กว่าจะถึงบ้านเณรก็สายเสียแล้ว
เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับจำนวนของ “เณรเล็ก” ของแต่ละบ้านเณร ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนของของ “เณรกลาง” ที่โคราช และ “เณรใหญ่” ที่บ้านเณรแสงธรรม สามพราน จนมีผู้ให้การอบรมหลายท่านคาดการณ์ว่า “ถ้าตัวเลขของเณรเล็กยังคงเป็นอย่างนี้(คือน้อยลงไปทุกปี) คงจะต้องมีการปิดบ้านเณรเล็กลงอย่างแน่นอน”
ปรากฏการณ์นี้คงไม่เหมือนกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างที่เราไม่ทันรู้ตัว จึงยากแก่การป้องกัน สาเหตุที่ว่าทำไมเณรหรือเด็ก ๆ ไม่สนใจเข้ารับการอบรมเพื่อเป็นพระสงฆ์หรือนักบวชมาจากอะไร นี่เป็นคำถามปลายเปิดที่อยากให้ทุกคนช่วยกันระดมความคิดเห็น และหาทางออก หลายคนเสนอแนะว่า ปัญหานี้ควรเป็นวาระของพระศาสนจักร ของสังฆมณฑล ของวัด ของชุมชน ของโรงเรียน และขององค์กรที่อยู่ภายใต้ชื่อว่าคาทอลิกทุกองค์กร
สนามความคิดขอเสนอความคิดเล็ก ๆ ประการหนึ่ง คือ ถ้าเราต้องการให้มีกระแสเรียกเป็นสงฆ์ นักบวชชายหญิง(บราเดอร์ ซิสเตอร์) เราต้องให้ความสำคัญกับการอภิบาลเด็กและเยาวชนของเรา
ถ้าวัดทุกวัด โรงเรียนคาทอลิกทุกโรงเรียนให้ความสำคัญกับการอภิบาลเด็กๆและเยาวชน เอาใจใส่จัดกิจกรรมต่างๆเพื่อดึงดูดเด็กๆให้เกิดความคุ้นเคยและใกล้ชิดกับวัดเป็นต้นคุ้นเคยกับคุณพ่อ บราเดอร์ ซิสเตอร์ ก็หวังได้ว่าแบบอย่างต่างๆที่เด็กๆได้พบจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดกระแสเรียกของการเป็นสงฆ์นักบวชมากขึ้น
ตัวอย่างที่วัดต่างๆได้กระทำให้เห็นแล้ว คือ การจัดการเรียนคำสอนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในวันอาทิตย์ปรกติ และเป็นต้นในระว่างปิดภาคเรียน การจัดให้มีคณะเด็กช่วยมิสซาฯ คณะขับร้อง จัดการแสวงบุญ เข้าเงียบ เล่นเกม ไปฉลองวัด ไปเที่ยว พักผ่อนร่วมกัน แข่งขันกีฬาระหว่างวัด ฯลฯ
ส่วนโรงเรียนที่มีเด็กสมัครเข้าบ้านเณรนั้น มีโรงเรียนแห่งหนึ่งที่มีเด็กคาทอลิกน้อยมากไม่ถึง 30 คน แต่ปรากฏว่ามีเด็กสมัครเข้าบ้านเณรเกือบทุกปี น่าสนใจมากว่าเขาทำอย่างไรจึงเพาะบ่มกระแสเรียนเบื้องต้นได้ขนาดนี้ เขามีผู้รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยงกับเด็กคาทอลิกหรือไม่ มีการสอนคำสอนสม่ำเสมอและอย่างมีคุณภาพหรือไม่ มีกิจกรรมคาทอลิกอะไรที่เสริมให้เด็กๆได้เป็นคาทอลิกที่ดี ฯลฯ
ถ้าเราไม่เอาใจใส่ที่เด็ก ไม่ทุ่มเทลงไปที่เด็ก ก็คิดว่า “กว่าจะถึงบ้านเณรก็สายเสียแล้ว”