บทสนทนาที่เป็นประเด็นเดือดจนทำให้พระเยซูเจ้าต้องถูกพิพากษาถึงตายโดยตรึงกางเขนประการหนึ่งก็คือ “จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน” (ยอห์น 2:19) คำพูดเชิงสัญลักษณ์ของพระเยซูเจ้านี้ถูกนำไปเป็นข้อกล่าวหาว่าพระเยซูเจ้าไม่ให้ความเคารพหรือดูหมิ่นเหยียดหยามต่อพระวิหารซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิว เพราะเป็นที่ประทับของพระเจ้า และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพวกเขา คำกล่าวหาเช่นนี้ หาแนวร่วมเพื่อสร้างความเกียจชังและการแบ่งแยกได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งแท้จริงแล้ว เรื่องกลับเป็นตรงกันข้ามกัน
จากชีวิตของพระเยซูเจ้านั้นทรงมีความผูกพันกับพระวิหารมาโดยตลอด ยกตัวอย่างเช่น นักบุญยอแซฟและพระแม่มารีย์ได้นำพระกุมารเยซูไปถวายตัว ณ พระวิหาร สี่สิบวันหลังการบังเกิดของพระองค์(มัทธิว 5:33-34) เมื่ออายุ 12 ชันษา ทรงประทับอยู่ในพระวิหารกับท่ามกลางหมู่ธรรมมาจารย์(ลูกา 2:41) พระองค์ยังเสด็จขึ้นไปที่พระวิหารทุกปีในเทศกาลปัสกาและในยามที่มีการฉลองใหญ่ๆพระองค์ก็เสด็จไปร่วมงานด้วย พระองค์ทรงจ่ายภาษีบำรุงพระวิหาร พระองค์ทรงใช้พระวิหารเพื่อการสอนและการภาวนา และหลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงฟื้นคืนชีพแล้ว บรรดาอัครสาวกก็ยังคงให้ความเคารพต่อพระวิหารแห่งนี้เสมอ(เทียบ กิจการฯ 2:46; 3:1; 5:20-21) ดังนั้นการกล่าวหาที่ร้ายแรงนี้จึงไม่เป็นความจริงแต่ประการใด
ดังนั้นเมื่อเรามาพิจารณาถ้อยคำของพระเยซูเจ้าที่ว่า ““จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน” ประการหนึ่งพระองค์ทรงประกาศล่วงหน้าถึงความพินาศของมหาวิหารอันงดงามแห่งนี้ ซึ่งเป็นการประกาศถึงเครื่องหมายแห่งยุคสุดท้าย ซึ่งจะเป็น “ยุคใหม่แห่งความรอด” อีกประการหนึ่งทรงหมายถึงชีวิตของพระองค์เองที่เป็นพระวิหารของพระเจ้าที่จะต้องสิ้นพระชนม์จากนั้นสามวันก็จะทรงกลับฟื้นคืนชีพ แต่คำทำนายเหล่านี้ถูกบิดเบือนโดยพยานเท็จเมื่อเวลาที่พระองค์ทรงถูกสอบสวนที่บ้านของมหาปุโรหิตและถูกนำมาย้อนเป็นคำสบประมาทต่อพระองค์เมื่อทรงถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน (CCC ข้อ 585-586)
ในอีกความหมายหนึ่งของคำว่า “พระวิหาร” ที่ใกล้ตัวของเรามากที่สุดก็คือ “ท่านทั้งหลายไม่รู้หรือว่าท่านเป็นพระวิหารของพระเจ้า และพระจิตของพระเจ้าทรงพำนักอยู่ในท่าน”(1โครินธ์ 3:16)
ดังนั้น เมื่อเราเทียบเคียงกับการที่พระเยซูเจ้าทรงขับไล่บรรดาพ่อค้า ทรงคว่ำโต๊ะของผู้แลกเงิน ทรงขับไล่ทั้งคนและสัตว์ออกจากพระวิหาร จึงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเราคริสตชน เป็นต้นในระหว่างเทศกาลมหาพรตนี้ นั้นก็คือ เมื่อพระเยซูเจ้าทรง “ชำระพระวิหาร” เราเองก็ “ต้องชำระจิตใจ” ของเราด้วยเช่นกัน บุคคล สัตว์และสิ่งของต่างๆที่พระเยซูทรงขับไล่นั้น เปรียบได้กับความบาปต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บาปต้น 7 ประการ ซึ่งได้แก่ จองหอง ตระหนี่ อุลามก อิจฉา โลภอาหาร โมโห และเกียจคร้าน พฤติกรรมเช่นนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เลวร้ายอื่นๆมากมาย ดังนั้นเราต้องขับไล่มันออกไป
พระศาสนจักรจึงเชิญชวนเราทุกคนให้ใช้ช่วงเวลามหาพรตนี้ชำระจิตใจ กลับใจ เปลี่ยนแปลชีวิต โดยการเข้าไปสารภาพบาปและใช้โทษบาป ในเวลาเดียวกัน นอกจากการชำระจิตใจให้สะอาดแล้ว เราต้องเติมจิตใจของเราด้วยกิจการที่ดีด้วยกิจเมตตา เช่น งานเมตตาฝ่ายกายได้แก่ การให้อาหารแก่ผูหิวโหย ให้น้ำแก่ผู้กระหาย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่ไม่มีนุ่งห่ม ให้ที่พักแก่ผู้ที่ไร้ที่อยู่ เยี่ยมผู้ป่วย เยี่ยมคนติดคุก ฝังศพผู้ล่วงลับ งานเมตตาฝ่ายจิต ได้แก่ ให้คำแนะนำแก่ผู้สงสัย สอนคนที่ไม่รู้ ตักเตือนคนบาป บรรเทาใจผู้ทุกข์ยาก ให้อภัยแก่ผู้กระทำผิด อดทนต่อความผิดของผู้อื่นด้วยความเพียร และภาวนาสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย
บ้านของเรา เรายังเก็บกวาดเช็ดถูทุกวัน แล้วใจของเราเล่า จะปล่อยให้สกปรกด้วยบาปต่างๆกระนั้นหรือ บ้านของเรา เรายังหาสิ่งของต่างๆมาประดับให้สวยงามน่ามองน่าอยู่อาศัย แล้วเราไม่คิดที่จะประดับตนเองด้วยคุณงามความดีบ้างหรือ