครัว ในกลุ่มสังคมและในวงงานอาชีพ เพราะว่าในตัวเขาเหล่านั้นจะต้องปรากฏตัวมนุษย์คนใหม่ซึ่งสร้างขึ้นด้วยความเที่ยงธรรมและความศักดิ์สิทธิ์อันแท้จริงตามแบบพระเป็นเจ้า (อฟ 4:24) เขาต้องสำแดงให้เห็นชีวิตใหม่ในวงสังคมและวัฒนธรรมของบ้านเมืองตามประเพณีนิยมของชาติ เขาต้องรู้จักวัฒนธรรมที่กล่าวนี้ ต้องชำระให้บริสุทธิ์บำรุงรักษาให้งอกงามตามสถานการณ์ใหม่ ทำให้สมบูรณ์ดีพร้อมในพระคริสตเจ้า แล้วดังนี้ ความเชื่อถือพระคริสตเจ้ากับชีวิตของพระศาสนจักรก็ไม่ใช่สิ่งที่สังคมซึ่งเขามีชีวิตอยู่ไม่รู้จักอีกต่อไป แต่จะซึมซาบเข้าไปในสังคมและทำให้สังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไป"

 

3.3 คำสอนของพระสันตะปาปาในเรื่องงานอภิบาลและแพร่ธรรมของฆราวาส

          ผู้เขียนขอนำเสนอเฉพาะคำสอนที่สำคัญๆเท่านั้น ดังต่อไปนี้

 

           3.3.1  พระสมณสารเรื่องการประกาศพระวรสารในโลกปัจจุบันโดยพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 6 (EVANGELII NUNTIANDI) ทรงกล่าวถึงงานแพร่ธรรมของฆราวาสในข้อที่ 70 ว่า "ฆราวาสมีกระแสเรียกที่กำหนดให้เขาอยู่ในกลางโลกและต้องทำงานฝ่ายโลกซึ่งมีมากมายหลายอย่างต่างชนิด ฉะนั้นเขาจะต้องทำงานประกาศพระวรสารแบบพิเศษเฉพาะ   งานใกล้มือที่มีให้เขาทำเป็นขั้นแรกนั้น ไม่ใช่การก่อตั้งและพัฒนากลุ่มคริสตชน นั่นเป็นหน้าที่ของผู้อภิบาลสัตบุรุษ แต่เป็นการนำเอากำลังความสามารถทุกๆอย่างอันเป็นของพระคริสตเจ้า และขอพระวรสารออกมาใช้กำลังความสามารถเหล่านั้นซ่อนเร้นอยู่ แต่ออกฤทธิ์และมีแฝงอยู่ในกิจกรรมต่างๆของโลกแล้ว ซึ่งฆราวาสจะทำการประกาศพระวรสารนั้น ก็คือโลกกว้างและยุ่งยากแห่งการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ ความสัมพันธ์กันระหว่างชาติ สื่อมวลชน ตลอดจนกิจการอื่นบางเรื่องที่จะต้องปรับให้ถูกแนวพระวรสาร เช่น เรื่องความรักประสามนุษย์ ครอบครัว การอบรมเด็กและคนวัยรุ่น งานอาชีพ ความทุกข์ทรมาน ถ้าฆราวาสผู้ร่วมทำงานในเรื่องเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากจิตตามรมณ์พระวรสาร ถ้าเขาสามารถเข้าใจดีถึงงานและแน่วแน่ในการนำพลังขององค์พระคริสตเจ้าที่หลายครั้งซ่อนเร้นและเงียบสงบในตัวพวกเขา ดังนี้แล้วกิจกรรมของพวกเขาจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเสริมสร้างพระราชัยของพระเป็นเจ้าและในการนำความหลุดพ้นในองค์พระคริสต์ ดังนี้กิจกรรมฝ่ายโลกของพวกเขาสัมฤทธิ์ผลและไม่เสื่อมลง ตรงกันข้ามจะทำให้พวกเขาพบความสำเร็จอันสูงส่งในกิจการงานใหม่นี้ "

         3.3.2  พระสมณสารเรื่องครอบครัวคริสตชนในโลกปัจจุบันโดยพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 (FAMILIARIS CONSORTIO) ทรงกล่าวถึงการแพร่ธรรมของฆราวาสแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในรูปแบบการดำเนินชีวิตครอบครัวในข้อที่ 1.3 การแพร่ธรรมของฆราวาสความว่า "แนวความคิดหลักอันที่สามซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปในพระสมณสาร ก็คือ บทบาทของฆราวาสในภารกิจต่างๆของพระศาสนจักร ดังนั้นเราจึงควรมาสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านความหมายของคำๆนี้ในเทววิทยาที่เกี่ยวกับฆราวาส พระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ได้ทรงพูดถึงฆราวาสเป็นฝูงแกะที่อ่อนน้อมต่อการนำของคนเลี้ยงแกะ พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ได้ก่อตั้งกิจการคาทอลิกและทรงกระตุ้นให้ฆราวาสมีส่วนร่วมในภารกิจแพร่ธรรมของพระศาสนจักร แต่ในฐานะที่ได้เป็นผู้รับมอบหมายจากพระสังฆราช พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 สังคายนาวาติกันที่ 2 และพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ก็ได้ขยายความภารกิจเฉพาะของฆราวาสในโลกว่าบทบาทนี้ไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ผู้รับผิดชอบทางศาสนากำหนดให้เท่านั้น แต่เป็นผลโดยตรงมาจากศีลล้างบาป"

 

         3.3.3  พระสมณสารเรื่องพระพันธกิจขององค์พระผู้ไถ่โดยพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่2 (REDEMPTORIS MISSIO) พระองค์กล่าวถึงฆราวาสทุกคน คือธรรมทูต โดยอาศัยอำนาจแห่งศีลล้างบาป ข้อ 71 กล่าวว่า "พระสันตะปาปาหลายพระองค์ในยุคหลังมานี้ ได้เน้นเป็นอันมากในเรื่องความสำคัญของบทบาทฆราวาสในกิจกรรมแพร่ธรรมในพระดำรัสเตือนเรื่อง CHRISTIFIDELES LAICI ข้าพเจ้าก็เช่นกัน ได้พูดอย่างชัดเจนถึง "พันธกิจการแพร่ธรรมถาวร ซึ่งก็คือการนำพระวรสารไปเผยแพร่แก่มนุษย์ทุกคน ซึ่งมีจำนวนเป็นล้านๆคนทั้งชายและหญิงที่ยังไม่ได้รู้จักพระคริสต์ผู้ไถ่กู้มนุษย์ให้รอด" และได้พูดถึงการผูกพันตนของสัตบุรุษฆราวาสในเรื่องเดียวกันนี้ด้วย งานแพร่ธรรมสู่นานาชาติ เป็นงานที่เกี่ยวพันไปถึงประชากรทั้งปวงของพระเจ้า ถึงแม้ว่าการก่อตั้งพระศาสนจักรใหม่ๆจะเรียกร้องให้ต้องมีศีลมหาสนิทซึ่งหมายถึงศาสนบริการของผู้เป็นสงฆ์ กิจการแพร่ธรรมซึ่งปฏิบัติได้ในรูปแบบหลากหลาย ก็ยังตกเป็นภาระหน้าที่ของสัตบุรุษทุกคน"     

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทยรวมพลังรักษ์โลก ค.ศ.2024-2025

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2024

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก