พลังกางเขน
ข่าวดีวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (10 เมษายน 2020)
ก. ความสำคัญและความหมาย
1. วันนี้ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ท้าทายให้เราแบกกางเขนของเรา ติดตามพระองค์ไป
2. กางเขนและการถูกตรึงกางเขนเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายยิ่งสำหรับเรา เหมือนกับนกพิราบเป็นเครื่องหมายถึงสันติภาพ หัวใจเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์การมอบตัวเองเป็นเครื่องบูชาและความรักต่อผู้อื่น
1) ก่อนอื่นหมดพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนนั้นเราได้เห็นความรักของพระเจ้า “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน. 15:13) และกางเขนนี้บอกให้เรารู้ถึงความรักนี้
2) กางเขนเป็นสัญลักษณ์ของการลบล้างบาปของเรา พระคัมภีร์กล่าวว่าเมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงรับเอาบาปของเราไปตรึงไว้กับไม้กางเขน (1 ปต. 2:24)
3) กางเขนยังเป็นสัญลักษณ์ของความสุภาพถ่อมตน ไม่ยึดติด อุทิศตนเพื่อผู้อื่น สัญลักษณ์ของการแบกกางเขนของพระเยซูเจ้ายังเป็นแรงบันดาลใจเราในการสู้ทนกับความยากลำบาก ความทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิตประจำวัน
4) กางเขนยังเป็นสัญลักษณ์ของพระเยซูเจ้าที่ทรงกลับคืนชีพจากความตาย และทรงสัญญาว่าจะประทานมงกุฎรุ่งโรจน์เป็นรางวัลให้กับความเพียรทนในการแบกกางเขนประจำวันของเรา
3. กางเขนยังหมายถึงความเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเพื่อตัวเองนั้นไม่ใช่กางเขนของพระเยซูเจ้า กางเขของพระเยซุที่แท้จริงต้องเป็นความเจ็บปวดเพื่อผู้อื่น เป็นความเจ็บปวดที่ศักดิ์สิทธิ์ เจ็บปวดที่ได้จากการช่วยเหลือผู้อื่น เจ็บปวดที่ต้องควบคุมอารมณ์ของตนเอาชนะความชั่ว เจ็บปวดเพื่อความถูกต้อง เจ็บปวดที่จะต้องซื่อสัตย์ต่อคำสอนของพระเจ้า เจ็บปวดที่จะต้องดำเนินชีวิตทวนกระแสกับสังคมโลก
4. เราแบกางเขนโดยส่วนใหญ่แล้วมาจาก 4 สาเหตุด้วยกัน ได้แก่
1) กางเขนจากความเจ็บไข้ได้ป่วย โรคระบาด ความตาย การสูญเสียของตนเองและของบุคคลที่เรารัก
2) กางเขนจากการทำหน้าของตนเองด้วยความซื่อสัตย์
3) กางเขนจากเพื่อนและบุคคลที่ไม่ชอบเรา
4) กางเขนที่เกิดจากตัวเราเอง ด้วยการดำเนินชีวิตที่ไม่รอบคอบ ไม่เอาใจใส่ และการยึดติดในเรื่องที่ไม่ดี
5. วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เราควรถามตัวเอง ว่า ทำไมเราต้องแบกกางเขน
1) การแบกกางเขนเป็นเงื่อนไขของการเป็นศิษย์พระคริสต์ พระเยซูตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรา” (มธ. 16:24)
2) การแบกไม้กางเขนเป็นการชำระหรือชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากบาปของตัวเราและของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้นักบุญเปาโลจึงได้กล่าวว่า “บัดนี้ข้าพเจ้ายินดีรับทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ความทรมานของพระคริสต์ยังขาดสิ่งใด ช้าพเจ้าก็เสริมให้สมบูรณ์ด้วยการทรมานในกายข้าพเจ้า เพื่อพระกายของพระองค์คือพระศาสนจักร” (คส. 2:24)
3) การแบกกางเขนของเราเป็นการเลียนแบบพระคริสต์ที่ทรงรับทรมานเพื่อเรา ตามที่นักบุญเปาโลอธิบายว่า “ข้าพเจ้าถูกตรึงกางเขนกับพระคริสตเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้าทรงทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า” (กท. 2:19-20)
ข. ปฏิบัติ
1. “แบกไม้กางเขนด้วยความรัก” เราควรแบกไม้กางเขนในชีวิตของเราด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง เช่น ภรรยาที่เอาใจใส่พยาบาลสามีที่เป็นอัมพาต หรือดูแลคนป่วยติดเตียง ด้วยความรักและเสียสละ การแบกไม้กางเขนของเราจะกลับเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นเมื่อเราเทียบกับพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน เราต้องดึงพลังและแรงบันดาลใจจากพระเยซูเจ้าผู้ที่ได้ทรงแบกไม้กางเขนเดินนำหน้าเราไปแล้ว และขณะนี้ทรงให้กำลังใจเราให้แบกไม้กางเขนตามพระองค์ไป
2. “คิดถึงไม้กางเขนบ่อยๆ” เราต้องปลูกไม้กางเขนของพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของเรา โดยให้เราทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขน วอนขอพระพรและการคุ้มครองจากพระองค์บ่อยๆ เริ่มตั้งแต่ตื่นนอน ก่อนและหลังทำกิจการสำคัญ จนกระทั่งเข้านอน เราเริ่มชีวิตของเราอาศัยพระเจ้า พร้อมกับพระเจ้า และในพระเจ้า เราอาจจะสวมไม้กางเขนไว้ประจำตัวเรา เราอาจจะอัญเชิญไม้กางเขนไว้ในบ้านของเรา
3. “เยียวยาบาดแผลภายในใจของเรา” ใจของเรามีบาดแผลมากเนื่องมาจากบาป ดังนั้นเราจึงควรอยู่ต่อหน้าไม้กางเขนเพื่อขอพระอวยได้ชำระและเยียวยาหัวใจของเราให้สะอาดปราศจากบาปต่างๆ