ซึ่งความจำเป็นของเทียนในพิธีกรรมนั้น กฎทั่วไปสำหรับมิสซาตามจารีตโรมัน (GIRM) ข้อ 307 กล่าวว่า เทียนต้องใช้สำหรับพิธีกรรมทุกครั้ง เป็นการแสดงความเคารพและเป็นเครื่องหมายของการฉลอง ให้วางไว้ตามความเหมาะสมบนพระแท่นหรือข้างพระแท่น โดยไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางให้สัตบุรุษเห็นการประกอบพิธีกรรม
และที่มาของการใช้เทียนในพิธีกรรมนั้น คุณพ่อสำราญ วงศ์เสงี่ยม (2554, หน้า 69) ได้อธิบายว่า แสงสว่างเป็นเครื่องหมายแห่งความปีติยินดี เตือนให้ระลึกถึงการประทับของพระผู้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องหมายแห่งคำภาวนาที่พวกเขาเป็นพยานหรือเชิญชวนให้เป็นพยาน พวกคริสตชนจึงจุดไว้รอบหลุมศพของมรณสักขี ต่อมามีการจุดภายในวิหารเอง แล้วจึงจุดวางไว้ที่พระแท่น หน้ารูปศักดิ์สิทธิ์ จนในที่สุดก็จุดไว้ต่อหน้าศีลมหาสนิท
จำนวนของเทียนที่ใช้
เป็นสิ่งที่หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วต้องจุดเทียนกี่คู่ เพราะบางครั้งก็เห็นหนึ่งคู่บ้าง สองคู่บ้าง หรือสามคู่บ้าง ในกฎทั่วไปสำหรับมิสซาตามจารีตโรมัน (GIRM) ข้อ 117 กล่าวว่า พระแท่นบูชาต้องมีเทียนจุดไฟอย่างน้อยหนึ่งคู่ อาจจะมีสองหรือสามคู่ก็ได้ โดยเฉพาะในมิสซาวันอาทิตย์หรือวันฉลองบังคับ ถ้าพระสังฆราชของสังฆมณฑลเป็นประธานในพิธีมิสซาให้มีเทียนเจ็ดเล่ม
สรุปก็คือ ต้องมีเทียนอย่างน้อยหนึ่งคู่ ส่วนจะเพิ่มเป็นสองหรือสามคู่นั้นเป็นทางเลือกไม่ได้บังคับ ในทางปฏิบัติที่พ่อเคยประสบมาจากบางแห่งเป็นดังนี้ วันธรรมดาใช้เทียนหนึ่งคู่ หากเป็นวันฉลองใช้สองคู่ และถ้าเป็นวันสมโภชใช้สามคู่
สำหรับการใช้เทียนเจ็ดเล่มนั้น จะใช้เฉพาะมิสซาสมโภชที่พระสังฆราชเป็นประธาน (Pontifical Mass) ซึ่งเป็นมิสซาสง่า โดยจะจัดวางเทียนไว้บนพระแท่นจำนวนเจ็ดเล่มดังนี้ ด้านซ้ายและขวาของพระแท่นด้านละ 3 เล่ม และตรงกลางพระแท่นหน้าไม้กางเขนอีกหนึ่งเล่มรวมเป็นเจ็ดเล่ม
การใช้เทียนเจ็ดเล่มในมิสซาสมโภชที่พระสังฆราชเป็นประธาน
ที่มา http://siena.org/December-2010/urbi-et-orbi
สีของเทียนที่ใช้
เทียนที่ใช้ในพิธีกรรมบนพระแท่นของคาทอลิกโดยปกติ เป็นเทียนสีขาว ส่วนเทียนสีต่าง ๆ นั้นมักไม่นำมาใช้ในพิธีกรรมบนพระแท่นแต่จะใช้เพื่อประดับตกแต่ง เช่น เทียนบนหรีดคริสต์มาสที่จะใช้สีของเทียนแทนสัปดาห์ทั้งสี่ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
เทียนสีต่าง ๆ บนหรีดคริสต์มาส
ที่มา http://arielkprice.wordpress.com/category/christmas/
แต่บางครั้งก็พบว่าในบางแห่งมีการใช้เทียนสีเพื่อให้สอดคล้องกับสีของพิธีกรรมในแต่ละวันและแต่ละเทศกาล ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้มีข้อเรียกร้องหรือความจำเป็นใด ๆ ให้ปฏิบัติเช่นนี้
อ้างอิง
สมณกระทรวงพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์. (2548). กฎทั่วไปสำหรับมิสซาตามจารีตโรมัน. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม
สำราญ วงศ์เสงี่ยม, บาทหลวง. (2554). เครื่องหมายแสดง และสัญลักษณ์ในพิธีกรรมโรมันคาทอลิก. นครปฐม: ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนางานวิชาการวิทยาลัยแสงธรรม.