ประสบการณ์ชีวิต
1. “เปลี่ยนจากทำลายเป็นรักษา” คุณหมอปิ๊กกี้ ฮาร์ตชอร์น ประธานสมาคมการเต้นของหัวใจนานาชาติได้เล่าเรื่องน่าประหลาดใจของหญิงคนหนึ่งที่ได้เห็นความลึกล้ำของชีวิตที่อยู่ในครรภ์ของเธอเอง หญิงสาวคนหนึ่งมาหาคุณหมอเพื่อขอทำแท้ง เธอไม่พร้อมที่จะมีบุตร แต่อย่างไรก็ตามเธอยังยินยอมที่จะเข้าเครื่องอุลต้าซาวด์ เมื่อเธอเห็นภาพลูกจากจอมอนิเตอร์ เธอรู้สึกทึ่งมากที่เห็นรูปร่างที่สมบูรณ์แบบของลูกของเธอ เห็นแขนเห็นขาขยับเคลื่อนไหวไปมาในครรภ์ของเธอ แต่เธอก็ยังคงยืนกรานที่จะให้คุณหมอทำแท้งให้ คุณหมอรู้สึกเสียใจมาก คุณหมอรู้ว่าคุณแม่ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 เมื่อเห็นภาพลูกจากอุลต้าซาวด์แล้วมักจะตัดสินใจที่จะรักษาลูกไว้ แต่อีกร้อยละ 25 ยังคงให้ทำแท้ง ในขณะนั้นเองผู้ช่วยของคุณหมอได้พูดขึ้นว่า "ยื่นมือไปจับมือลูกของเธอซิ" คุณหมอเองคิดว่า ทำไมผู้ช่วยจึงพูดออกไปเช่นนั้น แต่เมื่อหญิงสาวคนนั้นยื่นมือออกไปแตะที่จอภาพ ราวกับว่าถึงเวลาของพระเจ้า มือของทารกในจอได้ยื่นมาแตะกับมือของเธอพอดิบพอดี นิ้วเล็กๆกับนิ้วของแม่แตะต้องกัน เธอน้ำตาไหลและตัดสินใจที่จะรักษาลูกของตนไว้
2. นี้เป็นมหัศจรรย์ที่ลึกลับที่อยู่ภายในของเราแต่ละคน เป็นธรรมล้ำลึกของภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่อยู่ในตัวของเรา แม่คนนี้มองเห็นลูก ได้สัมผัสนิ้วของลูก ทำให้เธอ “เปลี่ยน” การตัดสินใจ ในวันนี้พระวรสารบอกเราว่าบรรดาอัครสาวกสามคนได้เห็นพระวรกายอันรุ่งโรจน์ของพระเยซู พวกเขาจึงได้ “เปลี่ยนแปลงชีวิต” โดยตัดสินใจที่จะติดตามพระเยซูเจ้าด้วยการอุทิศตนอย่างแท้จริง
พระคัมภีร์และคำสอน
3. บทอ่านที่หนึ่ง (ปฐก 22:1-2, 9ก, 10-13,15-18;) ได้พูดถึงชีวิตช่วงสำคัญของอับราฮัมที่ไว้วางใจในพระเมตตาและพลังอำนาจของพระเจ้าโดยการนำอิสอัค บุตรคนเดียวของท่านให้เป็นเครื่องบูชา การนอบน้อมเชื่อฟังนี้ “เปลี่ยน” อับราฮัมจากบุคคลธรรมดาคนหนึ่งให้เป็น “บิดาแห่งความเชื่อ” ที่ไว้วางใจในพระสัญญาของพระเจ้า
4. บทอ่านที่สอง (รม 8:31ข-34) ด้วยเหตุนี้เองนักบุญเปาโลเตือนใจเราว่าพระเจ้าผู้ทรงเป็นบิดาของเราไม่ทรงห่วงแหนบุตรคนเดียวของพระองค์ โดยอนุญาตให้สิ้นพระชนม์เพื่อเป็นเครื่องบูชาไถ่กู้บาปเรามนุษย์ (ในขณะที่ทรงรักษาชีวิตอิสอัคบุตรของอับราฮัมไว้) ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงรักเรา เป็นความรักที่ไม่สิ้นสุด
5. พระวรสาร (มก 9:2-10) พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนพระวรกายแสดงพระองค์ด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ดุจสถิตในเมืองสวรรค์ ทรงอยู่พร้อมกับโมเสสและเอลียาห์ จุดประสงค์ประการแรกของการเปลี่ยนพระวรกายก็คือการยืนยันและสร้างความมั่นใจให้เชื่อมั่นในองค์พระบิดาเจ้าและแผนการแห่งพระทรมาน ความตายและการกลับฟื้นคืนชีพของพระเยซูเจ้า จุดประสงค์ที่สองคือทำให้สานุศิษย์ที่พระองค์ทรงเลือกตระหนักถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้า เพื่อให้พวกเขาได้ละทิ้งความทะเยอทะยานฝ่ายโลกและความใฝ่ฝันที่จะเอาชนะเป็นผู้นำแบบนักการเมือง และช่วยทำให้พวกเขามีพละกำลังเข้มแข็งในยามที่ถูกทดลอง บนภูเขาพระเยซูเจ้าได้รับการรับรองโดยเสียงจากสวรรค์ว่าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ดังนั้น เรื่องเล่าเรื่อง “การเปลี่ยนพระวรกาย” จึงเป็นแสดงให้รู้ว่าพระเยซูคือใครแท้จริง การบรรยายถึงการเปลี่ยนพระวรกาย พระวรสารแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่กระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าโดยไว้วางใจในพระบิดาจะได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ดุจสถิตในเมืองสวรรค์ การเปลี่ยนพระวรกายยังช่วยให้เรามีกำลังใจการเอาชนะความทุกข์ยากลำบากในชีวิตอีกด้วย
ข้อปฎิบัติ
7. “ให้ศีลมหาสนิทช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา” ในทุกๆมิสซาฯที่เราได้เข้าร่วมพิธี แผ่นปังและเหล้าองุ่นที่เรานำไปถวายบนพระแท่นได้ “เปลี่ยน” เป็น “พระกายและพระโลหิต” ของพระเยซูเจ้า ดังเช่นการเปลี่ยนพระวรกายอันรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าได้ทำให้บรรดาอัครสาวก “เปลี่ยนแปลง” ตนเอง มีพละกำลังเข้มแข็งในการต่อสู้กับการทดลองต่างๆ ดังนั้นทุกๆมิสซาฯจึงสมควรที่จะเป็นต้นกำเนิดแห่ง “พลังสวรรค์” ที่จะช่วยเรา “เปลี่ยนแปลงตนเอง” ให้เอาชนะการผจญล่อลวงของปีศาจ และฟื้นฟูชีวิตจิตของเราในระหว่างเทศกาลมหาพรตนี้ “ศีลมหาสนิท” ที่เราได้รับจะต้องเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตประจำวันของเรา ช่วย “เปลี่ยน” ความคิดและน้ำใจของเราให้กระทำแต่ความดีด้วยความสุภาพและการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความไม่เห็นแก่ตัว
8. “จงมีความเพียรทนและความหวัง” ในห้วงเวลาแห่งความสงสัยและความท้อแท้สิ้นหวัง ภาพของพระเยซูเจ้าที่ทรงเปลี่ยนพระวรกายอันรุ่งโรจน์จะช่วยเราให้มีกำลังใจและความหวังที่จะเข้าหาพระองค์และรับฟังคำบรรเทาใจจากพระองค์ เพราะพระองค์ทรงได้รับการรองว่า “นี้คือบุตรสุดที่รักของเรา” ดังนั้นให้เราใช้เทศกาลมหาพรตทำการพลีกรรม ยอมรับความยากลำบาก แบกกางเขนของตนเอง การกระทำเช่นนี้จะช่วยให้เราให้ใกล้ชิดกับพระทรมานของพระเยซูเจ้า มีส่วนในการแบกไม้กางเขนของพระองค์ และที่สุดเราจะได้มีส่วนในพระสิริรุ่งโรจน์ของการกลับคืนชีพรับรางวัลในเมืองสวรรค์อยู่กับพระองค์ตลอดนิรันดร