"ฉลองปัสกาทุกวัน"
ข่าวดี วันอาทิตย์สมโภชปัสกา(C)
วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2022
ก. ความสำคัญ
1. ปัสกาเป็นการฉลองที่สำคัญที่สุดของพระศาสนจักร เป็นจุดกำเนิดของความหวังเรื่องการกลับคืนชีพและชีวิตนิรันดร์ เราฉลองวันปัสกาด้วยความภาคภูมิใจและความชื่นชมยินดีด้วยเหตุผลสามประการ ได้แก่
(1) การกลับคืนชีพของพระคริสต์เป็นความเชื่อพื้นฐานของคริสตชน การกลับคืนชีพเป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะเป็นการพิสูจน์ว่าพระเยซูคือพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ น.เปาโลจึงยืนยันว่า “ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์"
และความเชื่อของเราก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน "..ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ความเชื่อของท่านก็ไร้ความหมายและท่านก็ยังคงอยู่ในบาป...ความจริง พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เป็นผลแรกของบรรดาผู้ล่วงหลับไปแล้ว" (1คร. 15:14,17,20)
(2) ปัสกาเป็นหลักประกันถึงการกลับคืนชีพของเราเอง พระเยซูทรงยืนยันกับมารธาที่หลุมฝังลาซารัสว่า “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต ใครเชื่อในเรา แม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต และทุกคนที่มีชีวิตและเชื่อในเราจะไม่มีวันตายเลย” (ยน. 11:25-26)
(3) ปัสกาเป็นการฉลองที่ให้ความหวังและความเข้มแข็งในการดำเนินชีวิตของเราในยามที่เราต้องทนทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ ปัสกาเตือนเราว่าชีวิตมีคุณค่าสูงส่ง เราเชื่อในการประทับอยู่จริงของพระเยซูผู้ทรงกลับฟื้นคืนชีพในจิตวิญญานของเรา ในพระศาสนจักร ในศีลศักดิ์สิทธิ์ และในสวรรค์ ความเชื่อเช่นนี้ทำให้เรามีความเข้มแข็งและเพียรทนในการเอาชนะความยากลำบากและการประจญต่าง ๆ ในชีวิตของเราได้
2. ทำไมเราจึงเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนชีพจริง
(1) พระเยซูเจ้าเองทรงประกาศล่วงหน้าว่าพระองค์จะทรงกลับคืนชีพจากความตาย (มก. 8:31 -จะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมาจะกลับคืนชีพ; มธ. 17:22, ลก 9:22)
(2) พระคูหาว่างเปล่าในวันอาทิตย์ปัสกา (ลก. 24:3) แม้ว่าทหารกล่าวหาว่าศิษย์ของพระเยซูขโมยพระศพไป (มธ. 28:13
(3) การปรากฏพระองค์เองและการได้รับเจิมจากพระจิตเจ้า ทำให้บรรดาสานุศิษย์พากันออกไปประกาศว่าพระเยซูทรงกลับคืนชีพแล้วอย่างกล้าหาญแทนความหวาดกลัวและเก็บตัว (ลก. 24:21, ยน. 20:19, กจ. 2:24, 3:15,4:2)
(4) ไม่ว่าชาวยิวหรือชาวโรมันก็ไม่สามารถนำพระศพพระเยซูมาพิสูจน์คัดค้านได้
(5) อัครสาวกและผู้ศรัทธาในยุคนั้นคงไม่กล้ายอมตายเพื่อยืนหยัดและยืนยันความจริงเรื่องการกลับคืนชีพ
(6) การกลับใจของเปาโลจากผู้เบียดเบียนมาเป็นผู้ประกาศเผยแผ่ว่าพระเยซูกลับคืนชีพจริง (กท. 1:11-17, กจ. 9:1, กจ. 9:24-25, กจ. 26:15-18)
ข.พระคัมภีร์และคำสอน
การประกาศและการเป็นประจักษ์พยาน
1. บทอ่านที่หนึ่ง (กจ. 10:34ก, 37-43) น.เปโตรแบ่งปันประสบการณ์ที่มีกับพระเยซูที่ทรงกลับคืนชีพและความยินดีที่ครอบครัวโครเนลีอัสและครอบครัวได้สมัครใจรับศีลล้างบาป
2. บทอ่านที่สอง (คส. 3:1-4) น.เปาโลหลังจากได้กลับใจแล้วจึงประกาศเรื่องการมีส่วนร่วมในความเชื่อเรื่องการกลับคืนของพระเยซู
3. พระวรสาร (ยน. 20:1-9) อธิบายเรื่องพระคูหาว่างเปล่า ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์สำคัญว่าพระเยซูทรงกลับฟื้นคืนชีพ
ค. ปฏิบัติ
1. “เป็นคนกลับคืนชีพ” (Resurrection people) ไม่นอนเป็นศพจมอยู่ในคูหาของบาปต่าง ๆ นิสัยที่ไม่ดี ความท้อแท้สิ้นหวัง ให้เรากลับคืนสู่ชีวิตที่เต็มไปด้วยความหวัง การมีชีวิตชีวา
2 “แสวงหาสันติสุขและความยินดีที่ถาวรเที่ยงแท้” อย่าหลงหรือยึดติดกับความสุขชั่วคราวที่โลกหยิบยื่นให้ แต่ดำเนินชีวิตด้วยจิตใจที่หวังในความสุขเที่ยงแท้ในเมืองสวรรค์
3 “โปร่งใส” ดำเนินชีวิตอย่างโปร่งใส ด้วยความรัก ความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจและความเสียสละ อุทิศตน
4 “เป็นคนใหม่” ควบคุมความคิด ความปรารถนา คำพูด และพฤติกรรม ทำให้ทุกอย่างศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์
5. “นำข่าวดีนี้ไปประกาศ” เช่นเดียวกับสานุศิษย์ที่กล้าหาญในการประกาศยืนยันให้ทุกคนได้รับรู้