PAX ET CARITAS : สันติภาพและความรัก

ข้อคิดวันอาทิตย์ โดย คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์
ข่าวดีสัปดาห์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา
19 มกราคม 2020
ก. ความสำคัญ
     1. ขอต้อนรับกลับเข้าสู่เทศกาลธรรมดาช่วงเวลาที่ยาวที่สุดของพิธีกรรมของพระศาสนจักร หลังจากที่เราฉลองเทศกาลพิเศษ (มหาพรต เตรียมรับเสด็จ) เทศกาลธรรมดาเป็นช่วงเวลาได้มีโอกาสไตร่ตรองเรื่องราวต่างๆในชีวิตของพระเยซูเจ้า คำเทศน์สอน เรื่องเปรียบเทียบ อัศจรรย์ต่างๆ อุปสรรคและความสำเร็จในแต่ละวัน
      2. คำสำคัญของบทอ่านในวันนี้คือ “ลูกแกะของพระเจ้า” ซึ่งท้าทายเราให้ดำเนินชีวิตเฉกเช่นลูกแกะของพระเจ้าและยอมตายเช่นเดียวกับลูกแกะของพระเจ้า

ข.พระคัมภีร์และคำสอน           
        1.บทอ่านที่หนึ่ง (อสย 49:3,5-6) ทั้งบทอ่านที่หนึ่งและสอง เผยแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนให้มารับใช้พระองค์ในพันธกิจที่ทรงมอบหมายให้ บทอ่านที่หนึ่งจากประกาศกอิสยาห์ที่ว่าด้วยเรื่อง “บทเพลงของผู้รับใช้ที่ทนทุกข์” (Songs of the Suffering Servant) เป็นการทำนายล่วงหน้าถึงชีวิตของพระเยซูเจ้าเองที่ทรงเป็นดุจลูกแกะที่ถูกนำไปบูชายัญและพันธกิจของพระองค์ในฐานะที่เป็นผู้ไถ่บาปของโลก (รับโทษแทนความผิดบาปของมนุษย์ทั้งโลก)
        2.บทอ่านที่สอง (1คร 1:1-3) นักบุญเปาโลเตือนชาวคริสตชนเมืองโครินธ์ว่าพวกเขาได้รับเรียกให้เป็น “อัครสาวกและผู้ที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์” เช่นเดียวกับทุกคนที่เรียกหาหรือออกพระนามของพระเยซู ในฐานะที่เราเป็นผู้ที่มีความเชื่อ เรากลับกลายเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งในพระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้าโดยผ่านทางศีลล้างบาป และเราได้รับความศักดิ์สิทธิ์เหมือนพระเยซูคริสต์ก็เพราะชีวิตของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์และช่วยเหลือผู้อื่น
        3.พระวรสาร (ยน 1:29-34) วันนี้เราได้รับรู้ว่า ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างเป็นคนแรกที่เรียกพระเยซูเจ้าว่าเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า” และท่านยังเป็นพยานยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ชาวยิวคุ้นเคยกับคำว่าลูกแกะหรือสัตว์ที่ใช้เพื่อเป็นเครื่องบูชาหรือใช้เลือดเพื่อประพรมชำระให้บริสุทธิ์พ้นมลทิน ยังมีพิธีกรรมอื่นๆ เช่น การสารภาพบาปความผิดใส่หัวของแกะหรือแพะ ให้แกะหรือแพะนั้นแบกความชั่วร้ายไว้แทนมนุษย์ หรือชดใช้บาปแทนมนุษย์ (เลวีนิติ 16:20-22) ชาวยิวยังใช้แกะเป็นเครื่องบูชาประจำวัน (อพยพ 29:38-42) ใช้แกะเพื่อเป็นลูกแกะปัสกา (อพยพ 12:11…) ประกาศกเยเรมีย์เปรียบตนเองเห็นเหมือนลูกแกะว่าง่ายซึ่งถูกนำไปฆ่า (เยเรมีย์ 11:19) จากความหมายของลูกแกะที่ชาวยิวคุ้นเคยเหล่านี้ เราอาจจะเลือกเอาความหมายของลูกแกะตามที่ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างได้เรียก โดยมีความหมายอื่นๆ ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของลูกแกะของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น

    
ค.ปฏิบัติ          
       1. “มีชีวิตอยู่และตาย” เหมือนลูกแกะของพระเจ้า
           (ก) มีชีวิตเหมือนลูกแกะพระเจ้าโดย 1) มีชีวิตที่บริสุทธิ์ โปร่งใส ลุภาพถ่อมตน ไม่เห็นแก่ตัว ปฏิบัติตามพระบัญญัติแห่งความรักของพระเยซูเจ้า 2) รักและช่วยเหลือกิจการต่างๆ ของวัด เป็นสมาชิกที่ดีของวัด ช่วยเหลือคุณพ่อเจ้าวัด 3) มาร่วมมิสซาและรับศีลมหาสนิททุกวันอาทิตย์
           (ข) ตายเหมือนลูกแกะของพระเจ้า โดย 1) ใช้พระพร ความสามารถ ทรัพย์สิน ช่วยเหลือครอบครัว วัด และชุมชน 2) เป็นประจักษ์พยานถึงความรักของพระเจ้าในยามที่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือต้องทนทุกข์ยากลำบากต่างๆ3) พลีกรรม ถวายความยากลำบาก เพื่อเป็นบุญกุศลแก่วิญญาณของคนอื่น
        2. “ตามมาดูซิ” (Come and see) แก่นแท้ของการเป็นประจักษ์พยานก็คือการยืนยันด้วยการทำให้เห็นด้วยตา แล้วคนอื่นจึงจะเชื่อ เมื่อเราไปกินอาหารที่ร้านไหน ตัดผม เสริมสวย หรือไปเที่ยวไหน แล้วเรา ชอบเราก็อยากบอกหรือเชิญชวนคนอื่นให้ไปรับประสบการณ์ดีๆ เช่นเดียวกับเรา เช่นเดียวกัน เมื่อเรามีประสบการณ์ที่ดีกับพระเจ้า จึงขอให้เราได้เชิญชวนให้เพื่อนบ้านของเรา “ตามมาดูซิ” ว่าชีวิตการเป็นศิษย์พระคริสต์นั้นมีความสุขเช่นไร

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2024

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก