PAX ET CARITAS : สันติภาพและความรัก



            ส่วนแรกของบานประตูเขาได้วาดโอ่งใส่น้ำหกใบ เพื่ออ้างอิงถึงอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนน้ำธรรมดาให้เป็นเหล้าองุ่นชั้นเยี่ยมที่เมืองคานา

            บานประตูที่สอง เขาได้วาดภาพขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัว เพื่ออ้างอิงถึงอัศจรรย์ที่เมืองคาเปอร์นาอุม สถานที่พระเยซูเจ้าได้ทรงทวีขนมปังและปลาเพื่อเลี้ยงคนเป็นจำนวนมาก

            บานประตูที่สาม เขาได้วาดภาพคนสิบสามคนที่นั่งโต๊ะอาหารร่วมกัน เพื่ออ้างอิงถึงการรับทานอาหารค่ำครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้ากับบรรดาอัครสาวก

            บานประตูที่สี่ เขาได้วาดภาพชายสามคนนั่งอยู่ที่โต๊ะ เพื่ออ้างอิงถึงการรับทานเลี้ยงปัสกากับศิษย์สองคนที่หมู่บ้านเอมมาอุส

             ศิลปินท่านนี้จงใจเลือกภาพเหตุการณ์ทั้งสี่มาประดับที่บานประตู เพราะทุกเหตุการณ์นี้เชื่อมโยงกับพิธีมิสซาฯที่เราเฉลิมฉลองกันเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ เหตุการณ์ทั้งสี่เกี่ยวพันธ์กับที่พระเยซูเจ้าทรงมอบตนเองเป็นของขวัญที่ล้ำค่าให้เราทุกคนโดยผ่านทางแผ่นปังและเหล้าองุ่นหรือศีลมหาสนิทนั้นเอง

              คราวนี้ให้เราพิจารณาถึงความหมายของเหตุการณ์ทั้งสี่นี้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับพิธีมิสซาฯอย่างไร โดยเริ่มจากอัศจรรย์การเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นชั้นเยี่ยมก่อน


            ในเรื่องนี้บางทีคนในสมัยนี้อาจจะเข้าใจหรือยอมรับได้ยาก ว่าเป็นไปได้อย่างไร แต่สำหรับคริสตชนในยุคแรกๆนั้นไม่มีปัญหาอะไร เพราะพวกเขามีความคุ้นเคยกับเรื่องทำนองนี้อยู่บ่อยๆ พวกเขา ทำงานในสวนองุ่นในฤดูร้อนเมล็ดองุ่นตกลงบนพื้น เมื่อสถานที่ อากาศและแสงแดดพอเหมาะก็จะกลายเป็นเหล้าองุ่นได้

              แต่ความสำคัญของอัศจรรย์ที่เมืองคานานี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าพระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นได้อย่างไร แต่สิ่งที่ควรคิดก็คือ ทำไมพระเยซูเจ้าทรงกระทำอัศจรรย์นี้ พระองค์ทรงกระทำเพื่อรักษาหน้าตาของเจ้าภาพหรือคู่สมรสหนุ่มสาวคู่นั้นเท่านั้นหรือ

              ศิลปินผู้ออกแบบภาพบนบานประตูแนะนำว่าพระเยซูเจ้าทรงมีเหตุผลที่ลุ่มลึกไปมากกว่านั้น พระเยซูเจ้าทรงต้องการที่จะเตรียมจิตใจสานุศิษย์ของพระองค์ไปสู่เหตุการณ์สำคัญคือการรับทานอาหารค่ำครั้งสุดท้าย ณ ที่นั้น พระเยซูเจ้าจะทรงเปลี่ยนเหล้าองุ่นให้เป็นพระโลหิตของพระองค์เอง

               จากเรื่องนี้ให้เราพิจารณาถึงภาพที่สองบนบานประตูนั้น คือภาพขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัว

               เช่นเดียวกัน คนสมัยของเราอาจจะเข้าใจได้ยาก หรือมีการอธิบายในรูปแบบทางสังคมธรรมดาๆ เช่น การช่วยเหลือกัน ฯลฯ แต่สำหรับคริสตชนในสมัยนั้นก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกอีกเช่นกัน เพราะเหตุการณ์คล้ายๆกันนี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในท้องทุ่งของพวกเขา พวกเขาอาจจะปลูกข้าวสาลีจำนวนหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ แต่เมื่อจบฤดูร้อนข้าวที่ปลูกเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า

          เช่นเดียวกัน ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน คำถามที่เราควรถามไม่ใช่ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเช่นนี้ทำไม พระเยซูเจ้าต้องการสอนอะไรผ่านเหตุการณ์นี้ พระองค์ทรงใช้โอกาสนี้เพื่อบอกกับประชาชนว่าในไม่ช้าพระองค์จะทรงเลี้ยงพวกเขาให้อัศจรรย์มากกว่าที่ทำอยู่ในขณะนี้อีก พระองค์จะทรงเลี้ยงดูให้อัศจรรย์ใจยิ่งกว่าที่โมเสสเลี้ยงดูประชากรชาวยิวในขณะที่เดินทางอยู่ในที่เปลี่ยว พระเยซูเจ้าตรัสกับประชาชนว่า

               “เราขอบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่ามิใช่โมเสสที่ให้ขนมปังจากสวรรค์แก่ท่าน...เราเป็นปังทรงชีวิต ที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไป และปังที่เราจะให้นี้ คือ เนื้อของเราเพื่อให้โลกมีชีวิต”(ยอห์น 6:32,51)

         ให้เราพิจารณาภาพที่สามจากบานประตู คนสิบสามคนร่วมโต๊ะอาหารเดียวกัน

        ในการรับทานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายนี้ พระเยซูเจ้าทรงกระทำอะไรที่มากว่าการเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น แต่พระองค์ทรงเปลี่ยนเหล้าองุ่นให้เป็นพระโลหิตของพระองค์ และพระองค์ทรงกระทำอะไรที่มากกว่าแค่การทวีขนมปังเลี้ยงประชาชนให้คลายความหิว พระองค์ทรงเปลี่ยนขนมปังให้เป็นเนื้อของพระองค์เอง มาระโกได้อธิบายเรื่องนี้ในพระวรสารของท่านว่า

          “ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงปิขนมปัง ประทานให้เขาเหล่านั้นตรัสว่า จงรับเถิด นี้เป็นกายของเรา”

          “แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสขอบพระคุณประทานให้เขาและทุกคนดื่มจากถ้วยนั้น พระองค์ตรัสกับเขาว่า นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก”

           จากนั้นให้เราพิจารณาภาพสุดท้ายจากบานประตูนี้ ชายสามคนนั่งร่วมโต๊ะอาหาร ซึ่งเป็นงานเลี้ยงปัสกาที่พระเยซูเจ้าทรงรับทานร่วมกับศิษย์สองคน

          ศิลปินได้ตีความว่าการทานเลี้ยงปัสกาที่หมู่บ้านเอมมาอุสนี้เป็นการเฉลิมฉลองงานเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้าครั้งแรก(หลังจากการตั้งพิธีศิลมหาสนิทในงานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย นักบุญลูกาได้บรรยายถึงเหตุการณ์ในขณะนั้นว่า “ขณะประทับที่โต๊ะกับเขา พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงปิขนมปังและยืนให้เขา”(ลูกา 24:30) การบรรยายนี้ตรงกับถ้อยคำและสิ่งที่พรเยซูเจ้าทรงกระทำในขณะที่รับทานอาหารค่ำครั้งสุดท้าย

            ภาพทั้งสี่บนบานประตูของศิลปินท่านนี้จึงเป็นบทสรุปถึงงานเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นลำดับขั้นตอนตามที่มีการบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ เริ่มจากงานเลี้ยงที่คานาเป็นการเริ่มให้เราได้เห็นเค้าโครงของพิธีมิสซาฯ จากนั้นมายังเมืองคาร์เปอร์นาอุมสถานที่พระองค์ทรงสัญญาว่าจะเลี้ยงดูประชากรของพระองค์ด้วยอาหารทิพย์จากสวรรค์ มาที่กรุงเยรูซาเล็มซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงตั้งพิธีศีลมหาสนิท และที่หมู่บ้านเอมมาอุสเป็นสถานที่พระองค์ทรงเฉลิมฉลองพิธีมิสซาฯรครั้งแรกกับศิษย์สองคนนั้น

            ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมานี้หลอมรวมกันอย่างสวยงามในวันฉลองพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้าในวันอาทิตย์นี้
             การฉลองพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้านี้เป็นการฉลองพระเยซูเจ้าเองที่ทรงมอบตัวของพระองค์เองให้เป็นอาหารฝ่ายจิตสำหรับเราคริสตชนทุกคน
              การเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกแห่งความรักของพระเยซูเจ้านี้เป็นเรื่องที่อยู่เหนือจินตนาการของเรามนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงแสดงความรักต่อเรามนุษย์มิใช่เพียงแต่ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เสียสละทุกอย่าง ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่าง จนกระทั่งยอมตายเพื่อเรา แล้วที่สุดยังมอบเลือดและเนื้อหรือตัวตนของพระองค์ให้กับเรามนุษย์ด้วย เป็นการมอบให้อย่างไม่ห่วงแหนหรือเหลืออะไรไว้สำหรับตัวของพระองค์เอง

              เมื่อหลายปีก่อนได้มีการค้นพบซากเรือเก่าแก่ของชาวสเปนที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลทางเหนือของไอร์แลนด์ หนึ่งในสมบัติที่พบในเรือนั้นเป็นแหวนแต่งงานที่มีการแกะสลักเป็นภาพของมือที่กำหัวใจไว้ แล้วมีถ้อยคำจารึกไว้ว่า “ฉันไม่มีอะไรที่จะมอบให้เธอไปมากกว่านี้อีกแล้ว” (I have nothing more to give you)

              ภาพและถ้อยคำเช่นนี้ใช้ได้กับการเฉลิมฉลองของเราคริสตชนในวันนี้ เสมือนพระเยซูเจ้าตรัสกับเราว่า “ฉันมอบตัวของฉันทั้งสิ้นให้พวกเธอแล้ว ฉันไม่เหลืออะไรที่จะมอบให้เธออีกแล้ว”

               ขอให้เราได้ใช้เวลาสักเล็กน้อยเพื่อปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างที่เราควรจะกระทำให้เป็นกิจนิสัยในขณะที่ร่วมพิธีศีลมหาสนิทของเราทุกครั้ง คือ ในขณะที่ศาสนบริกรสงฆ์ได้ชูศิลมหาสนิทขึ้นและกล่าวว่า “นี่คือกายของเรา” ให้เราได้แสดงความเคารพโดยตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์และวางตัวเหมาะสม ถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ต่อหน้าเรา เพราะ

นี่คือพระกายของพระเยซูเจ้าเอง
นี่คือพระเยซูเจ้าที่ทรงบังเกิดที่เมืองเบธเลเฮ็ม
นี่คือพระเยซูเจ้าเองที่ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
นี่คือพระเยซูเจ้าเองที่ทรงกลับฟื้นคืนชีพจากความตาย

                เมื่อเราคิดและตระหนักเช่นนี้ ธรรมล้ำลึกเรื่องพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้าจะกลับเป็นพลังหรือบ่อเกิดแห่งการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เพราะนี้คือของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่พระบิดาทรงมอบให้แก่เรามนุษย์ทุกคน

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทยรวมพลังรักษ์โลก ค.ศ.2024-2025

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2024

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก