"ทุกคนรับใช้พระเจ้าได้"
ข่าวดีสมโภช น.เปโตรและ น.เปาโล
วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2024
โดย คุณพ่อเปโตร วัชศิลป์ กฤษเจริญ
ก. ความสำคัญ
1.วันนี้เราเฉลิมฉลอง น.เปโตรและ น.เปาโล สาวกผู้ยิ่งใหญ่ของพระศาสนจักรในยุคเริ่มแรกที่สืบสานงานของพระเยซูเจ้า ท่านทั้งสองถูกประหารเป็นมรณะสักขีเพื่อยืนยันความเชื่อถึงพระองค์ ณ กรุงโรม ราว ๆ ปีที่ 60 หลังจากที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว 30 ปี น.เปโตรตายโดยถูกตรึงกางเขนเหมือนพระเยซูเจ้าแต่ท่านให้เพชฌฆาตช่วยเอากางเขนปักศีรษะลงกับพื้น ศพของท่านถูกฝังไว้ใต้มหาวิหาร น.เปโตร กรุงโรม โดยมีทหารสวิสยืนเฝ้าตลอดเวลา ส่วน น.เปาโลถูกประหารโดยการตัดศีรษะระหว่างกรุงโรมกับทะเล สถานที่นั่นเรียกว่า เตรฟอนตาเน หรือน้ำพุสามแห่ง (ซึ่งเล่ากันว่าเป็นจุดที่ศีรษะของ น.เปาโลตกลงพื้นสามแห่งนั้น) ศพของท่านถูกฝังไว้ในมหาวิหาร น.เปาโลนอกกำแพง (กรุงโรม)
2. ท่านทั้งสองมีความสำคัญด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน น.เปโตรมีความสำคัญเพราะว่าท่านเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับพระศาสนจักรในยุคนั้นและทำให้พระศาสนจักรได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากวันที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมา (Pentecost)
ในปีแรก ๆ หลังจากวันพระจิตเจ้าเสด็จลงมา คนที่หันมานับถือพระเยซูเจ้าส่วนใหญ่เป็นชาวยิว พวกเขายอมรับว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่บาป ดังนั้น พระศาสนจักรในยุคแรกจึงเป็นพระศาสนจักรชาวยิวแต่เมื่อเวลาผ่านไป น.เปาโลเริ่มเทศนาให้กับคนที่ไม่ใช่ชาวยิว ที่เรียกว่าคนต่างศาสนา (Gentiles) การเทศน์ของท่านบังเกิดผลอย่างมากมาย ท่านได้นำคนที่ไม่ใช่ชาวยิวเข้ามาเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรจำนวนมาก
ดังนั้นทั้ง น.เปโตรและ น.เปาโลต่างมีบทบาทที่สำคัญของพระศาสนจักรในยุคเริ่มแรก น.เปโตรช่วยทำให้พระศาสนจักรมีความเป็นหนึ่งเดียว และตลอดชีวิตของท่านได้เผยแพร่ความเชื่อศรัทธาในพระเยซูเจ้าไปตลอดทั้งตะวันออกกลางและยุโรป ส่วน น.เปาโลสอนชาวยิวว่า พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหวังในพันธสัญญาเดิมเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และสอนคนที่ไม่ใช่ชาวยิวว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่บาป ของเรา ดังนั้นเมื่อเราเห็นรูปปั้นของท่านที่ใด เรามักจะเห็นรูปของ น.เปโตรถือกุญแจ เป็นสัญลักษณ์ถึงหน้าที่การเป็นหัวหน้าของพระศาสนจักร และ น.เปาโลถือพระคัมภีร์ เป็นสัญลักษณ์ของการเทศนา
ข.พระคัมภีร์และคำสอน
1.บทอ่านที่หนึ่ง (กจ. 12:1-11) เราได้ทบทวนเหตุการณ์ที่ น.เปโตรและสมาชิกของพระศาสนจักรถูกเบียดเบียนอย่างหนักในสมัยของกษัตริย์เฮโรด ท่ามกลางความยากลำบาก สมาชิกของพระศาสนจักรได้ร่วมใจกันภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อท่าน ที่สุดพระเจ้าทรงช่วยเหลือ น.เปโตรให้รอดพ้นจากการจองจำอย่างน่าอัศจรรย์
2.บทอ่านที่สอง (2ทธ. 4:6-8,17-18) เราได้รับรู้ชีวิตการทำงานที่ยากลำบากของ น.เปาโล ท่านสารภาพว่าท่ามกลางความยากลำบากจนต้องเอาชีวิตเข้าแลกนั้น ท่านยังคงรักษาความเชื่อไว้อย่างมั่นคง ทั้งนี้เพราะพระเจ้าทรงยืนเคียงข้างและประทานกำลังให้
3.พระวรสาร (มธ. 16:13-19) หลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงร่วมงานกับบรรดาศิษย์มาเป็นเวลานาน พระองค์ทรงตรวจสอบความเชื่อของพวกเขา โดยถามว่า “ท่านคิดว่าเราเป็นใคร” คำตอบของ น.เปโตรศิษย์ที่เป็นชาวประมงธรรมดา ๆ เป็นที่พอพระทัย พระองค์จึงทรงมอบหมายตำแหน่งผู้นำของพระศาสนจักรให้
ค. ปฏิบัติ
1. “เราทุกคนรับใช้พระเจ้าได้” พระศาสนจักรต้องการบุคคลที่มีความสามารถหลายหลากและแตกต่างกันมาเสริมเติมเต็มงานของพระศาสนจักร เราต้องการคนที่นิ่ง รอบคอบ อย่าง น.เปโตร ในเวลาเดียวกัน เราต้องการคนที่กล้าหาญ รวดเร็ว อย่าง น.เปาโล เราต้องการคนที่ชอบอยู่กับบ้าน ในเวลาเดียวกันเราก็จำเป็นต้องมีคนที่ออกไปทำงานนอกบ้าน น.เปโตรใช้ความรักที่ยิ่งใหญ่ในการอภิบาลดูแลสมาชิกให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ส่วน น.เปาโลใช้การที่ได้รับการฝึกอบรมในฐานะที่เป็นฟาริสีและความเข้มแข็งออกไปประกาศข่าวดีกับคนต่างชาติต่างศาสนา และนำเข้ามาเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร
2. “อดีตไม่เป็นไร” ทั้ง น.เปโตรและ น.เปาโล ต่างมีความผิดพลาด คนหนึ่งเคยปฏิเสธถึงสามครั้งว่าไม่รู้จักพระเยซูเจ้า อีกคนหนึ่งเคยเบียดเบียนคนที่นับถือพระเยซูเจ้า ดังนั้นอดีตเราอาจจะไม่ได้สนใจที่จะมารับใช้พระเจ้า หรือเห็นว่าตนเองไม่เหมาะสม วันนี้จึงเตือนใจเราว่าไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรือเคยผิดพลาดอะไรมาก่อน แต่เวลานี้เราสามารถเข้ามารับใช้พระเจ้าได้เราเราสามารถใช้ทั้งพรสวรรค์และความอ่อนแอของเราเป็นเครื่องมือของพระเจ้าในการรับใช้ผู้อื่นได้ ถ้าเรายินยอม ไม่มีใครดีสมบูรณ์แบบ แต่พระเจ้าทรงทำงานโดยผ่านเรา เหมือนอย่างที่พระองค์ทรงใช้ น.เปโตรและ น.เปาโล
3.“อย่ากลัว” ที่จะตอบรับคำเชิญให้มาทำงานเพื่อพระเจ้า พระทรงช่วยผู้ที่ทำงานให้พระองค์เสมอ การทำงานรับใช้พระเจ้าไม่ใช่จะราบรื่น แต่พระเจ้าจะทรงช่วยเรา เหมือนที่ทรงช่วย น.เปโตร ออกจากคุก และทรงอยู่เคียงน.เปาโลในยามที่ท่านต้องลำบาก