การที่เรารับฟังอะไรโดยไม่สงสัยและตรวจสอบก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาได้ เช่น ความเข้าใจผิดต่อกัน ความโกรธ ความเกียจชัง การติฉินนินทา การดูถูกดูแคลน ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ฯลฯ
“ความสงสัย” จึงมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของเรา เพราะทำให้เราได้ “ค้นหาความจริง” และจากการค้นหาทำให้เราได้รับความรู้ที่ถูกต้อง นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ เดการ์ตส์(Descartes)ได้กล่าวไว้ว่า “ความสงสัยเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาความรู้และความจริง” ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ความสงสัยนอกจากจะก่อให้เกิดความรู้แล้ว ความสงสัยยังเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการแสวงหาความเชื่อและความศรัทธาอีกด้วย
พระวรสารของวันอาทิตย์นี้เล่าถึงสาวกของพระเยซูเจ้าคนหนึ่งที่ชื่อว่า “โทมัส” เขาไม่ได้อยู่ร่วมกับบรรดาสาวกคนอื่นๆในขณะที่พระเยซูเจ้าปรากฏพระองค์มาอยู่ท่ามกลางพวกเขา เมื่อคนอื่นๆบอกเขาว่า “พวกเราได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” เขาไม่เชื่อและยังได้พูดว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปในรอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด” หลังจากนั้นแปดวันพระเยซูเจ้าได้ปรากฏพระองค์ให้ศิษย์เห็นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้โทมัสอยู่ด้วย พระเยซูผู้ทรงกลับฟื้นคืนชีพได้ตรัสกับโทมัสโดยตรงว่า “จงเอานิ้วมาที่นี่ และดูมือของเราเถิด จงเอามือมาที่นี่ คลำที่สีข้างของเราเถิด อย่าสงสัยอีกต่อไปเลย แต่จงเชื่อเถิด” เมื่อโทมัสได้เห็นอย่างนี้จึงสารภาพหมดหัวใจว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าจึงได้ประทานคำสอนที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งให้แก่เราคือ “ท่าน(โทมัส)เชื่อเพราะว่าได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อ แม้ไม่ได้เห็นก็เป็นสุข”(เทียบ ยน. 20:19-31)
หลายคนอาจจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อโทมัสเมื่อเห็นปฏิกิริยาของเขาต่อข่าวเรื่องพระเยซูเจ้าเสด็จมาให้เห็น โทมัสเกิดความสงสัยและต้องการพิสูจน์ มุมที่ดีของเขาก็คือ เขาไม่ได้เป็นบุคคลที่เชื่ออะไรใครง่ายๆ ไม่ได้เชื่อเพราะได้ฟังคนอื่นพูด ไม่ได้นินทาว่าร้ายใคร ไม่ได้เป็นคนเฉื่อยชา เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง หรือเป็นคนที่ไม่รู้แต่ชอบพูดชอบแสดงความคิดเห็น
โทมัสต้องการความชัดเจน ต้องการพิสูจน์ ต้องการหลักฐานเชิงประจักษ์
แน่นอนความเชื่อในองค์พระเยซูเจ้านั้นไม่ได้เป็นความเชื่อที่ขาดหลักฐานหรือเหตุผลเชิงประจักษ์รองรับ แต่ความเชื่อในพระเยซูเจ้านั้นเป็นผลพวงมาจากความปรารถนาลึกๆที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคน เป็นความปรารถนาที่ต้องการแสวงหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ด้วยความปรารถนาเช่นนี้ทำให้มนุษย์เราต้องศึกษา ขบคิด ไตร่ตรอง ภาวนา ฯลฯ ซึ่งพฤติการณ์ต่างๆเหล่านี้มนุษย์เรากระทำเพื่อหาคำตอบให้กับ “ความสงสัย” ที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจของตน ใครที่ไม่เคยสงสัยเลยก็นับว่าเป็นบุญ แต่บุคคลที่สงสัยและสามารถเอาชนะความสงสัยได้ บุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่มีความเชื่อที่เข้มแข็งยิ่งนัก
เหตุผลจึงช่วยทำให้ความเชื่อเข้มแข็งได้ แต่ความเชื่อไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุผลแต่อย่างเดียว ความเชื่อเป็นเรื่องที่อยู่เหนือเหตุผล เราสามารถแสวงหาความเชื่อได้ด้วยหลายวิธีด้วยกัน
อย่างไรก็ตามความเชื่อจึงไม่ได้หมายความว่าเราจะสงสัยอะไรไม่ได้ ขอให้เราดูตัวอย่างของนักบุญยอแซฟตอนที่ท่านได้รับแจ้งข่าวให้รับพระแม่มารีย์เป็นภรรยา ท่านมีความกังวลใจอย่างมาก แต่ท่านไม่ได้ยอมแพ้หรือหลีกเลี่ยงแผนการของพระเจ้า ท่านได้สวดภาวนาเพื่อขอความสว่างและแนวทางดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ด้วยความรอบคอบและชอบธรรม เพื่อให้แผนการของพระเจ้าสำเร็จไป
อีกบุคคลหนึ่งที่ใกล้ชิดกับเรามากคือพระแม่มารีย์ พระแม่ก็มีความสงสัยถึงกับบอกว่าเรื่องที่จะให้พระแม่เป็นพระมารดาพระบุตรของพระเจ้านั้นจะเป็นไปได้อย่างไร เช่นเดียวกัน พระแม่ได้ภาวนาอย่างหนักเพื่อขอพระหรรษทานหรือความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อให้พันธกิจนี้สำเร็จไปเช่นเดียวกัน
ความสงสัยเป็นเรื่องของสติปัญญา ส่วนความเชื่อเป็นเรื่องของหัวใจ เมื่อมีความเชื่อ ความสงสัยก็หมดไป
ความเชื่อเป็นพระพรของพระเจ้า เป็นสิ่งที่เราต้องวอนขอ “ขอให้ลูกมีความเชื่อต่อพระองค์ยิ่งๆขึ้น”
ในบทอ่านที่หนึ่ง ได้เล่าให้เราฟังถึงผลของความเชื่อที่บรรดาคริสตชนในยุคเริ่มแรกได้ปฏิบัติต่อกันและกัน “ผู้มีความเชื่อดำเนินชีวิตเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน....ในกลุ่มของเขาไม่มีใครผู้ขัดสน” (เทียบ กจ.4:32-35)
ป่วยการที่จะพิสูจน์ความเชื่อด้วยเหตุผล หรือด้วยสำนวนโวหาร แต่ให้ชีวิตของเราเป็นการพิสูจน์ถึงความเชื่อที่อยู่ในหัวใจของเราจะดีกว่า
พี่น้องทั้งหลาย จะมีประโยชน์ใดหากผู้หนึ่งอ้างว่ามีความเชื่อแต่ไม่มีการกระทำ ความเชื่อเช่นนี้จะช่วยให้เขารอดพ้นได้หรือ ถ้าพี่น้องชายหญิงคนใดขัดสนเครื่องนุ่งห่ม และไม่มีอาหารประจำวัน แล้วท่านคนหนึ่งพูดกับเขาว่า “จงไปเป็นสุขเถิด ขอให้อบอุ่นและอิ่มเถิด” แต่มิได้ให้สิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายแก่เขา จะมีประโยชน์ใดเล่า ความเชื่อก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีการกระทำ ก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว(ยก 2:14-17)