ธรรมเนียมการคลุมผ้า ไม้กางเขนและรูปศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในระหว่างมหาพรต
แม้ธรรมเนียมการคลุมผ้าไม้กางเขนและรูปศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ นั้นไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตั้งแต่หลังสังคายนาวาติกันที่ 2 (ค.ศ. 1962-1965) จึงทำให้ธรรมเนียมนี้หายไปในบางที่ แต่บางที่ก็ยังคงรักษาธรรมเนียมนี้ไว้จนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การคลุมผ้าหรือไม่คลุมผ้า แต่อยู่ที่ความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการคลุมผ้า คือ เพื่อเป็นเครื่องหมายของการสำนึกผิด อันเป็นหัวใจสำคัญของเทศกาลมหาพรต และเพื่อให้คริสตชนมุ่งเน้นไปที่การกลับคืนชีพ (ปัสกา) ของพระคริสตเจ้า
โดยมีธรรมเนียมปฏิบัติคือ การคลุมผ้าจะกระทำตั้งแต่ทำวัตรเย็นที่ 1 (วันเสาร์เย็น) ของวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต (Passion Sunday) ซึ่งเป็นการเริ่มต้นช่วงเวลาพระทรมาน (Passiontide) หรือถ้าช้าสุดก็จะคลุมผ้าในวันพฤหัสฯ ศักดิ์สิทธิ์ก่อนมิสซาระลึกถึงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย แต่ในบางที่ก็อาจจะมีธรรมเนียมการคลุมผ้าตั้งแต่วันพุธรับเถ้า หรือสัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรตแล้ว
ผ้าที่ใช้คลุมนั้น จะเป็นผ้าสีม่วงที่มีน้ำหนักเบาและไม่ตกแต่งลวดลายใด ๆ โดยจะคลุมไม้กางเขนและรูปศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ยกเว้น รูป 14 ภาค และไม้กางเขนแห่ (หรือรูปนักบุญโยเซฟ ในเดือนมีนาคม)
การเปิดผ้าคลุมนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ไม้กางเขน จะเปิดในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์หลังจากพิธีนมัสกางกางเขน และรูปศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ จะเปิดในวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนพิธีมิสซาตื่นเฝ้า หรือจนถึงบทพระสิริรุ่งโรจน์ในพิธีมิสซาตื่นเฝ้า