PAX ET CARITAS : สันติภาพและความรัก


          ความเป็นหนึ่งเดียวของทั้งสามพระบุคคลนี้ เราสามารถเรียนรู้ความจริงนี้ได้จากพระคัมภีร์ ธรรมประเพณี พิธีกรรม และคำสั่งสอนของพระศาสนจักร เราเริ่มจากพระคัมภีร์ ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่า พระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่กับพระบิดาและพระจิต และในเวลาเดียวกับ พระบิดาก็ประทับอยู่ในพระบุตรและพระจิต พระจิตก็ประทับอยู่ในพระบิดาและพระบุตร นี้แหละที่นักบุญปาโลสอนเราว่า “พระเจ้าพอพระทัยให้ความบริบูรณ์ทั้งปวงอยู่ในพระคริสตเจ้า” และ “ในองค์พระคริสตเจ้านั้น พระเทวภาพบริบูรณ์อยู่ในสภาพบริบูรณ์ที่สัมผัสได้” (คส. 1:19; 2:9)

          จากพระคัมภีร์มีการยืนยันถึงความบริบูรณ์ของพระเจ้า และมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล หรือไม่ ขอตอบว่า “มี” เราสามารถอ้างอิงได้จากบทสุดท้ายของพระวรสารมัทธิวที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนาม พระบิดา พระบุตรและพระจิต...” (มธ. 28:19) และถ้อยคำสุดท้ายของนักบุญเปาโลในบทจดหมายถึงชาวโครินธ์ฉบับที่ 2 ที่ว่า “ขอพระหรรษทานของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอความรักของพระเจ้าและความสนิทสัมพันธ์ของพระจิตเจ้าสถิตอยู่กับทุกท่านเทอญ”(2คร.13:13) ถ้อยคำจากพระคัมภีร์เหล่านี้ยืนยันว่าพระเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียว แต่ประกอบด้วยสามพระบุคคล

           เราอาจจะอธิบายความจริงนี้ได้อย่างไม่กระจ่างชัดเจนเท่าที่ใจของเราอยากจะรู้ เราต้องยอมรับว่าสติปัญญาของเรามีความจำกัดหรือเล็กเกินกว่าจะรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า แต่ถ้าเราค่อยๆไตร่ตรองข้อความเชื่อและธรรมประเพณีของเรา จะช่วยให้เราเข้าใจความลึกล้ำนี้ได้(มากขึ้น)

จากคำสอนของพระศาสนจักร เราจะเห็นพระตรีเอกภาพปรากฏอยู่ใน
          1. องค์พระเยซูเจ้า : ตามที่ได้อ้างอิงจากพระคัมภีร์ว่า “ในองค์พระคริสตเจ้านั้น พระเทวภาพบริบูรณ์อยู่ในสภาพบริบูรณ์ที่สัมผัสได้”(คส. 2:9] เรื่องการประทับอยู่ในพระบิดานี้ พระวรสารของยอห์นเผยแสดงว่า “ท่านไม่เชื่อหรือว่า เราดำรงอยู่ในพระบิดา และพระบิดาทรงดำรงอยู่ในเรา” (ยน.14:10) ส่วนเรื่องที่พระเยซูประทับอยู่ในพระจิตนั้น พระวรสารของลูกายืนยันว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอมอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก.23:46) จากนั้นพระจิตได้จากไปจากพระเยวูเจ้าและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และนี้เป็นการยืนยัน "ร่างกายที่ปราศจากวิญญาณ ย่อมตายแล้ว” (ยก.2:26) "พระจิตเจาเป็นผู้ประทานชีวิต ลำพังมนุษย์ทำอะไรไม่ได้”(ยน. 6:63)

          2. พระแม่มารีย์ทรงครรภ์ : เราทราบแล้วว่าพระจิตทรงแยกออกจากพระบุตรในชั่วขณะที่พระเยซูเจ้าทรงรับความตาย เรื่องนี้ทำให้เราทราบได้ว่าพระจิตประทับอยู่ในพระเยซูเมื่อไร เราพบคำตอบในพระวรสารของลูกาเมื่อเราอ่านเหตุการณ์ของทูตสวรรค์มาแจ้งสารแด่พระแม่มารีย์ “ท่านจะตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ท่านจะตั้งชื่อเขาว่าเยซู...พระจิตจะเสด็จลงมาเหนือท่านและพระอานุภาพของพระผู้สูงสุดจะแผ่เงาปกคลุมท่าน ”(ลก.1:31,35) จากการเผยแสดงนี้ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าพระจิตเจ้าประทับอยู่ในพระเยซูเจ้าขณะที่พระครรภ์ของพระแม่มารีย์ ภายในพระครรภ์ของพระแม่มีพระกายของพระเจ้าประทับอยู่ ซึ่งไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์มากเช่นนี้ บรรดานักบุญต่างได้รับพระจิตใจรูปของธรรมชาติฝ่ายจิตเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระแม่มารีย์จึงได้รับสิทธพิเศษที่ยิ่งใหญ่ ดังที่พระแม่ภาวนาว่า “เพราะพระองค์ทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์ ตั้งแต่นี้ไป ชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์” (ลก. 1:48b- 49)

          3. ศีลมหาสนิท : ในระหว่างการรับทานอาหารค่ำครั้งสุดท้าย พระเยซูเจ้า “ทรงหยิบขนมปัง ทรงขอบพระคุณ ทรงปิขนมปังประทานให้บรรดาสานุศิษย์ นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด”(ลก. 22:19) นี้เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่เราได้กระทำสืบทอดต่อกันมาจากกระทั่งทุกวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่กับเราจริงตามที่พระองค์ตรัสว่า “จงรู้ไว้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปจนสิ้นพิภพ”(มธ.28:20) ในศีลมหาสนิทเป็นการปรากฏพระองค์ของพระตรีเอกภาพอย่างแท้จริง พระบิดาและพระจิตดำรงอยู่ในพระเยซูในขณะที่พระองค์ทรงดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ และพระบิดาและพระจิตดำรงอยู่ในพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท

       
4. พิธีมิสซาขอบพระคุณ : เมื่อพระสงฆ์เริ่มการเฉลิมฉลองพิธีมิสซาฯ ท่านจะเริ่มพิธีโดยการทำเครื่องหมายกางเขน “เดชะพระนาม พระบิดา พระบุตร และพระจิต” และเมื่อถึงตอนจบพิธีฯพระสงฆ์อวยพระพรสัตบุรุษว่า “ขอพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ พระบิดา พระบุตร และพระจิต ประทานพระพรแก่ท่าน” และในบทภาวนาระหว่างพิธีมิสซาฯ เราจะเห็นการเอ่ยพระนามหรืออ้างถึงพระตรีเอกภาพอยู่เสมอๆ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความเชื่อเรื่องพระตรีเอกภาพ

        5. การอวยพร หรือ การเสกสิ่งของต่างๆ : พระสงฆ์จะภาวนาและทำพิธีเสกสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นวัด โรงเรียน บ้าน โรงพยาบาล ท้องทุ่ง ฯลฯ หรืออวยพรสัตบุรุษด้วยการเอ่ยพระนามของพระตรีเอกภาพ
 
        6. การภาวนา : ในบทภาวนาต่างๆมีการออกพระนามของพระตรีเอกภาพ เป็นต้นบท “พระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดา พระบุตร และพระจิต” บทภาวนานี้พวกเราสวดกันในชีวิตประจำวัน เป็นร้อยเป็นพันครั้งแล้ว

        7. บทเพลงและการขับร้อง : การภาวนาโดยออกพระนามพระตรีเอกภาพไม่ได้จำกัดอยู่แค่การภาวนาเท่านั้น แต่ยังได้แสดงออกถึงความเชื่อนี้ในบทเพลงต่างๆที่พวกเราขับร้องในระหว่างพิธีมิสซาฯ
 
        8. ศีลล้างบาป : เราทุกคนได้รับศีลล้างบาปอย่างถูกต้องในพระนามของของพระตรีเอกภาพ คือ พระบิดา พระบุตร และพระจิต ตามพระบัญชาของพระเยซูเจ้า ในมัทธิว 28:19

        9. พิธีกรรม : ในพิธีกรรมทุกๆอย่างของพระศาสนจักรคาทอลิก เราจะอ้างถึงการประทับอยู่ของพระตรีเอกภาพเสมอ ในศีลกำลัง ศีลเจิม ศีลอภัยบาป ศีลบวช ศีลแต่งงาน และในงานศพ ในวจนพิธีกรรม นพวาร นมัสการศีลมหาสนิท ฯลฯ

       10. ในธรรมประเพณี : เมื่อเราศึกษาประวัติของพระศาสนจักร ในยุคต้นๆ เป็นต้น ในงานเขียนของบรรดาปิจารย์ ในเอกสารของการประชุมสังคยานาต่างๆมักจะลงท้ายด้วยการยืนยันถึงความเชื่อในพระตรีเอกภาพ

       11. ในตัวของพระสงฆ์/นักบวช : เมื่อพระสงฆ์ประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระเยซูเจ้าเองที่ทรงเป็นผู้ประกอบพิธีนั้น พระสงฆ์เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าที่มองเห็นได้ในโลกนี้ เมื่อเรารับศีลมหาสนิทเราได้รับจากมือของพระเยซูเจ้า เมื่อรับการอภัยบาป เป็นพระเยซูเจ้าที่ทรงยกบาปให้เรา

       12. บรรดาสัตบุรุษ : ชีวิตของสัตบุรุษทุกคนก็เต็มไปด้วยการประทับอยู่ของพระตรีเอกภาพ พระจิตเจ้าประทับอยู่ในสัตบุรุษแต่ละคนที่มีชีวิตอยู่ในพระหรรษทาน(ไม่มีบาปหนัก) พระบิดาและพระบุตรประทับอยู่ในเราแต่ละคนด้วยเช่นกัน

             ก่อนที่เราจะเฉลิมฉลองพิธีมิสซาฯ ให้เราได้สำรวจตนเองว่าเราได้สำนึกถึงการประทับอยู่ของพระตรีเอกภาพมากน้อยเพียงใด ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่เราทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขน เราได้กระทำด้วยความตั้งใจและด้วยความเคารพหรือไม่

           ให้เราวอนของพระตรีเอกภาพ ขอให้พระองค์ทรงนำทางเราให้สามารถประพฤติตนได้อย่างเหมาะสมกับการที่จะได้รับชีวิตนิรันดร



คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทยรวมพลังรักษ์โลก ค.ศ.2024-2025

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2024

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก