UT UNUM SINT : เพื่อทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน

ครบเครื่องเรื่องพิธีกีรรม โดย คุณพ่อไพศาล  ยอแซฟ
การขอมิสซา

              การขอมิสซา เป็นกิจอย่างหนึ่งที่คริสตชนปฏิบัติกันเป็นประจำ แต่ว่าอาจจะยังขาดความรู้ความเข้าใจอยู่บ้าง ดังนั้นพ่อจึงจะขออธิบายเกี่ยวกับการขอมิสซาให้เข้าใจโดยใช้การถามตอบ ซึ่งคำถามบางคำถามก็เป็นคำถามที่พ่อได้ประสบกับตนเองมาด้วย


Q:   การขอมิสซาคืออะไร? ใช่การเป็นเจ้าของมิสซาหรือไม่?
A:   การขอมิสซา เป็นคำพูดสั้น ๆ ซึ่งถ้าจะพูดให้เต็มก็คือ การขอให้พระสงฆ์ถวายมิสซาตามจุดประสงค์พิเศษ (Mass intentions) ที่ผู้ขอต้องการ ซึ่งโดยปกติพระสงฆ์จะต้องถวายมิสซาเพื่อประชากรของพระเจ้าเป็นส่วนรวมอยู่แล้ว
          ซึ่งการขอมิสซาไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ขอเป็นเจ้าของมิสซานั้น เพราะมิสซาเป็นกิจศรัทธาสาธารณะ (public devotion) ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

Q:   ค่ามิสซาคืออะไร? และต้องให้เท่าไร?
A:  ค่ามิสซา (Mass stipends) เป็นคำที่ใช้กันติดปาก เพื่อหมายถึง เงินถวายเพื่อการถวายบูชามิสซา ซึ่งผู้ขอมิสซามอบให้กับพระสงฆ์ในการถวายมิสซาตามจุดประสงค์ ซึ่งไม่ใช่ค่าตอบแทนหรือค่าจ้างในการถวายมิสซา เพราะมิสซาเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ไม่สามารถซื้อขายได้ แต่เงินนี้มอบให้กับพระสงฆ์เพื่อกิจการของพระศาสนจักร และการเอาใจใส่ศาสนบริกร (กฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 946-947)
        จำนวนเงินที่จะต้องถวายให้กับพระสงฆ์นั้นขึ้นกับข้อกำหนดของแต่ละท้องถิ่น (สังฆมณฑล) นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความประสงค์หรือความสามารถของผู้ขอมิสซา ที่จะถวายเงินมากกว่าหรือน้อยกว่าข้อกำหนดก็ได้ และแม้ไม่มีเงินถวายให้ พระสงฆ์ก็ต้องถวายมิสซาตามจุดประสงค์ที่สัตบุรุษร้องขอ (กฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 945 วรรค 2 และมาตรา 952)

Q: พระสงฆ์สามารถถวายมิสซาได้วันละกี่จุดประสงค์?
A: ในวันหนึ่ง ๆ พระสงฆ์สามารถถวายมิสซาได้หลายมิสซา แต่จะได้รับเงินถวายสำหรับตนเองเพียงมิสซาเดียวเท่านั้น (กฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 951 วรรค 1)

Q: เมื่อขอมิสซาแล้วจะต้องไปร่วมมิสซานั้นด้วยหรือไม่
A: ดังที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า การขอมิสซาคือการขอให้พระสงฆ์ถวายมิสซาเพื่อจุดประสงค์ตามที่เราต้องการ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่พระสงฆ์จะต้องรับผิดชอบให้มีการถวายมิสซาตามจุดประสงค์ สำหรับผู้ขอมิสซาถ้าสามารถไปร่วมมิสซาได้ก็จะเป็นการดี เพื่อจะได้ร่วมใจกับพระสงฆ์ในการภาวนาสำหรับจุดประสงค์ที่เราต้องการ

อ้างอิง: ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร บรรพ 4 หน้าที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร.

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทยรวมพลังรักษ์โลก ค.ศ.2024-2025

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 37 ฉบับที่ 3 เดือนมกราคม-เมษายน 2024

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก