จากประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเตรียมเข้าสู่วันอาทิตย์ปัสกา ทำให้เราทราบว่า ปี ค.ศ. 325 สภาสังคายนาแห่งเมืองนิเชอา บรรดาพระสังฆราชได้มีการกล่าวถึงเรื่อง “ระยะเวลา 40 วัน ก่อนปัสกา” (quadragesima paschae) เป็นธรรมประเพณีที่ถูกกำหนดไว้เป็นอย่างดีและมีความแน่นอน คือ เทศกาลมหาพรตเริ่มตั้งแต่อาทิตย์ที่ 6 ก่อนปัสกา และสิ้นสุดในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ แต่สภาสังคายนาฯ ก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่า ในวันอาทิตย์ช่วงเทศกาลมหาพรต ไม่ต้องจำศีล หรือกระทำการใดๆ เพื่อการพลีกรรม เช่น การคุกเข่า ดังนั้น จากทั้งหมด 40 วัน จึงเหลือเวลาแค่ 34 วัน สำหรับการจำศีล หรือการพลีกรรมใด ๆ
เป็นเพราะสมัยของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงจำศีลและอธิษฐานภาวนาเป็นเวลา 40 วัน ดังนั้น คริสตชนในศตวรรษที่ 5 ก็ต้องการให้มีการจำศีลและพลีกรรมใช้โทษบาปเป็นเวลา 40 วัน ก่อนปัสกาด้วย นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ และเสาร์ศักดิ์สิทธ์เข้าไป เรียกว่า การจำศีลปัสกา (paschal fast) ทำให้การจำศีลจากที่เหลือแค่ 34 วัน กลับเพิ่มขึ้นเป็น 36 วัน
ช่วง 2-3 ศตวรรษต่อมา ในกรุงโรมก็เกิดธรรมประเพณีใหม่ขึ้นอีก กล่าวคือ มีพิธีล้างบาปให้กับคริสตชนใหม่ในวันปัสกา โดยมีพิธีต้อนรับผู้ที่จะรับศีลล้างบาปในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ แต่สำหรับผู้ที่ได้ทำบาปหนัก จะต้องเตรียมตัวอย่างเข้มข้นจริงจังในช่วงเทศกาลมหาพรตก่อน ด้วยการใช้โทษบาป พวกเขาจะรวมตัวกันในวันพุธก่อนอาทิตย์ที่ 1 ของเทศกาลมหาพรต (ไปจนถึงวันศุกร์) ในวันนั้นจะมีการทำพิธีด้วยเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ โดยพระสังฆราชจะโรยเถ้าบนศีรษะของผู้ใช้โทษบาป และจะไม่ล้างออกจนกระทั่งวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นเครื่องหมายของการเป็นทุกข์ถึงบาป
หลังจากนั้น เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์นี้ได้รับความสนใจจากคริสตชนทั่วไป แม้ว่า พวกเขาจะไม่ได้ทำบาปหนักจนต้องเข้าพิธีใช้โทษบาป พวกเขาก็ร้องขอให้มีการโรยเถ้าในวันพุธก่อนเข้าสู่เทศกาลมหาพรต จนในศตวรรษที่ 11 พระสันตะปาปาจึงทรงแนะให้บรรดาพระสังฆราช ทำพิธีโรยเถ้าในวันนั้น จนกลายเป็นที่มาของวันพุธรับเถ้าทุกวันนี้
ด้วยเหตุนี้ จึงมีวันจำศีลและพลีกรรมเพิ่มขึ้นอีก 4 วัน คือ วันพุธรับเถ้า วันพฤหัส วันศุกร์ และวันเสาร์ก่อนอาทิตย์ที่ 1 ของเทศกาลมหาพรต ที่จริงแล้ว หากนับเทศกาลมหาพรตตั้งแต่วันพุธรับเถ้าถึงวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ จะนับได้ 44 วัน แต่หากคิดในแง่ของวันจำศีลและพลีกรรม ก็ยังคงเหลือ 40 วัน เมื่อไม่นับวันอาทิตย์ 6 วัน แต่รวมวันศุกร์ และวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์เข้าไป
แปลโดย บราเดอร์อุดมศักดิ์ ว่องประชานุกูล