PAX ET CARITAS : สันติภาพและความรัก

มิสซาวันอาทิตย์
มิสซาวันอาทิตย์

                 ในบทบัญญัติพื้นฐานของพระศาสนจักรข้อที่ 1 กล่าวว่า “จงร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ (มิสซา) และหยุดทำงานในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ” ดังนั้นการร่วมมิสซาวันอาทิตย์จึงเป็นหน้าที่ซึ่งคริสตชนจะต้องยึดถือและปฏิบัติ แต่บางครั้งก็อาจมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติได้ จึงเป็นที่มาของคำถามและคำตอบในครั้งนี้


ถาม  การขาดมิสซาวันอาทิตย์เป็นบาปหรือไม่?
ตอบ  คำถามนี้ถือเป็นคำถามยอดฮิตติดอันดับต้น ๆ ของคริสตชนเลยทีเดียว แต่ก่อนที่จะตอบว่าเป็นบาปหรือไม่เป็นบาปนั้น เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “บาป” เสียก่อน ซึ่งขอหยิบยกคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1849 ที่อธิบายว่า “บาป” คือ “การทำผิดขัดต่อเหตุผล ความจริงและมโนธรรมที่ถูกต้อง เป็นการล่วงเกินความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ทำร้ายธรรมชาติของมนุษย์และทำลายความเป็นปึกแผ่นของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกมาเป็นคำพูด การกระทำหรือความต้องการ” (ฝ่ายงานอภิบาลและธรรมทูตอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, 2542) 

          จากคำอธิบายดังกล่าวนี้ เราจึงมาพิจารณากันว่า สาเหตุของการขาดมิสซาวันอาทิตย์นั้นคืออะไร? ถ้ามีสาเหตุจากความป่วยไข้หรือชราภาพ จึงเป็นอุปสรรคให้ไม่สามารถไปร่วมมิสซาได้ แต่ว่าเรามีความปรารถนาที่จะไปหรือไม่ได้ตั้งใจที่จะขาด ก็ไม่เป็นบาปเพราะเราไม่ได้มีเจตนาล่วงเกินความรักต่อพระเจ้า แต่ถ้ามีสาเหตุจากความเกียจคร้าน ก็แน่นอนว่าเป็นบาป เพราะเราได้ล่วงเกินความรักต่อพระเจ้าโดยไม่ได้แสดงถึงความรักที่เรามีต่อพระองค์ด้วยการไปร่วมมิสซา

          จึงสรุปว่า การที่จะตอบว่าบาปหรือไม่บาปนั้น จะต้องพิจารณาที่เจตนา เหตุผลและสภาพแวดล้อมของการขาดมิสซาเป็นกรณี ๆ ไปเพราะมีความแตกต่างกัน

ถาม  ถ้าไม่สามารถไปร่วมมิสซาวันอาทิตย์ แต่ไปวันอื่นแทนได้หรือไม่?
ตอบ  อันดับแรก เราต้องดูว่าจุดประสงค์หรือเจตนาของพระศาสนจักรที่ให้คริสตชนไปร่วมมิสซาวันอาทิตย์คืออะไร? คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 2177 และ 2182 กล่าวถึงจุดประสงค์หรือเจตนาสำคัญของการไปร่วมมิสซาวันอาทิตย์ว่าเป็น การแสดงออกว่าเราเป็นของพระคริสตเจ้า ซื่อสัตย์ต่อพระองค์และพระศาสนจักร และเป็นหนึ่งเดียวกันในความเชื่อและความรัก ซึ่งวันอาทิตย์เป็นวันที่พระศาสนจักรระลึกถึงรหัสธรรมปัสกาตามธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมา (ฝ่ายงานอภิบาลและธรรมทูตอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, 2542) 

        ดังนั้นถ้าเราไปร่วมมิสซาวันอื่นแทนวันอาทิตย์ แม้ว่าเราจะได้แสดงออกว่าเราเป็นของพระคริสตเจ้า แต่ว่าเราก็จะไม่ได้ระลึกถึงรหัสธรรมปัสกาตามธรรมประเพณี และนอกจากนี้ในด้านพิธีกรรม บทอ่านทั้ง 3 บทของวันอาทิตย์ คือ บทอ่านที่ 1-2 และพระวรสารนั้นจะได้รับการจัดเตรียมไว้เป็นรอบ 3 ปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เราได้รับฟังพระวาจาของพระเจ้าตามพระคัมภีร์อย่างครบถ้วน ดังนั้นถ้าเราไปร่วมมิสซาวันอื่นที่ไม่ใช่วันอาทิตย์ เราก็จะไม่ได้รับฟังพระวาจาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ โดยสรุปก็คือ สามารถแทนกันได้ในมิติของการแสดงออกซึ่งความรักที่เรามีต่อพระเจ้า แต่ไม่สามารถแทนกันได้ในมิติของการหล่อเลี้ยงที่เราจะได้รับจากพระวาจา จึงแนะนำว่าควรจะไปในวันอาทิตย์เป็นการดีที่สุด เว้นแต่ว่ามีความจำเป็นจริง ๆ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ถาม  แล้วทำไมวัดบางแห่งจึงบอกว่า สามารถมาร่วมมิสซาวันเสาร์ตอนเย็น แทนมิสซาวันอาทิตย์ได้ ?

ตอบ  ตรงนี้ต้องขอขยายความว่า วัดบางแห่งจะจัดให้มิสซาวันเสาร์ตอนเย็นเป็นมิสซาวันอาทิตย์ โดยใช้พิธีกรรมของวันอาทิตย์เพื่อเหตุผลเชิงอภิบาล สำหรับคริสตชนที่ไม่สามารถมาร่วมมิสซาในวันอาทิตย์ได้ เช่น เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ต้องทำหน้าที่ในวันอาทิตย์ หรือในบางที่พระสงฆ์ต้องดูแลหลายวัด จึงไม่อาจถวายมิสซาในวันอาทิตย์ได้จึงต้องถวายมิสซาวันเสาร์ตอนเย็นแทน เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่ไปร่วมมิสซาดังกล่าวนี้ก็เป็นการร่วมมิสซาวันอาทิตย์นั่นเอง ซึ่งต้องอธิบายให้คริสตชนเข้าใจว่า จัดให้สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นจริง ๆ ที่ไม่อาจมาในวันอาทิตย์ได้เท่านั้น แต่ไม่ใช่เพื่อจะได้ไม่ต้องมาในวันอาทิตย์ เพราะเกียจคร้านบ้าง ไม่อยากตื่นแต่เช้าบ้าง เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง

         แต่สำหรับวัดบางแห่งที่มีมิสซาวันเสาร์ตอนเย็นเช่นกัน แต่ว่าใช้พิธีกรรมของวันเสาร์ ซึ่งคริสตชนที่ไปร่วมมิสซาดังกล่าวนั้นก็เป็นมิสซาของวันเสาร์ ไม่ใช่มิสซาวันอาทิตย์นะครับ

ถาม  ในวันอาทิตย์ต้องไปมิสซางานแต่งหรืองานศพอยู่แล้ว ถือว่าได้ร่วมมิสซาวันอาทิตย์หรือไม่ ?

ตอบ  ตามกฎเกณฑ์ของพิธีกรรม ทุกวันอาทิตย์ถือเป็นวันสมโภชธรรมล้ำลึกปัสกา ซึ่งไม่สามารถถวายมิสซาเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ ได้ แต่บางครั้งเพื่อเหตุผลเชิงอภิบาลก็อนุญาตให้มีมิสซางานแต่งหรืองานศพในวันอาทิตย์ ซึ่งในมิสซานั้น ๆ ก็จะใช้พิธีกรรมของงานแต่งหรืองานศพ แม้ว่าจะเป็นมิสซาที่จัดในวันอาทิตย์ก็ตาม แต่พิธีกรรมไม่ใช่ของวันอาทิตย์ ดังนั้นจึงต้องแยกแยะเป็น 2 ประเด็นคือ ได้ไปร่วมมิสซาในวันอาทิตย์ แต่ไม่ได้รับการหล่อเลี้ยงจากพิธีกรรมของวันอาทิตย์นั่นเอง จึงสรุปว่าไม่ได้ร่วมมิสซาวันอาทิตย์ครับ

 

อ้างอิง
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม. (2554). บทภาวนาของคริสตชนฉบับปรับปรุง ค.ศ. 2010 พร้อมเชิงอรรถ (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง.
ฝ่ายงานอภิบาลและธรรมทูตอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. (2542). คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ภาค 3: ชีวิตในพระคริสตเจ้า (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อัสสัมชัญ.

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทยรวมพลังรักษ์โลก ค.ศ.2024-2025

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2024

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก