UT UNUM SINT : เพื่อทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน

สารสมเด็จพระสันตปาปาฟรังซิสในโอกาสวันแพร่ธรรมสากล ประจำปี 2015สารสมเด็จพระสันตปาปาฟรังซิส
ในโอกาสวันแพร่ธรรมสากล ประจำปี 2015
พี่น้องที่รัก
           วันอาทิตย์แพร่ธรรมสากลประจำปี 2015 ปีนี้อยู่ในบริบทของปีชีวิตนักบวช ซึ่งช่วยให้มีการส่งเสริมการสวดภาวนาและการไตร่ตรองเพิ่มมากขึ้น ถ้าคริสตชนผู้ได้รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนได้รับเรียกให้เป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซูเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า ด้วยการประกาศความเชื่อที่เขาได้รับมาเป็นดั่งพระพร สิ่งนี้ยิ่งสำคัญสำหรับนักบวชชายและหญิงแต่ละคน ชีวิตนักบวชกับพันธกิจการแพร่ธรรมนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน

ความปรารถนาที่จะติดตามพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิด ปรากฏออกมาให้เห็นด้วยชีวิตการเป็นนักบวชในพระศาสนจักร ด้วยการตอบรับการเรียกของพระองค์ให้แบกกางเขนและติดตามพระองค์ เพื่อกระทำตามแบบอย่างการอุทิศตนของพระองค์แด่พระบิดา การรับใช้และความรักของพระองค์ ด้วยการยอมสูญเสียชีวิตเพื่อได้รับชีวิต ทั้งนี้เพราะชีวิตทั้งชีวิตของพระคริสตเจ้ามีลักษณะธรรมทูต ดังนั้น ทุกคนที่ติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิดจึงต้องรักษาคุณภาพแห่งการแพร่ธรรมของพระองค์ไว้ด้วย

         มิติแห่งการแพร่ธรรมซึ่งเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของพระศาสนจักร เป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดมิได้ในชีวิตนักบวชทุกประเภท และเป็นสิ่งที่ถูกละเลยไม่ได้ แม้จะอ้างถึงจิตตารมณ์ที่ต่างกันของแต่ละคณะนักบวชก็ตาม การเป็นผู้แพร่ธรรมไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตหรือยุทธวิธี แต่การแพร่ธรรมเป็นส่วนหนึ่งของ “หลัก” ความเชื่อ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ฟังเสียงของพระจิตเจ้าซึ่งกระซิบว่า “จงมา” และ ”จงไป” ผู้ที่ติดตามพระคริสตเจ้าจะไม่มีวันพลาดจากการเป็นธรรมทูต เพราะพวกเขาทราบดีว่าพระเยซูเจ้า “ทรงเดินไปกับเขา ตรัสพร้อมกับเขา หายใจพร้อมกับเขา และทำงานพร้อมกับเขา เขารู้สึกถึงพระเยซูเจ้าผู้ทรงชีวิตอยู่กับเขา ในท่ามกลางกิจการธรรมทูต” (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร 266)

          การแพร่ธรรมคือความรักผูกพันต่อพระเยซูเจ้า และในขณะเดียวกันก็เป็นความรักต่อประชากรของพระองค์ เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน เราได้เห็นความรักอย่างลึกซึ้งของพระองค์ซึ่งมอบศักดิ์ศรีและค้ำจุนเรา ขณะเดียวกันเราก็ตระหนักดี ว่าความรักที่หลั่งไหลมาจากดวงพระหฤทัยที่ถูกแทงของพระเยซูเจ้าแผ่ขยายมาโอบกอดประชากรของพระเจ้าและมวลมนุษยชาติ เราตระหนักอีกครั้งว่าพระองค์ประสงค์จะใช้เรา เพื่อพระองค์จะได้ใกล้ชิดกับประชากรที่พระองค์ทรงรักมากยิ่งขึ้น (เทียบ ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร 268) และทุกคนที่แสวงหาพระองค์ด้วยความจริงใจ จากคำสั่งของพระเยซูที่ตรัสว่า “จงไป” เราเห็นได้ถึงภาพและความท้าทายในปัจจุบันของการแพร่ธรรมในพระศาสนจักร สมาชิกของพระศาสนจักรทุกคนถูกเรียกให้ประกาศข่าวดีโดยการเป็นประจักษ์พยานด้วยการดำเนินชีวิตของพวกเขา ด้วยวิธีการเฉพาะของบรรดานักบวชชายและหญิง พวกเขาถูกขอให้ฟังเสียงของพระจิตเจ้าซึ่งเรียกให้เขาไปยังสุดเขตแดน ไปยังพื้นที่ซึ่งยังไม่เคยได้รับการประกาศข่าวดี

          ในโอกาสครบรอบห้าสิบปีของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง ของพระสมณกฤษฎีกา ว่าด้วยงานธรรมทูตของพระศาสนจักร เป็นการเชิญชวนเราทุกคนให้อ่านเอกสารดังกล่าวอีกครั้ง และนำเนื้อหาในเอกสารมาทบทวนไตร่ตรอง พระสมณกฤษฎีกานี้ได้เรียกร้องให้คณะนักบวชทุกคณะทำงานด้านการแพร่ธรรมอย่างเข้มแข็ง สำหรับคณะนักบวชที่เป็นอารามนักพรต นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู องค์อุปถัมภ์แห่งการแพร่ธรรม เป็นดุจดังแสงสว่างใหม่ ท่านได้กล่าวอย่างโน้มน้าวและดึงดูดใจ พร้อมทั้งเป็นแรงบันดาลใจที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตนักพรตกับการแพร่ธรรม คณะนักบวชหลายแห่งที่เกิดขึ้นมาหลังสังคายนาวาติกันที่สอง มีความกระตือรือร้นและเข็มแข็งต่อการแพร่ธรรมสู่นานาชาติ บ่อยครั้งที่คณะเหล่านี้เปิดกว้างอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการร่วมทำงานแพร่ธรรมกับนักบวชชายและหญิงที่มาจากท้องถิ่นและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้ในปัจจุบัน พวกเขาสามารถพูดกันด้วยความเข้าใจเรื่อง “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ในคณะนักบวช อย่างไรก็ตาม  ความจำเป็นเร่งด่วนประการหนึ่งคือ การเน้นย้ำความคิดว่า พระเยซูเจ้าต้องเป็นศูนย์กลางของการแพร่ธรรม และความคิดนี้เรียกร้องให้ทุกคนใช้พรสวรรค์ที่ตนมีอยู่ในการประกาศข่าวดี ณ จุดยืนนี้ จะไม่มีการประนีประนอม นั่นคือ: ผู้ที่ได้รับพระพรที่พระเป็นเจ้าทรงมอบให้และยอมรับภารกิจการแพร่ธรรม ผู้นั้นถูกเรียกให้ให้เจริญชีวิตการแพร่ธรรม สำหรับพวกเขาแล้ว การประกาศเรื่องพระคริสตเจ้าให้ไปถึงผู้คนที่อยู่ห่างไกลในส่วนต่างๆของโลกนั้น เป็นเสมือนชีวิตแห่งการติดตามพระองค์ แม้สิ่งที่เขาได้รับตอบแทนคือความยุ่งยากลำบากและความเสียสละก็ตาม แนวโน้มอะไรก็ตามที่ทำให้พวกเขาหันเหออกไปจากกระแสเรียกแห่งการแพร่ธรรมนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ดูดีในเชิงความจำเป็นด้านการอภิบาล ความจำเป็นของพระศาสนจักร หรือความจำเป็นทางด้านมนุษย์ มิใช่การตอบเสียงเรียกเป็นการส่วนตัวของพระเจ้าในการรับใช้พระวรสาร ในสถาบันการแพร่ธรรม ผู้ให้การอบรมถูกเรียกมาเพื่อให้การอบรมอย่างชัดเจนและตรงประเด็นเกี่ยวกับแผนการชีวิตและหลักการปฏิบัติของการเป็นผู้แพร่ธรรม ตลอดจนการมองให้เห็นถึงกระแสเรียกที่แท้จริงของการเป็นผู้แพร่ธรรม พ่อขอวิงวอนเป็นพิเศษต่อบรรดาเยาวชน ที่มีความสามารถในการเป็นประจักษ์พยานที่กล้าหาญและเป็นผู้ที่มีน้ำใจกว้างขวาง แม้จะต่างวัฒนธรรมกัน: อย่าให้ผู้อื่นปล้นความคิดแห่งการเป็นผู้แพร่ธรรมออกไปจากเธอ เนื่องจากการติดตามพระเยซูเจ้าเป็นพระพรพิเศษเฉพาะตัวเธอเท่านั้น ให้ถามตัวเธอจากส่วนลึกของมโนธรรมของเธอว่า ทำไมเธอจึงเลือกชีวิตนักบวชแห่งการแพร่ธรรม และสะสมความพร้อมที่จะตอบรับกระแสเรียกนี้ เพราะมันคือ: พระพรแห่งความรักในการรับใช้เพื่อการประกาศข่าวดี จงจำไว้ว่า แม้ว่าก่อนที่พวกเขาจะได้ยินเสียงเรียกนี้ การประกาศข่าวดีก็มีความจำเป็นอยู่แล้วสำหรับผู้ที่รักพระเจ้าผู้เป็นเจ้านายของตน

          ปัจจุบัน การแพร่ธรรมของพระศาสนจักรต้องเผชิญกับสิ่งท้าทาย ด้านความต้องการของผู้คนในการที่จะหันกลับไปยังรากเหง้าของตนเอง และพิทักษ์รักษาคุณค่าทางวัฒธรรมที่พวกเขานับถือ ซึ่งหมายความว่าการรู้จักและการนับถือขนบประเพณีที่ผู้อื่นนับถือ รวมถึงระบบปรัชญาการดำรงชีวิตของผู้อื่น ตลอดจนการตระหนักว่าผู้คนและวัฒนธรรม ตลอดจนประเพณีของผู้คนล้วนมีสิทธิและมีส่วนช่วยในการนำความลึกล้ำของปรีชาญาณของพระเจ้าเข้าไปในจิตใจจนทำให้พวกเขายอมรับข่าวดีของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นแสงสว่างและพละกำลังสำหรับทุกวัฒนธรรมได้

         ภายใต้พลวัตรที่ซับซ้อนนี้ ให้เราถามตนเองว่า “ใครคือผู้คนกลุ่มแรกที่ข่าวดีควรต้องไปถึง” คำตอบนี้ พบได้บ่อยครั้งในพระวรสาร ซึ่งชัดเจนว่า เป็นคนยากจน เด็กๆ และคนป่วย คนที่ถูกทอดทิ้งและถูกดูหมิ่น ตลอดจนคนที่ไม่มีอะไรที่จะตอบแทนเราได้ (เทียบ ลก 14:13-14)  การประกาศข่าวดีไปยังคนที่มีน้อยที่สุดก่อนในพวกเรา คือเครื่องหมายแห่งพระอาณาจักรที่พระเยซูเจ้าทรงนำมา “เป็นความสัมพันธ์ที่แยกจากกันไม่ได้ ระหว่างความเชื่อของเราและคนยากจน จงอย่าทอดทิ้งผู้ยากไร้” (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร 48) ประเด็นนี้ต้องชัดเจนเหนือสิ่งอื่นใดสำหรับผู้ที่ถวายตนเพื่อเป็นผู้แพร่ธรรม ด้วยการปฏิญาณตนที่จะถือความยากจน พวกเขาเลือกที่จะติดตามพระคริสตเจ้าที่ทรงให้ความสนใจต่อคนจนมากกว่า ไม่ใช่แค่ในเชิงความคิด แต่ต้องเป็นแบบที่พวกเขาเป็น ด้วยการดำรงชีวิตแบบพวกเขา คือมีชีวิตท่ามกลางความไม่แน่นอนในชีวิตประจำวัน และไม่ใส่ใจที่จะอ้างการมีอำนาจบารมี ด้วยการดำรงชีวิตแบบนี้ จึงสามารถเรียกตนเองได้ว่าเป็นพี่น้องของคนจน และสามารถนำพวกเขาให้เห็นถึงความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสารและเครื่องหมายแห่งความรักของพระเจ้า

          การดำเนินชีวิตคริสตชนที่เป็นประจักษ์พยานและเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพระบิดา ในท่ามกลางคนยากจนและคนด้อยโอกาสนั้น ผู้ปฏิญาณตนได้รับเรียกให้ส่งเสริมการปรากฏอยู่ของฆราวาสผู้มีความเชื่อในการรับใช้งานแพร่ธรรมของพระศาสนจักร ดังที่สภาสังคายนาวาติกันที่สองระบุไว้ว่า “ฆราวาสควรร่วมมือในงานการประกาศพระวรสารของพระศาสนจักร ในฐานะประจักษ์พยาน และในฐานะเครื่องมือที่มีชีวิต พวกเขาสามารถช่วยงานแพร่ธรรมได้” (AG 41) จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้แพร่ธรรมที่ได้รับการเจิมต้องยินดีต้อนรับคนมีน้ำใจที่จะมาช่วยงานพวกเขา แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาที่จำกัดก็ตาม เพื่อให้เขาได้มีประสบการณ์ทางด้านนี้ เพราะพวกเขาคือพี่น้องชายหญิงที่ต้องการมีส่วนร่วมในกระแสเรียกการแพร่ธรรมที่เขาได้รับมาเมื่อรับศีลล้างบาป บ้านพักและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในงานแพร่ธรรม คือสถานที่โดยธรรมชาติที่จะต้อนรับพวกเขา และจัดหาสิ่งที่สนับสนุนเขาทั้งด้านความเป็นมนุษย์ ด้านจิตวิญญาณ และงานอภิบาล

          สถาบันต่างๆของพระศาสนจักรและคณะนักบวชแพร่ธรรม ต่างก็ทำงานรับใช้อย่างสมบูรณ์เพื่อให้ผู้คนรู้จักข่าวดีของพระเยซูเจ้า ซึ่งหมายถึงว่า สมาชิกทุกคนของสถาบันและคณะนักบวชดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับปลูกฝังจิตตารมณ์แห่งการเป็นผู้แพร่ธรรม และข้อผูกมัดที่จะต้องทำงานแพร่ธรรม แต่ผู้ที่เป็นนักบวชชายและหญิงยังจำเป็นต้องมีโครงสร้างของการให้บริการรับใช้ด้วย เป็นการแสดงความห่วงใยของพระสันตะปาปา เพื่อที่จะเป็นหลักประกันด้านจิตตารมณ์ประชาคมให้มีความร่วมมือกันระหว่างคณะในการดำเนินการและประสานงานกันเป็นส่วนสำคัญของการเป็นประจักษ์พยานในงานแพร่ธรรม พระเยซูเจ้าทรงทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวของอัครสาวกของพระองค์อันเป็นสภาวการณ์เพื่อโลกจะได้เชื่อ (เทียบ ยน 17:21) จุดร่วมกันนี้ไม่ใช่ข้อบังคับทางกฎหมาย หรือระเบียบองค์กร และไม่ใช่เป็นบีบรัดจากความคิดสร้างสรรค์ของพระจิตเจ้า ผู้ทรงดลบันดาลให้เกิดความหลากหลาย มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำให้สาระในพระวรสารเกิดผลผลิตที่ยิ่งใหญ่ขึ้น เป็นการส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวในวัตถุประสงค์ซึ่งเป็นผลผลิตของพระจิตเจ้าด้วยเช่นกัน

        สมาคมเพื่องานแพร่ธรรมผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร มีความเป็นผู้แพร่ธรรมสากลข้ามขอบฟ้า นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาจึงจำเป็นต้องมีพระพรพิเศษที่หลากหลายในชีวิตนักบวชของพวกเขา  เพื่อแสดงถึงขอบเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลของการประกาศข่าวดี และเพื่อสามารถที่จะแน่ใจได้ว่าพวกเขาเหมาะสมที่จะอยู่ในดินแดนต่างๆที่พวกเขาถูกส่งไปทำงาน

         พี่น้องที่รัก ผู้แพร่ธรรมแท้จริงคือผู้ที่รักข่าวดี นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “หากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี ข้าพเจ้าย่อมได้รับความวิบัติ” (1 คร 9:16) ข่าวดีเป็นแหล่งกำเนิดของความชื่นชมยินดี อิสรภาพ และการไถ่กู้ สำหรับมนุษย์ทั้งปวงทั้งชายและหญิง พระศาสนจักรตระหนักดีถึงพระพรประการนี้ ดังนั้น พระศาสนจักรจึงไม่หยุดที่จะประกาศข่าวดีแก่ทุกคน “ซึ่งเป็นอยู่แล้วตั้งแต่แรกเริ่ม เราได้ฟัง เราได้เห็นด้วยตาของเรา” (1 ยน 1:1) พันธกิจของบรรดาผู้รับใช้พระวาจาของพระเจ้า อันได้แก่ บรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส คือการอนุญาตให้ทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้น ได้เข้าถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระคริสตเจ้าอย่างเต็มที่ในทุกส่วนของกิจกรรมการแพร่ธรรมของพระศาสนจักร สัตบุรุษทุกคนได้รับเรียกให้เจริญชีวิตภายใต้ข้อผูกมัดแห่งศีลล้างบาปอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อมของแต่ละคน การตอบสนองอย่างใจกว้างต่อกระแสเรียกสากลนี้ เป็นบรรดานักบวชชายและหญิงที่ต้องกระทำโดยผ่านชีวิตแห่งการภาวนาอย่างเข้มข้น และการมีชีวิตสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้า และการถวายบูชาแห่งการไถ่กู้ของพระองค์

      ข้าแต่พระแม่มารีย์ ผู้เป็นมารดาของพระศาสนจักร และแบบอย่างของผู้แพร่ธรรมที่อยู่ห่างไกล ข้าพเจ้าขอฝากบรรดาพี่น้องชายและหญิงผู้ทำงานเผยแพร่ข่าวดีในทุกสภาพการณ์ของชีวิต การแพร่ธรรมสู่นานาชาติ หรือในประเทศของตนเองไว้กับพระแม่ ข้าพเจ้าขออวยพรบรรดาผู้แพร่ธรรมของการประกาศข่าวดีทุกท่านด้วยความยินดี
สำนักวาติกัน 24 พฤษภาคม 2515
สมโภชพระจิตเจ้า  
สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส

Download ไฟล์ PDF

ซีนอด 2021-2023

ซีนอด 2021-2023 "พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน"

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 37 ฉบับที่ 3 เดือนมกราคม-เมษายน 2024

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก