"อย่ากลัว"
ข่าวดีสัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา
(21 มิถุนายน 2020)
ก.ความสำคัญ
1.บทอ่านจากพระคัมภีร์วันนี้เชิญชวนเราให้กล้าที่จะประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าให้คนอื่นได้รับรู้โดยใช้ทั้ง “คำพูด” และ “การดำเนินชีวิต” ของเราด้วยความกล้าหาญ
ข.พระคัมภีร์และคำสอน
1.บทอ่านที่หนึ่ง (ยรม. 20:10-13) ประกาศกเยเรมีย์ไว้วางใจพลังอำนาจของพระเจ้าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านในการทำหน้าที่ประกาศกของเขา เขาถูกนินทาว่าร้าย แต่เขาไม่กลัวที่จะประกาศพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าต่อไปด้วยความกล้าหาญ
2. บทอ่านที่สอง (รม. 5:12-15) นักบุญเปาโลยืนยันกับคริสตชนชาวโรมว่าไม่ต้องกลัวการต่อต้านหรือขัดแย้งเพราะพวกเขาได้มีส่วนร่วมในความตายของพระเยซูเจ้าแล้ว และเพราะว่าพวกเขาได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์ ซึ่งเป็นอาดัมใหม่ ดังนั้นจึงจะได้กลับคืนชีพเช่นเดียวกับพระองค์ด้วย
3.พระวรสาร (มธ. 10:26-33) ก่อนส่งบรรดาอัครสาวกออกไปประกาศข่าวดีเรื่องอาณาจักรสวรรค์และรักษาคนเจ็บไข้ พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนพวกเขา
3.1 ให้ไปโดยทำตัวอย่าง “เรียบง่าย” เมื่อเดินทางก็อย่าพกเงินหรือย่ามติดตัว
3.2 “ให้พร้อม” ที่จะถูกเบียดเบียน และที่สำคัญคือ “อย่ากลัว” (มธ. 10:1-31) พระองค์ตรัสว่า “อย่ากลัว” ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ 1) อย่ากลัวเพราะ “ไม่มีสิ่งใดที่ปิดบังไว้ จะไม่ถูกเปิดเผย” (มธ. 10:26) 2) “อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย” (มธ. 10:28) และ 3) อย่ากลัวเพราะ “ท่านมีค่ามากกว่านกกระจอกจำนวนมาก” (มธ. 10:31)
ค. ปฏิบัติ
1. “ต้องประกาศข่าวดี” เราต้องประกาศข่าวดีที่ได้รับมาอย่างกล้าหาญ และเพื่อจะทำเช่นนี้ได้ เราจำเป็นต้อง
1.1 “ฟัง” เราจะประกาศข่าวดีให้ผู้อื่นได้อย่างไรหากตัวเราเองยังไม่ได้รับข่าวดี ภาษิตละตินจึงกล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครสามารถให้สิ่งที่ตนไม่มีได้” (Nemo dat quod non habet.)
1.2 “พูด” เราต้องพูดสิ่งที่ได้ยินจากพระเยซูเจ้า แม้ว่าการพูดนั้นจะทำให้ผู้อื่นเกลียดชังเราหรืออาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตก็ตาม
2. “อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย” (มธ. 10:28) โทษสูงสุดเท่าที่มนุษย์สามารถหยิบยื่นให้เราได้ก็คือความตายฝ่ายกาย ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับชะตากรรมของผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า เพราะฉะนั้นพระเยซูเจ้าจึงตรัสสั่งว่า “จงกลัวผู้ที่ทำลายทั้งกายและวิญญาณให้พินาศไปในนรก” (มธ. 10:28) และผู้ที่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ก็คือพระเจ้า
3. “กล้าแสดงตัว” ผู้ที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดา - คริสตชนใดที่ซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้าในโลกนี้ พระองค์จะซื่อสัตย์ต่อผู้นั้นในโลกหน้า และผู้ใดภูมิใจรับพระองค์เป็นเจ้านายในโลกนี้ พระองค์จะภูมิใจรับผู้นั้นเป็นข้ารับใช้ของพระองค์ในโลกหน้า เราอาจ “ไม่ยอมรับพระองค์ต่อหน้ามนุษย์” ได้ดังนี้
3.1 “ด้วยคำพูด” บางคนพูดเหมือนไม่เต็มใจยอมรับพระองค์ เช่น “ฉันเป็นคริสตังเพราะพ่อแม่นำไปล้างบาปตั้งแต่เด็ก” หรือ “ผมเป็นคริสตังก็เพราะต้องการแต่งงาน”
บางคนเมื่อถูกถามว่าเป็นคริสตังหรือไม่ก็ตอบว่า “ใช่ แต่ไม่เคร่งนัก”
3.2 “ด้วยการเงียบ” กี่ครั้งกี่คราที่เรามีโอกาสพูดเพื่อพระเยซูเจ้า เพื่อคัดค้านสิ่งที่ผิด หรือเพื่อแสดงจุดยืนว่าเราอยู่ฝ่ายใด แต่เรากลับปล่อยให้โอกาสเหล่านี้หลุดลอยไป เรา “เงียบ” แทนที่จะ “พูด” และจริง ๆ แล้วมนุษย์เราปฏิเสธพระองค์ด้วยการ “เงียบ” มากกว่าการพูดหรือกระทำเสียอีก
3.3 “ด้วยการกระทำ” บ่อยครั้งเราดำเนินชีวิตสวนทางกับความเชื่อที่เราประกาศยืนยัน เราเชื่อข่าวดีเรื่องความบริสุทธิ์ แต่กลับทำผิดและทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองด้วยการไม่ซื่อสัตย์ต่อภรรยาและครอบครัว เราประกาศว่าจะแบกกางเขนติดตามพระองค์ แต่กลับมัววุ่นวายอยู่กับการแสวงหาความสะดวกสบายใส่ตน เราสัญญาว่าจะรับใช้พระองค์ผู้ทรงประทานการอภัย แต่เรากลับจดจำความผิด เคียดแค้น และจองเวรผู้อื่น บางคนเพ่งสายตาอยู่ที่พระเยซูเจ้าผู้ทรงยอมพลีชีพเพราะรักมนุษย์ แต่กลับดำเนินชีวิตราวกับไม่เคยรู้ว่า “การรับใช้แบบคริสตชน” “ความรักแบบคริสตชน” หรือ “น้ำใจแบบคริสตชน” นั้นเป็นอย่างไร