"เมื่อพระเจ้าทรงช่วยเหลือ ข้าพเจ้าไม่ขาดสิ่งใดเลย"
คุณพ่อไตรรงค์ มุลตรี
“ข้าพเจ้าถูกผลักอย่างรุนแรงให้ล้มลง แต่พระยาห์เวห์เสด็จมาช่วยข้าพเจ้า พระยาห์เวห์ทรงเป็นพละกำลังและทรงเป็นบทเพลงของข้าพเจ้า พระองค์ทรงเป็นผู้ช่วยข้าพเจ้าให้รอด”(สดด 118:13-14)
จำได้ว่ายังติดค้างงานเขียนให้สารสังฆมณฑลอยู่อีกหนึ่งบทความ เพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้วก่อนจะได้มีโอกาสมาเรียนวิชาพิธีกรรมที่ประเทศอิตาลี ได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์ธรรมทูตที่ประเทศกัมพูชาและสัญญาว่าจะแบ่งปัน“ประสบการณ์ธรรมทูต ตอน 2” แต่ด้วยความที่ยุ่งอยู่กับการเรียน และไม่มีใครทวงถามจึงได้ลืมไป จนกระทั่งบรรณาธิการได้ติดต่อขอให้แบ่งปันประสบการณ์การเรียน และการใช้ชีวิตในประเทศอิตาลีจึงรีบตอบตกลงและถ้าเป็นไปได้จะแบ่งปันสิ่งที่ติดค้างในครั้งต่อไปด้วยเลย
เวลาที่นึกย้อนกลับไปถึงวันที่ได้เดินทางมาเรียนที่นี่ ดูเหมือนว่าเหตุการณ์เหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่อันที่จริงแล้ว ผ่านมาถึง 3 ปี 3 เดือน จำได้ถึงความรู้สึกเมื่อรู้ตัวว่าจะถูกส่งมาเรียนวิชาพิธีกรรมที่สถาบันของคณะเบเนดิกตินในสังฆมณฑลปาดัว ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านนักบุญอันตนมาแพร่ธรรมและสิ้นใจที่นี่ มีความตื่นเต้นดีใจ ระคนกับความรู้สึกกลัวลึก ๆ ในใจ ตื่นเต้นดีใจ เพราะเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่สมัยเป็นเณรว่า อยากจะมาเรียนต่อที่ประเทศอิตาลี เพราะถือเป็นศูนย์กลางของพระศาสนจักรสากล ส่วนที่กลัวเพราะรู้ว่าวิชาพิธีกรรมเป็นวิชาที่ยาก แถมยังต้องเรียนภาษาอิตาเลียนและลาติน และโดยส่วนตัวไม่ได้ชอบวิชานี้เลย แต่ที่เลือกเรียนวิชานี้ เพราะเห็นว่าอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับงานแพร่ธรรมในกัมพูชา เนื่องจากยังไม่มีใครจบมาด้านพิธีกรรมโดยตรง อีกสิ่งหนึ่งที่กังวลคือวัยที่กำลังจะเข้าเลขสี่ คงไม่ง่ายนักที่จะมาเรียนรู้ จดจำ และปรับตัวกับสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะภาษาและวัฒนธรรมของทางยุโรป ที่แตกต่างจากเอเชียโดยสิ้นเชิงแต่ด้วยความนบนอบจึงได้ตอบรับผู้ใหญ่ของคณะธรรมทูตไทย ซึ่งการมาเรียนครั้งนี้ผมได้รับการการสนับสนุนจากสังฆมณฑลราชบุรี พระสังฆราช บรรดาพี่น้องสงฆ์ และได้ทุนการศึกษาจากสังฆมณทลปาดัว โดยให้พักอยู่ที่วัดนักบุญยุสติน่า มอนเตกัลด้า โดยมีข้อตกลงกับทางสังฆมณฑลปาดัว โดยการเรียนถือเป็นหน้าที่หลัก และการช่วยงานอภิบาลของวัดถือเป็นหน้าที่รอง
ผมเดินทางจากเมืองไทยมาถึงเวนิส ตอนสายของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2015 พร้อมด้วยหิมะที่ตกในวันที่มาถึงพอดี เป็นการต้อนรับการมาถึงอย่างหนาวเหน็บมีคุณพ่อซิลวาโน เจ้าอาวาสวัย 72 ปี ขับรถมารับพร้อมกับป้ายชื่อผม คุณพ่อพูดได้หลายภาษา แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย!!! โชคดีมีเจ้าหน้าที่ศูนย์สังฆมณฑลที่พูดภาษาอังกฤษได้มาช่วยเป็นล่ามแปลภาษา ปรากฏว่าวัดที่ผมจะต้องใช้ชีวิตอยู่ตลอดการศึกษาที่นี่ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษเลย ผมให้กำลังใจกับตัวเองว่างานนี้คงจะต้องพูดภาษาอิตาเลียนได้เร็วเป็นแน่ แต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ภาษาอิตาเลียน แม้จะไม่ยากเหมือนลาตินแต่ก็ยังยากมากสำหรับผม การเรียนภาษาเป็นไปแบบทุลักทุเล มีครูที่เกษียณแล้วมาช่วยสอนสัปดาห์ละสองวัน วันละ 2 ชั่วโมง และก่อนที่จะเปิดเรียนเดือนตุลาคม ผมได้ถูกส่งไปเรียนคอร์สภาษาแบบเข้มข้นที่เวโรน่าพร้อมกับบรรดาพระสงฆ์ นักบวช ที่เข้ามาเรียนในอิตาลีเป็นเวลา 2 เดือน คงไม่ต้องบอกนะครับว่าเวลาเปิดเทอมมา ภาษาอิตาเลียนของผมจะดีขนาดไหน!!!
นอกจากภาษาอิตาเลียนที่เป็นยาขมแล้ว ยังมีภาษาลาตินที่เป็นยาขมกว่า ต้องเรียนในหลักสูตรอีกหนึ่งปีพร้อมกับวิชาพิธีกรรมด้านต่าง ๆ ความยากลำบากไม่ใช่แค่เรื่องของภาษาเท่านั้น ความยากของวิชาพิธีกรรมที่เรียนด้วย การปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่โดยเฉพาะอากาศที่หนาวเย็น แถมยังมีเรื่องของการเดินทางที่ต้องออกเดินทางจากวัดตั้งแต่ 7 โมงเช้า โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวกับอุณหภูมิที่ติดลบ และต้องปั่นจักรยาน 5 ก.ม. ต่อรถเมล์ 45 นาทีและเดินอีกเกือบ 2 ก.ม. มีบางวันเวลาที่เหนื่อยและท้อแท้ ผมถามตัวเองว่าแล้วจะมาทนลำบากอยู่ทำไม ? ชีวิตธรรมทูตที่เขมรยังไม่ลำบากขนาดนี้เลย บางวันเหนื่อยกับการเดินทางและการเรียนจนหมดแรงและกำลังใจ
แต่แล้วผมก็ได้ยินเสียงของคุณพ่อท่านหนึ่งที่เตือนผมว่า “พ่อต้องคิดอยู่เสมอว่า การมาเรียนที่นี่เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่ทำเพื่อพระศาสนจักรที่เราจะกลับไปรับใช้” คำเตือนนี้เป็นเสมือนกำลังใจและคำตอบให้ผมว่าสิ่งที่กำลังทำนี้ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อรับใช้เพื่อนพี่น้อง
มีอยู่ครั้งหนึ่งมีโอกาสเล่าให้พระคุณเจ้าปัญญาฟังถึงความยากลำบากของผม พระคุณเจ้าบอกว่า “ถ้าไม่ไหวก็กลับบ้านเรา” ได้ฟังอย่างนี้แล้วใจผมชื่นขึ้นมาทันทีและรู้เลยว่าจะยอมแพ้ง่าย ๆ ไม่ได้ จึงได้บอกกับพระคุณเจ้าว่าผมขอลองสู้อีกสักยกหนึ่ง
สำหรับการเรียนในห้องเรียน ฟังรู้เรื่องแค่ 50-60 เปอร์เซนต์ผมต้องอาศัยขอเลคเชอร์ของเพื่อนชาวอิตาเลียนมานั่งแปลและอ่านทำความเข้าใจ และบันทึกเสียงของอาจารย์ทุกครั้งทุกวิชาเพื่อมาฟังซ้ำ ๆ นอกจากนี้ในวันที่ไม่มีเรียนจะต้องนั่งเรียนเอง ใน 1 วัน ใช้สูตร 3-3-3 คือ เช้าเรียน 3 ชั่วโมง บ่าย 3 และหลังอาหารค่ำอีก 3 ชั่วโมงยิ่งช่วงสอบไม่ต้องพูดถึง ท่องตำรากันจนจิตตกเลยก็ว่าได้ ไม่แน่ใจว่า นี่อาจเป็นการใช้โทษบาปที่ดีที่สุด เพราะยากลำบากเหลือเกิน ผมต้องเรียนทั้งหมด 29 วิชา ภายใน 2 ปี หมายถึงต้องสอบทั้งหมด 29 ครั้ง
นอกจากการเรียนแล้วนักเรียนทุนยังมีหน้าที่ช่วยงานอภิบาลเสมือนเป็นปลัดคนหนึ่ง คือ ช่วยทำมิสซาวันธรรมดาและวันอาทิตย์ ฟังแก้บาป ส่งศีลและงานจิปาถะตามแต่เจ้าวัดจะมอบหมาย จำได้ว่า ปีแรกภาษาก็ยังไม่ดี (อันที่จริงผ่านมา 3 ปีแล้วก็ยังไม่ดีหรอกครับ) แต่ต้องทำมิสซาวันอาทิตย์ถึง 3 รอบเพราะมีวัดใกล้ ๆ ยังไม่มีพระสงฆ์มาประจำ ยิ่งช่วงงานเทศกาลไม่ว่าจะเป็นคริสต์มาสหรือปัสกา ต้องนั่งฟังแก้บาปถึงวันละ 7-8 ชั่วโมง รู้เลยว่าทำไมนักบุญยอห์น มารีย์ เวียนเน และ คุณพ่อปีโอถึงได้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการบ่นถึงความยากลำบากให้ผู้อ่านเห็นใจผมนะครับ แต่อยากจะแบ่งปันให้เห็นความอัศจรรย์ในความรักของพระเจ้าที่มีต่อตัวผม ยิ่งลำบากพระเจ้ายิ่งอยู่ใกล้เรา ผมรู้และเข้าใจเลยว่าพระเจ้านั้นยิ่งใหญ่และทุกสิ่งเป็นไปได้สำหรับพระองค์ ที่ผ่านมาได้ก็เพราะความช่วยเหลือและความเมตตาจากพระองค์ทั้งสิ้น เพราะถ้าทำด้วยแรงของตัวเราเองแล้ว ป่านนี้คงกลับบ้านไปนานแล้ว สิ่งที่ผมได้รับจึงไม่ใช่แค่วิชาความรู้ที่มาศึกษาเท่านั้น แต่เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ได้มากกว่าวิชาการด้วยซ้ำ ได้ฝึกฝนความอดทนอย่างมาก ๆ รู้จักที่จะถ่อมตัวและขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ที่สำคัญได้สวดภาวนาและมีความไว้ใจในพระมากขึ้น ความจริงผมยังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเรียนกำลังเขียนวิทยานิพนธ์ ถ้าทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดีปลายปีนี้ก็จะป้องกันวิทยานิพนธ์ ถือเป็นการสิ้นสุดการเรียน และจะได้กลับเมืองไทยอันเป็นที่รักสักที ขอคำภาวนาจากท่านผู้อ่านด้วยนะครับ และหวังว่าจะได้พบกันปลายปีนี้
(จากสารสังฆมณฑลราชบุรี ฉบับที่ 1 เดือนพฤษภาคม - เดือนสิงหาคม 2018 )