คำศัพท์ซึ่งใช้หมายถึงศีลอภัยบาป มีพัฒนาการและความหมายตามแนวคิดเทววิทยาของแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการสารภาพบาป (Confession) การกลับใจ (Repentance) การอภัย (Forgiveness) การคืนดี (Reconciliation) และสุดท้ายใช้คำว่า “Penance” ซึ่งหมายถึง การกลับใจ(และเปลี่ยนแปลงความคิดและกิจการให้ห่างไกลจากบาป)
สมัยพระเยซูเจ้า การอภัยบาปหรือการสารภาพบาปนั้น เป็นไปตามที่กำหนดในพระคัมภีร์ (Torah) เช่น วันชำระตน (Day of Atonement) มีสมณะ (Rabbi) เป็นผู้ทำพิธีชำระบาปในนามของประชาชน ส่วนกิจการใช้โทษบาปนั้นมักเป็นไปตามที่สมณะกำหนด เช่น ภาวนา อดอาหาร นอนบนขี้เถ้า สวมผ้ากระสอบ การให้ทาน เป็นต้น ซึ่งพระศาสนจักรสมัยแรกๆ ต่างถือตามพระคัมภีร์และธรรมประเพณีชาวยิวเรื่อยมา
จนใน ศต.3 พิธีคืนดีแบบเปิดเผย (Public Reconciliation) เริ่มเข้ามามีบทบาทในพระศาสนจักร กระบวนการคือ ผู้ทำบาปต้องมาแสดงตนเพื่อขอคืนดีต่อหน้าชุมชน พร้อมรับกิจใช้โทษบาป (Penitence) ตามแนวปฏิบัติของชุมชน (บางครั้งเป็นเดือนหรือเป็นปีก็มี) เมื่อทำกิจใช้โทษบาปจบครบแล้ว พระสังฆราชในนามหัวหน้าชุมชนจะปกมือเหนือผู้นั้นเพื่ออภัยบาป และทำการรับเข้าสู่ชุมชนอย่างสมบูรณ์
หลังพระจักรพรรดิคอนแสตนตินประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาของชาวยิว (ค.ศ. 313) ทำให้เกิดเอกภาพทั่วอาณาจักร พระสังฆราชเป็นตัวแทนของพระจักรพรรดิในแต่ละเมือง และหน้าที่พิพากษาทั้งด้านการเมืองและศาสนา มีการแยกแยะระหว่างบาปหนักและบาปเบา หรือบาปที่ผิดต่อพระเจ้าและที่ผิดต่อพระศาสนจักร ใน ศต. 4-5 เกิดเป็นรูปแบบการอภัยบาปของพระศาสนจักร (Canonical Penance) นั่นคือ (1) การแจ้งบาปต่อพระสังฆราชและรับกิจการใช้โทษ (2) การทำกิจใช้โทษบาป (3) การกลับเข้าสู่กลุ่มคริสตชนอีกครั้งหนึ่ง ต่อมารูปแบบนี้เริ่มทำให้คริสตชนไม่ชื่นชอบ เนื่องด้วยกิจการใช้โทษที่หนักและทำให้อับอาย รวมถึงหลักเกณฑ์ที่ใช้แตกต่างกัน ทำให้ไม่อยากคืนดีกับพระศาสนจักร คริสตชนหลายคนรอจนกระทั่งก่อนเสียชีวิตจึงจะมาขอรับการอภัยบาป
ในสมัยกลาง เริ่มมีการสารภาพบาปส่วนตัว (Private Confession) เป็นต้นกับพวกนักพรตตามถ้ำและอารามต่างๆ รวมถึงการพูดคุยปรึกษาด้านจิตวิญญาณด้วย รวมถึงมีการแต่งคู่มือการอภัยบาป (Penitential Books) จนได้รับความนิยมโดยทั่วไป ในช่วงนี้มีระยะเวลาการใช้กิจใช้โทษบาปค่อนข้างนานแล้วแต่กรณี บางครั้งนานนับสิบปีจนพัฒนาเป็นการไปจ้างให้คนอื่นทำกิจใช้โทษบาปแทน และได้กลายเป็นการขายพระคุณการุณย์ซึ่งเป็นตราบาปของพระศาสนจักร โดยเฉพาะในปลายยุคกลางจนทำให้เกิดการปฏิรูปพระศาสนจักรในที่สุด
การแก้บาปส่วนตัวได้รับความนิยมและวิถีปกติของคริสตชน ใน ศต.8 จากสังคยานาพระศาสนจักรได้ประกาศให้คริสตชนสารภาพบาปก่อนจะไปรับศีลมหาสนิท บางสังฆมณฑลกำหนดให้คริสตชนไปสารภาพบาปปีละ 3 ครั้ง คือ ช่วงคริสตมาส ช่วงปัสกา และช่วงวันสมโภชพระจิตเจ้า จนมีการประกาศให้การแก้บาปส่วนตัว (repeated private confession) นี้แนวปฏิบัติในพระศาสนจักรทางตะวันตก และนักบุญโทมัส อะไควนัสอธิบายว่าสาระสำคัญ (Matter) ของศีลอภัยบาป คือ “กระบวนการกลับใจ” ได้แก่ การเป็นทุกข์เสียใจ การไปสารภาพบาปกับศาสนบริการ จนกระทั่งทำกิจใช้โทษบาปครบ ส่วนรูปแบบ (Form) ของศีลอภัยบาป คือ บทสูตรอภัยบาปของศาสนบริการ นั่นเอง
ในสมัยปฏิรูปพระศาสนจักรนำโดยมาร์ตินลูเธอร์ ทำให้ความเชื่อและวิถีของคริสตชนสั่นสะเทือน ส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดและประโยชน์ส่วนตนของผู้นำในพระศานจักรเอง ทำให้ต้องปฏิรูปภายในโดยสังคายนาเมืองเตรนท์ (ค.ศ. 1551) โดยเฉพาะการยกเลิกการขายพระคุณการุณย์ การปฏิรูปพิธีกรรมและชีวิตสงฆ์ให้กลับสู่ธรรมนองครองธรรมมากขึ้น
จนกระทั่งใน ศต. 20 รูปแบบชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญยอห์น เวียนเนย์ ได้กลายเป็นแบบอย่างให้กับพระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาป (พระสงฆ์ไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ขอให้ดีและศักดิ์สิทธิ์) อีกทั้งมุมมองของการรับศีลอภัยบาปเริ่มเปลี่ยนไป คำนึงถึงมิติด้านสังคม จิตวิทยา ศีลธรรม รวมถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ในฐานะบุคคลมากขึ้นๆ อีกทั้งในปี ค.ศ.1973 มีการแก้ไขพิธีการรับศีลอภัยบาปแบบต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการอภิบาลสัตบุรุษมากยิ่งขึ้น เป็นต้นการรับศีลอภัยบาปเป็นรายบุคคล (Private form) กับพระสงฆ์ที่แผงสารภาพบาป ด้วยท่าทีของการแนะนำอภิบาลมากกว่าเป็นการตัดสินลงโทษ เราสามารถรับศีลอภัยบาปได้บ่อยครั้ง (อย่างน้อยปีละครั้งในกำหนดปัสกา) หรือทุกครั้งที่คริสตชนทำบาปหนักที่ผิดต่อบัญญัติพระเจ้าและพระศาสนจักร
ศีลอภัยบาปมีไว้เพื่อให้มนุษย์ผู้อ่อนแอหรือหลงผิดได้กลับมาคืนดีกับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ พร้อมรับพระหรรษทานเพื่อมีกำลังเอาชนะการประจญทั้งฝ่ายกายและจิตวิญญาณ