PAX ET CARITAS : สันติภาพและความรัก

     เมื่อเวลา 18.45 น. วันที่ 13 ตุลาคม สำนักพระราชวังออกประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี
สำนักพระราชวัง13 ตุลาคมพุทธศักราช 2559

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก พระผู้ทรงอุปถัมภ์ศาสนาทุกศาสนาและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคริสตศาสนานั้น พระองค์ทรงแสดงน้ำพระราชหฤทัยในกิจการของคริสตศาสนาที่นำเข้ามาเผยแผ่โดยบรรดามิสชันนารีจากชาติตะวันตกและมีคริสตชนไทยเป็นผู้สืบทอดความเชื่อศรัทธา องค์การคริสตศาสนาขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อคริสตชนทุกคณะนิกาย จารึกไว้ในดวงใจของเหล่าพสกนิกรทั่วหล้าสืบไป
     เนื่องในโอกาสแห่งการรำลึกพระมหากรุณาธิคุณอันสำคัญยิ่งดังกล่าว คริสตชนขอน้อมนำพระราชกรณียกิจที่เป็นพระบรมราชูปถัมภ์มาบันทึกไว้เป็นหลักฐานประกอบกับการปฏิบัติพันธกิจของมิสชันนารีตะวันตกที่ได้วางรากฐานกิจการคริสตศาสนาไว้ในสังคมไทยด้วยหลักแห่งคำสอนเรื่องความรอด ความรัก และความเมตตากรุณา ทำให้กิจการของ
คริสตศาสนาที่สืบทอดต่อมาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในทุกระดับ และเป็นพันธกิจที่สอดรับกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชพระผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยความรักเมตตาและความห่วงใยต่อประชากรของพระองค์ ซึ่งปรากฏเป็นประจักษ์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

หลักคำสอนของคริสตศาสนากับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
     เมื่อมิสชันนารีจากชาติตะวันตกเข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาในประเทศไทย ได้ปฏิบัติตามหลักความเชื่อและตามแนวคำสอนของคริสตศาสนา โดยถือเอาคำสั่งขององค์พระเยซูคริสต์ที่ปรากฏในมัทธิว บทที่ 28 ข้อที่ 18-20 ความว่า “พระเยซูเสด็จเข้ามาใกล้ ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่า “พระเจ้าทรงมอบอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งหมดในสวรรค์และบนแผ่นดินให้แก่เรา ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขา เดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน แล้วจงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ”
     ดังนั้น เป้าหมายหลักของมิสชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาคือการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในดินแดนสยามโดยผ่านกิจกรรมสำคัญสามประการ ได้แก่ การประกาศพระวรสาร (Gospel) ของพระเยซูคริสต์ การจัดการศึกษา และการให้บริการทางการแพทย์แบบตะวันตก กิจกรรมทั้งสามประการนี้มาจากแบบอย่างการปฏิบัติพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ ที่ปรากฏในมัทธิว บทที่ 9 ข้อ 35 ที่ว่า “พระเยซูเจ้าเสด็จไปตามเมืองและตามหมู่บ้าน ทรงสั่งสอนในศาลาธรรม ทรงประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักร ทรงรักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิด” ทั้งนี้ การปฏิบัติพันธกิจของคริสตศาสนามีคำสอนหลักพื้นฐานที่สำคัญ ดังนี้

- เรื่องความรอด
     พระคัมภีร์ตั้งแต่ปฐมกาลจนถึงวิวรณ์ (พระคัมภีร์เล่มแรกถึงเล่มสุดท้าย) ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแผนการแห่งความรอดของพระเจ้าที่มีสำหรับมนุษย์ โดยการช่วยเหลือของพระเจ้าเท่านั้นที่จะช่วยกู้ให้มนุษย์รอดพ้นจากความบาป ความตาย และการพิพากษาโทษอันเนื่องมาจากมนุษย์ทุกคนล้วนกำเนิดมาในความบาป

- เรื่องความรัก
     “ความรัก” เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญและโดดเด่นของคำสอนในพระคัมภีร์ เพราะพระเยซูคริสต์ทรงประทาน “บัญญัติ 2 ประการ” ให้คริสตชนยึดถือและปฏิบัติตาม นั่นคือ “จงรักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดใจ สิ้นสุดจิต และสิ้นสุดความคิด” และ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว บทที่ 22 ข้อ 37-39) ถือเป็น “กฎทองคำ” ที่นำชีวิตไปสู่สันติสุขและเปี่ยมล้นด้วยพระพร

- เรื่องความเมตตา
     ความเมตตาของพระเจ้าได้สำแดงอย่างเด่นชัดผ่านทางชีวิตและพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่ทรงกระทำบนโลกนี้ โดยเฉพาะการทรงช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยาก ผู้เจ็บป่วย และผู้ประสบปัญหาต่างๆ ดังที่พระคัมภีร์หลายตอนที่กล่าวถึงพระทัยของพระองค์ที่ทรงเมตตาสงสารประชาชน จึงทรงเยียวยารักษา และประทานการช่วยเหลือให้แก่พวกเขาทั้งหลาย
     อนึ่ง พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยความรักเมตตาและความห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์ มีความสอดคล้องกับหลักคำสอนของคริสตศาสนาที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยพระทรงเป็นองค์จักรพรรดิราชในการนำประชากรให้หลุดรอดพ้นจากโลกแห่งวัฏสงสาร และมีศีลธรรมจรรยาที่จะนำประสบกับความสุขแห่งชีวิตนิรันดร์ พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงเปี่ยมล้นด้วยความรักเมตตากรุณา ยังทรงปรารถนาให้ประชาราษฎร์ได้หลุดพ้นจากความมืดบอดทางปัญญาหรือจากอวิชชาให้มีปัญญาความรู้เพื่อการอยู่ร่วมในสังคมสู่ความวัฒนาสถาพรสืบไป นอกจากนี้พระองค์ยังทรงห่วงใยในสุขอนามัยของประชากรให้พ้นจากทุกขเวทนาอันเนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บ ให้ได้รับการดูแลรักษาทางสุขภาพอย่างสมบูรณ์พูนสุข
ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่กล่าวนี้ ยังปรากฏในพระราชกรณียกิจอันเป็นพระบรมราชูปถัมภ์ที่ทรงมีต่อกิจการของคริสตศาสนาในประเทศไทย ซึ่งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่องค์การคริสตศาสนาและพสกนิกรคริสตชนในสังคมไทย ให้ประกอบกิจอันดีเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีในกิจการของคริสตศาสนาในวาระต่างๆ อยู่เสมอมา ดังมีตัวอย่างที่จะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไปนี้

พันธกิจการเผยแผ่ศาสนา
     คริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเข้าสู่สยามประเทศครั้งแรก โดยชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งชุมชนที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2081 (ค.ศ.1538) ตรงกับรัชสมัยพระไชยราชาธิราช จนกระทั่งต่อมาใน พ.ศ. 2110 (ค.ศ. 1567) บาทหลวงคณะโดมินิกันได้เข้ามาอภิบาลชุมชนคริสตังโปรตุเกสและแพร่ธรรมที่กรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรก ชุมชนคริสตังและบาทหลวงมิสชันนารี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาที่ทรงเอื้อเฟื้อและสนับสนุนอยู่ไม่น้อย การแพร่ธรรมของมิสชันนารีคาทอลิกโดยเฉพาะคณะเยสุอิตของฝรั่งเศสมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงเปิดโอกาสและให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ขณะที่มิสชันนารีมีบทบาทสำคัญในการแพร่ธรรม สร้างความเจริญทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ และสิ่งปลูกสร้างสาธารณูปโภคตามแบบตะวันตก เมื่อถึงสมัยที่กรุงศรีอยุธยาถูกโจมตีจากกองทัพพม่าในสงครามเสียกรุงครั้งที่สอง ชุมชนคริสตังได้มีส่วนในการต่อสู้กับกองทัพพม่าจนเป็นที่ประจักษ์ และในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชผู้ทรงกอบกู้เอกราชจากพม่าทรงไว้วางพระทัยให้มีทหารคริสตังเป็นกองทหารรักษาพระองค์ด้วย
     ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีมิสชันนารีคาทอลิกเข้ามาดูแลชุมชนคริสตัง และทำการแพร่ธรรมอย่างต่อเนื่องมิสชันนารีคนสำคัญที่ควรกล่าวถึงคือคุณพ่อฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวซ์ เข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ท่านเป็นพระสหายคนหนึ่งของเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)มิสชันนารีคาทอลิกได้เข้ามาแพร่ธรรมและขยายพันธกิจด้านการสังคมสงเคราะห์ การจัดการศึกษา และการแพทย์ อย่างกว้างขวางมั่นคง สร้างเกียรติคุณเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยเป็นอย่างดี

พระมหากรุณาธิคุณต่อกิจการของคริสตศาสนา
               แผ่นดินสยามเป็นแหล่งที่เปิดกว้างสำหรับมิสชันนารี นับจากสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีมิสชันนารีของนิกายโรมันคาทอลิกได้เข้ามาแพร่ธรรมมานานแล้วและเมื่อมิสชันนารีโปรเตสแตนท์ได้เข้ามาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่างได้รับน้ำพระทัยและพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ของสยามเสมอมา อาทิ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา

           (มงซินญอร์ปัลเลอกัวซ์, 2520) และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) พระองค์พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอผู้ติดตามเสด็จได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ทรงเตรียมพร้อมที่จะรับเสด็จพระองค์อย่างสมพระเกียรติ สมณกระทรวงประกาศพระวรสารสู่ปวงชน (Propaganda Fide) ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า การพบปะระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยและสมเด็จพระสันตะปาปาจะช่วยให้คาทอลิกในประเทศไทยพบกับเสรีภาพทางศาสนาอย่างสมบูรณ์ ต่อมาในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิสซังสยามได้รับสิทธิการครอบครองที่ดินและทรัพย์สินตาม “พระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยาม” (ร.ศ.128) (พ.ศ. 2453 หรือ ค.ศ. 1910) ทำให้วัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นองค์การคริสตศาสนาในประเทศไทยองค์กรเดียว ที่ได้รับการรับรองทางกฎหมายในลักษณะดังกล่าว

         ต่อมาในปี พ.ศ. 2429-2430 (ค.ศ. 1886-1887)เมื่อคุณพ่อกอลมเบต์ ได้รณรงค์เพื่อขยายโรงเรียนอาซมซาน กอเล็ศ (Le College de Assumption) หรือโรงเรียนอัสสัมชัญที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาพระราชทานเงินจำนวน 50 ชั่ง (4,000 บาท) และสมเด็จพระอัครมเหสี พระราชทาน 25 ชั่ง (2,000 บาท) ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการชั้นสูงพ่อค้าวาณิช และชาวต่างประเทศ ต่างมีจิตศรัทธาร่วมบริจาคในโครงการของคุณพ่อกอลมเบต์ จนสามารถรวบรวมปัจจัยได้เพียงพอและเริ่มต้นการก่อสร้างอาคารหลังแรก โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ไปทรงวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2430 (ค.ศ. 1897)

พระราชไมตรีไทย-วาติกัน
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีประสบการณ์กับคริสตศาสนาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อพระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาระดับชั้นระดับอนุบาล (Kindergarten) ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย กรุงเทพฯ ในสังกัดของพระศาสนจักรโรมัน

     คาทอลิก จากนั้นจึงได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจากประสบการณ์ดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสัมผัสกับบรรยากาศของคริสตศาสนา และเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วทรงมีความเกี่ยวข้องกับกิจการคริสตศาสนาหลายประการ ที่สำคัญเบื้องต้นคือพระองค์ทรงมีพระราชไมตรีกับสันตะสำนัก พระประมุขพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกแห่งนครรัฐวาติกัน โดยพระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ณ นครรัฐวาติกัน ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) การเสด็จเข้าเฝ้าครั้งนี้นับเป็นพระราชไมตรีที่มีความสำคัญต่อองค์การคริสตศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการยืนยันถึงบทบาทของคริสต-ศาสนาและการทรงมีพระบรมราชูปถัมภ์ในกิจการของคริสตศาสนาในประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นจากพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ว่า“ข้าพเจ้ารู้สึกปีติซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ในการเสด็จมาเยือนของพระองค์ เป็นโอกาสให้ข้าพเจ้าได้แสดงความรู้สึกหวังดีเป็นพิเศษต่อประชากรแห่งประเทศไทย

         ประเทศไทยเป็นประเทศที่บริบูรณ์ด้วยความงามตามธรรมชาติ อีกทั้งเพียบพร้อมไปด้วยขนบประเพณีอันสูงศักดิ์มาแต่กาลนาน รัฐบาลและประชากรชาวไทยได้เพียรพิทักษ์รักษามรดกอันแสนประเสริฐนี้ไว้ด้วยความหวงแหน และมุ่งนำประเทศชาติให้พัฒนาการในด้านต่างๆ ของชีวิตมนุษย์ จึงได้บรรลุถึงผลอันสมควรแก่การสรรเสริญ เป็นต้นในวงการสังคมและการศึกษา บรรดาบาทหลวง นักบวช และสัตบุรุษคาทอลิกผู้เป็นบุตรของข้าพเจ้า ต่างใฝ่ใจที่จะได้มีส่วนช่วยเหลือในการนี้ ด้วยกิจการอันเกิดผลรุ่งเรืองและมากมายหลายชนิดด้วยกัน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และสุขศาลา เพื่อแสดงให้ปรากฏว่า ตนเองก็กระหายที่จะทำงานเช่นบุตรผู้ซื่อสัตย์ เพื่อความเจริญวัฒนาและความรุ่งเรืองของปิตุภูมิของตนในโลกนี้ และเพราะความเสียสละอันไม่เห็นแก่ตัวนี้ จึงทำให้เขาเหล่านี้ได้รับความเคารพยกย่องและเห็นใจ อันเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

     ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะกราบบังคมทูลเฉพาะพระพักตร์พระองค์ว่า คาทอลิกได้รับการเคารพและเสรีภาพ ซึ่งเป็นผลของการมองเห็นอนาคตอันเฉียบแหลมแห่งข้อกำหนดกฎหมาย และความหวังดีอันน่าชมของบรรดาผู้มีอำนาจในรัฐ กุศลกรรมนี้นับเป็นขนบประเพณีมาแต่โบราณกาลแล้ว ทั้งนี้เนื่องด้วยตั้งแต่ ค.ศ. 1688 แล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซ็น ที่ 11
ได้ทรงมีสาส์นถึงพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยาม แสดงความขอบพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ได้พระราชทานความคุ้มครองเป็นอย่างดีแก่มิสซังคาทอลิก
ในโอกาสที่คณะทูตไทยได้มากรุงโรมและสมเด็จพระสันตะปาปาผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้ให้การต้อนรับอย่างดีที่สุดได้แสดงความเอาพระทัยใส่ต่อบรรดาผู้ร่วมชาติของพระองค์ด้วยการติดตาม ดูแลและพระราชทานของที่ระลึกต่างๆ พระองค์ทั้งสองทรงตระหนักพระทัยแล้วว่า ประเทศไทยมิใช่เป็นประเทศแปลกหน้าของนครรัฐวาติกัน สำหรับข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้ามี
ความรู้สึกต่อประเทศไทยเช่นเดียวกับสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซ็น ที่ 11 ผู้ล่วงลับไปแล้ว และข้าพเจ้ารู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่งที่จะยืนยันแสดงความหวังดีนี้ต่อพระองค์ ข้าพเจ้าขอวิงวอนพระเป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ โปรดประทานพระพรอันอุดมแด่ประเทศชาติอันสูงศักดิ์นี้ แด่บรรดาผู้นำชาติ และเป็นต้นแด่พระองค์และพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ด้วย”

     ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงประชาชนชาวไทยเนื่องในการเสด็จเยือนสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ความว่า
“การไปเยือนของข้าพเจ้าและสมเด็จพระบรมราชินีครั้งนี้ น่าจะยังผลให้เกิดการร่วมมือกันโดยใกล้ชิดและกว้างขวางยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าและสมเด็จพระบรมราชินีได้ไปเยือนกรุงวาติกันอีกด้วย พระสันตะปาปายอห์นทรงพระกรุณาเป็นอย่างดียิ่ง ในการปฏิบัติหน้าที่ของเรา ... ข้าพเจ้าและสมเด็จพระบรมราชินีกำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนประโยชน์ของประเทศชาติ และเพื่อที่จะทำให้ประชากรทั้งมวลของโลกได้รู้จักคุณธรรมและคุณลักษณะอันแท้จริงของประชาชน
ชาวไทยโดยทั่วกัน” (จากหนังสือเสด็จฯ เยือน ๑๔ ประเทศรวบรวมและเรียบเรียงโดยประกาศวัชราภรณ์)

     ภายหลังต่อมาพระราชไมตรีนี้ได้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ได้ทรงขอเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตระดับเอกอัครราชทูต มีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไทยไปประจำนครรัฐวาติกัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาร์คบิชอบ ยัง ยาโดต์ เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทยคนแรกเข้าเฝ้าถวายสาส์นตราตั้ง ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสในวโรกาสนี้ว่า “ท่านเอกอัครราชทูต ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้รับพระราชสาส์นตราตั้งจากสมเด็จพระมหาสังฆราช สันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ทรงแต่งตั้งท่านเป็นเอกอัครราชทูตแห่งวาติกันคนแรกประจำราชสำนักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่าน และรู้สึกชื่นชมที่ท่านได้กล่าวถึงความพยายามร่วมกันที่จะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพอันถาวรและเสรีภาพของมนุษยชาติ ประเทศไทยได้ถือเป็นนโยบายเสมอมาในการให้ประชาชนพลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ชาวไทยทุกคนมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเลือกนับถือศาสนาใดๆ ตลอดทั้งการปฏิบัติบูชาตามความเชื่อถือของตนด้วย รัฐธรรมนูญของไทยก็ได้รับรองสิทธิและอิสรภาพดังกล่าวข้างต้น โดยประการฉะนี้ บรรดาผู้ที่นับถือศาสนาต่างๆ กันในประเทศไทย จึงมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกมานานนับศตวรรษ

     ข้าพเจ้าพอใจที่ท่านกล่าวยืนยันถึงความภักดีและความร่วมมือของชาวคาทอลิกในประเทศไทย อีกทั้งความร่วมมือของท่านในอันที่จะส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย ในการนี้ ขอให้ท่านมั่นใจได้ว่า ท่านจะได้รับการสนับสนุนจากข้าพเจ้าและทางราชการไทยจะได้อำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือทุกประการเท่าที่จะกระทำได้ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลในหน้าที่ของท่าน”
ในปี พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกันเสด็จเยือนประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสต้อนรับที่แสดงถึงพระบรมราชูปถัมภ์ในกิจการของคริสตศาสนาในประเทศไทย ความว่า “ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความปีติชื่นชมยิ่งนักที่ได้ต้อนรับพระองค์ในโอกาสที่เสด็จมาเยือนประเทศของเรา

       สำนักวาติกันกับประเทศไทย แม้จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสมบูรณ์ไม่นานนัก แต่แท้ที่จริงเราได้มีความผูกพันอันลึกซึ้งต่อกันมาแล้วช้านานในประการที่คริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกได้เผยแผ่เข้ามาถึงประเทศนี้นับด้วยศตวรรษ ตั้งแต่ครั้งพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี คณะบาทหลวงและคณะทูตผู้เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาทุกเหล่าทุกรุ่นได้นำเอาคริสตธรรมพร้อมทั้งวิทยาการต่างๆ ซึ่งเจริญอยู่ในประเทศยุโรปในกาลนั้นๆ เข้ามาสั่งสอนคนไทยอำนวยโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้คริสตศาสนาและสรรพวิทยาอันก้าวหน้า พร้อมทั้งศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาวตะวันตก และได้นำมาประกอบปรับปรุงให้เป็นประโยชน์แก่กิจการบ้านเมืองเป็นอันมาก

      การที่ประเทศไทยและชาวไทยยินดีต้อนรับผู้เผยแผ่ศาสนาต่างๆ ด้วยไมตรีและด้วยความจริงใจฉันมิตรทุกสมัยมานั้น เป็นเพราะชาวไทยซึ่งเป็นพุทธมามกชนมีจิตสำนึกมั่นคงอยู่ในกุศลสุจริตและในความเมตตาการุญ เห็นว่าศาสนาทั้งปวงย่อมสั่งสอนความดี ให้บุคคลประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ถูกที่ชอบ ที่เป็นประโยชน์ ให้ใฝ่หาความสงบสุขอย่างผ่องใสให้แก่ชีวิต ทั้งเรายังมีเนติแบบธรรมเนียมให้ต้อนรับนับถือชาวต่างชาติต่างศาสนาด้วยความเป็นมิตร แผ่ไมตรีแก่กันด้วยเมตตาจิตและด้วยความจริงใจบริสุทธิ์ใจ มิให้ดูแคลนเบียดเบียนผู้ถือสัญชาติและศาสนาอื่น ด้วยจะเป็นเหตุนำความแตกร้าวและความรุนแรงเดือดร้อนมาให้ ดังนี้ คริสตศาสนาจึงเจริญงอกงามขึ้นได้ในประเทศนี้ ชาวไทยต่างรู้จักและเคารพยกย่ององค์พระสันตะปาปาประมุขแห่งชาวคาทอลิกอย่างสูง ในฐานะบุคคลสำคัญผู้หนึ่ง ผู้แผ่ความสงบร่มเย็นและความสว่างแจ่มใสแก่ชาวโลกถ้วนหน้า

         เมื่อคราวที่ข้าพเจ้ามีโอกาสเสด็จเยือนสำนักวาติกัน เมื่อปีคริสตศักราช 1960 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ตรัสถามถึงคนไทย ว่านับถือศาสนามากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้าได้ทูลตอบว่าคนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ และนอกนั้นยังนับถือศาสนาอื่นอีกหลายศาสนา เพราะประชาชนของข้าพเจ้ามีอิสรภาพและสิทธิเสมอภาคกัน ทั้งโดยกฎหมาย และโดยประเพณีนิยมในการนับถือศาสนา สมเด็จพระสันตะปาปาทรงแสดงความชื่นชมยินดีกับข้าพเจ้าเป็นอันมาก ที่ประเทศไทยมีพลเมืองที่ดี มีศีลธรรมยึดความถูกต้องเที่ยงตรงเป็นหลักปฏิบัติ

        ในการเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งนี้ พระองค์คงจะได้ทรงประจักษ์ชัดว่า ชาวคริสต์ในประเทศนี้ต่างปฏิบัติศาสนกิจของตนอย่างเคร่งครัดด้วยความผาสุก ทั้งคงจะได้สังเกตเห็นด้วยว่าประชาชนชาวไทยมีความนิยมยินดี เต็มใจถวายพระเกียรติที่พระองค์เป็นประมุขแห่งศาสนา ผู้ใฝ่สันติที่เปี่ยมด้วยเมตตาจิตและความบริสุทธิ์เยือกเย็น ข้าพเจ้าเชื่อว่าความเป็นมิตรความมีเมตตาปรารถนาดีต่อกัน ความเอื้ออารีเกื้อกูลกันโดยจริงใจระหว่างศาสนิกชนทั้งมวลนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญอันมีกำลัศักดิ์สิทธิ์ ที่จะยังสันติสุขกับทั้งอิสรภาพเสรีภาพ และความเสมอภาค ให้บังเกิดขึ้นแก่มวลมนุษย์ได้เป็นแน่แท้”

     สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงมีพระราชดำรัสตอบ ความว่า “ข้าพเจ้าทราบดีว่า การพำนักในประเทศไทยครั้งนี้ แม้จะเป็นระยะเวลาสั้น แต่ก็จะเป็นการให้โอกาสได้ประสบด้วยตนเองถึงคุณค่า อันหยั่งลึกอยู่ในชีวิตจิตใจของมนุษย์ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของชีวิตทางสังคมและทางวัฒนธรรม อีกทั้งขนบธรรมเนียมและประเพณีของไทย การได้เป็นพระราชอาคันตุกะของประเทศซึ่งยึดถือว่า เสรีภาพเป็นคุณลักษณะอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของประชากรนั้น คือเกียรติอันยิ่งใหญ่โดยแน่แท้ในโลกปัจจุบันของเรานี้ ประวัติความเป็นไทของประเทศไทยและจิตตารมณ์โอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเกื้อกูลอันเลื่องชื่อของประเทศไทย เป็นเครื่องเตือนให้รำลึกถึงความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างลึกซึ้งของครอบครัวมนุษยชาติ ในอันที่จะเจริญชีวิตอยู่ในสันติสุข ในความสามัคคีกลมเกลียว และในความเป็นพี่น้อง โดยเฉพาะการที่สมเด็จบรมบพิตรทรงเคารพสิทธิของมนุษยชนในด้านเสรีภาพทางศาสนานั้น นำเกียรติอย่างไพศาลมาสู่ประเทศของสมเด็จบรมบพิตร”

     จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทยคนแรกใน พ.ศ. 2512 และพระราชดำรัสที่ทรงมีต่อสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ในปี พ.ศ. 2527 นับเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์ศาสนูปถัมภกที่ทรงมีต่อคริสตศาสนาอย่างแจ้งชัด และพระองค์ยังทรงมีพระราชกรณียกิจตามพระราชดำรัสดังกล่าวอยู่เสมอ

- เสด็จฯเยี่ยมราษฎรและศาสนสถานต่างๆ
     ในระดับท้องถิ่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953) ทรงรับฟังการถวายคำบรรยายจากพระสังฆราชลูเซียน ลากอสต์ ประมุขมิสซังโรมันคาทอลิกเชียงใหม่

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดอุบลราชธานี ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพระสังฆราชผู้อภิบาลที่นั่น และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดนครนายก ในครั้งนั้น โรงเรียนมาลาสวรรค์พิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนของวัดคาทอลิก ได้จัดตั้งซุ้มหน้าโรงเรียนเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว และตั้งแท่นโดยนำรูปแม่พระซึ่งเป็นชื่อของโรงเรียนตั้งรับเสด็จ นักเรียนหญิงชาย 380 คน ตั้งแถวอยู่สองฟากถนนยุทธศาสตร์ นักเรียนทุกคนถือธงชาติที่ทำด้วยผ้า นักเรียนหญิงสองคนแต่งขาว ถือกระเช้าดอกไม้ นอกจากนั้นยังมีคุณพ่อโอลลิเอร์ เจ้าคณะคุณพ่อโกเชต์ ปลัดวัดบ้านนาและหนองรี ซิสเตอร์ และคณะครูมาลาสวรรค์พิทยา 11 คน เฝ้ารับเสด็จ เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินผ่านไปพักที่ อ.บ้านนา ซึ่งทางการจัดที่ประทับและเปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าเฝ้าชมพระบารมี คุณพ่อโอลลิเอร์คุณพ่อโกเชต์ และครูใหญ่พร้อมด้วยนักเรียนหญิงสองคนที่ถือกระเช้าดอกไม้ได้เดินทางตามไปเข้าเฝ้า คุณพ่อโอลลิเอร์ได้อ่านคำถวายพระพรเป็นคำกลอนภาษาฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงถามถึงกิจการของโรงเรียน และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับบาทหลวง พร้อมทั้งทรงประทานเงินก้นถุง 1 ถุง เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่โรงเรียน ต่อมาคุณพ่อโอลลิเอร์ ได้นำนักเรียนหญิงสองคนถวายกระเช้าดอกไม้แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงไต่ถามถึงกิจการของโรงเรียนและชีวิตของคุณพ่อโอลลิเอร์ที่รอเข้าเฝ้ารับเสด็จ และยังพระราชทานเงินก้นถุง 2 ถุงแก่นักเรียนที่ถือกระเช้าด้วย

     เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดอุบลราชธานี คณะบาทหลวง สัตบุรุษ ครู นักเรียนของโรงเรียนอาเวมารีอา และพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ ได้จัดแถวเฝ้ารับเสด็จ ณ สองฟากถนน รุ่งขึ้นวันที่ 17 พฤศจิกายน ทรงเปิดโอกาสให้บรรดาข้าราชการ พ่อค้า ประชาราษฎร เข้าเฝ้ารับเสด็จที่หน้าศาลากลางจังหวัด พระสังฆราชและบาทหลวงได้มาเข้าเฝ้าด้วย ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปท่ามกลางประชาชนอย่างใกล้ชิด ทรงมีพระราชปฏิสันถารทุกข์สุขกับราษฎร และรับของขวัญด้วยพระทัยเมตตา พระสังฆราชเกลาดิอุสบาเยต์ ได้อ่านคำถวายพระพรสั้นๆ และทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิอดุลยเดช และถวายกระเช้าดอกไม้แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

       เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเยี่ยมหมู่บ้านเมืองงาม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ.1967) ซึ่งเวลานั้นมีคุณพ่อปีเตอร์ ซัลลา คณะเบธาราม เป็นเจ้าอาวาสวัด ดูแลสัตบุรุษหมู่บ้านเมืองงามและหมู่บ้านห้วยบง หมู่บ้านเมืองงามมีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 30 กว่าครอบครัว ส่วนใหญ่ได้อพยพมาจาก อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน คุณพ่อปีเตอร์ ซัลลา มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิดและพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารถึงทุกข์สุขและความเป็นอยู่ของราษฎรในหมู่บ้านเมืองงาม ยิ่งกว่านั้นพระองค์ทรงเห็นว่า บริเวณหมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ เหมาะแก่การทำมาหากินแบบเศรษฐกิจพอเพียงและทรงมีรับสั่งให้ชาวบ้านเก็บรักษาที่ดินไว้ ไม่ต้องไปขายให้แก่นายทุน หรือคนต่างถิ่น

     ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดวัดพระแม่มหาการุณย์ ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดพระแม่มหาการุณย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กราบบังคมทูลถวายรายงานและเชิญเสด็จประทับพระราชอาสน์ ณ พลับพลาพิธี

     พระอัครสังฆราชไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กราบบังคมทูลถวายรายงานการสร้างวัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อวัด จากนั้นทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมแผ่นศิลาจารึก แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าในวัด ประทับพระราชอาสน์ บรรดานักบวชคาทอลิกสวดถวายพระพร แล้วจึงกราบบังคมทูลเบิกผู้มีจิตศรัทธาเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และเบิกผู้ที่บริจาคเงินสร้างวัดเข้ารับพระราชทานโล่ที่ระลึก ในโอกาสนี้ได้ทรงพระกรุณาลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลา และทรงปลูกต้นไม้ที่บริเวณหน้าวัด 2 ต้นคือต้นพิกุลและต้นสารภี อีกทั้งยังพระราชทานธงประจำรุ่นแก่ลูกเสือชาวบ้าน 3 รุ่น และทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้ารับเสด็จในบริเวณวัด

     ต่อมาในปลายปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในงานฉลองครบ 300 ปี ของวัดคอนเซ็ปชัญ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) โดยพระอัครสังฆราชไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้กราบบังคมทูลเชิญทั้งสองพระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดทอง จากนั้นได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องหมายสมนาคุณแก่ผู้ที่ร่วมบูรณะวัด ทรงพระสุหร่าย เจิมแผ่นศิลาจารึก และทอดพระเนตรนิทรรศการโบราณวัตถุที่ทางวัดจัดแสดง ทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้ารับเสด็จอยู่ในบริเวณวัด ยังความปลาบปลื้มปีติอย่างล้นพ้น
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเนื่องในโอกาสฉลอง 75 ปี ของคณะภราดาเซนต์คาเบรียลในประเทศไทย ณ โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา คณะภราดาคณะนี้นับว่ามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาของคาทอลิกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

- ด้านการบูรณะวัดคริสตศาสนา
     นอกเหนือจากพระบรมราชูปถัมภ์ดังกล่าวแล้ว ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ใน พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) คณะรัฐมนตรี มีมติให้ดำเนินโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัด และศาสนสถานสำคัญ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสอันสำคัญยิ่งดังกล่าว ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกิจการคริสตศาสนาในการบูรณะวัดหรือพระวิหารอันเป็นสถานนมัสการพระเจ้าให้เป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าและแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
     พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโดยได้รับงบประมาณบูรณะปฏิสังขรณ์ 4 วัดคือ วัดคอนเซ็ปชัญ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล จันทบุรี วัดซางตาครู้ส และวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน

- ด้านการรักษาพยาบาล
     ในโอกาสที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ดำเนินกิจการมาครบ 84 ปี ใน พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) พระศาสนจักรโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ได้จัดงานอนุสรณ์ 84 ปี โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ขึ้น เพื่อแสดงความสำนึกในความกรุณาอันยิ่งใหญ่ไพศาลของพระผู้เป็นเจ้า และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตราธิราชแห่งพระบรมจักรีวงศ์ทุกพระองค์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ได้พระราชทานสิทธิที่ดินแก่มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ เพื่อให้ใช้เป็นศาสนสถาน ศึกษาสถาน และพยาบาลสถาน อันเป็นต้นกำเนิดโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ งานราชการุญมีขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ เสด็จเป็นองค์ประธาน ท่ามกลางบรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง และพสกนิกรรอเฝ้ารับเสด็จภายในบริเวณงานอย่างคับคั่ง ในโอกาสนี้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังอัญเชิญโคมประทีปซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้แว่นขยายจุดจากแสงอาทิตย์ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเข้าสู่วัดพระจิตเจ้า

- ด้านการศึกษา
    นอกจากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกิจการคริสตศาสนาในทางการแพทย์และพยาบาลแล้ว ในกิจการทางการศึกษาที่นับเป็นพันธกิจอันสำคัญยิ่งต่อการสร้างและส่งเสริมประชากรของประเทศให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริชี้ทางการจัดการศึกษาไว้ตอนหนึ่งว่า “...ถ้าเราสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาและชีวิตของคนที่มีมากขึ้นๆ ให้กลับมาเป็นอย่างเดิมเหมือนอย่างของเก่าโบราณของเรา คือให้รู้สึกว่าโรงเรียนก็คือวัด วัดคือโรงเรียน ก็จะทำให้บ้านเมืองมีอนุชนที่มีความสามารถในทางวิชาการและมีจิตใจดีเป็นพลเมืองดีต่อไป จะช่วยให้ส่วนรวมสามารถที่จะดำเนินต่อไป...” (แนวพระราชดำริเก้ารัชกาล, 2528 : 298)

     จากแนวพระราชดำรินี้สะท้อนถึงการจัดการศึกษาของไทยในอดีตที่เน้นความสำคัญอยู่ที่ศาสนา ซึ่งถึงแม้จะมีศูนย์กลางของการศึกษาที่วัดและเป็นแหล่งให้การศึกษาสำหรับกุลบุตรเป็นหลัก แต่การให้การศึกษาสำหรับสตรีกับคนในสังคมทั่วไปซึ่งเทียบเคียงกับสมัยนี้ว่า การศึกษานอกระบบ (Non-formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) ก็มีเรื่องศาสนาเป็นแกนกลางอยู่เสมอ ความเกี่ยวข้องกับกิจการด้านการศึกษานับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอีกด้านหนึ่งที่ทรงมีต่อองค์กรคริสตชนชาวไทย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นความสำคัญด้านการศึกษาที่ราษฎรจะต้องได้รับ นอกจากการจัดการศึกษาของรัฐบาลแล้ว มิสชันนารียังได้วางรากฐานจัดการศึกษาสมัยใหม่ และองค์การคริสตศาสนาที่รับมรดกของการจัดการศึกษาของมิสชันนารีได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาในสังคมไทย เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาที่ดีและเป็นทางเลือกอย่างหลากหลายของผู้คนในสังคม

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงให้ความสนพระทัยต่อกิจการจัดการศึกษาของโรงเรียนคาทอลิก ซึ่งพระองค์ทรงมีประสบการณ์เข้ารับการศึกษาในระดับชั้นอนุบาลที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

     โดยพระองค์ทรงมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนคาทอลิกหลายวาระ อาทิ ในปี พ.ศ.2499 (ค.ศ. 1956) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรคอนเสิร์ต ณ หอประชุมสุวรรณสมโภช โรงเรียนอัสสัมชัญ ต่อมาในปี พ.ศ.2500 (ค.ศ. 1957) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาฟุตบอลทหาร ณ โรงเรียนหัวหินวิทยาลัย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปี พ.ศ.2500และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับบรรดานักบวชของคณะซาเลเซียน และเช่นเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชปฏิสันถารกับอธิการโรงเรียนหัวหินวิทยาลัย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ณ สนามฟุตบอลของโรงเรียนไกลกังวล

       ในปลายปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานวชิรสมโภช ณ ตึกสุวรรณสมโภช โรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2502 เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์องคมนตรี พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง พระสมณทูตยอห์น กอร์ดอน ท่านเจษฎาธิการบดี ยอห์น เมรี่ เจ้าคณะเจษฎาจารย์ เซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ ตลอดจนศิษย์เก่าคนสำคัญอีกหลายท่านเฝ้ารับเสด็จ พระองค์ทรงร่วมในพิธีการต่างๆ และทอดพระเนตรการแสดงศิลปหัตถกรรมของนักเรียน

     ในปี พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารหอประชุม เดอ มงฟอร์ต เนื่องในโอกาสฉลองครบ 50 ปี โรงเรียนเซนต์คาเบรียล วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พระองค์ได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกแก่ภราดาและครูที่ทำงานมากกว่า 25 ปี ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการและทรงรับฟังการรายงานกิจการของโรงเรียน ปี พ.ศ. 2515 เสด็จเปิดตึกฟ.ฮีแลร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 เสด็จพระราชดำเนินเนื่องในโอกาส ฉลอง 75 ปี คณะภราดาเซนต์คาเบรียลในประเทศไทย ณ โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา

   และต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารฝึกงานช่างกลโรงงานและตึกอาคารเรียนห้าชั้น โรงเรียนดอนบอสโก พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการต่างๆ ของโรงเรียนทุกแผนก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อนักเรียนและคณะผู้บริหารโรงเรียนดอนบอสโกอย่างหาที่เปรียบมิได้

      โรงเรียนดอนบอสโก กรุงเทพฯ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) โดยเช่าวังของพระองค์เจ้าบวรเดช ที่ถนนวิทยุ (สถานทูตเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน) และเปิดสอนแผนกวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างพิมพ์และช่างไม้ แก่นักเรียนที่เป็นเด็กกำพร้าและยากจน กลุ่มแรกจำนวน 35 คน โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียนแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นนโยบายของโรงเรียนตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา เวลานั้นมีครูสอน 2 คน และคุณพ่อมารีโอรูเซดดู เป็นอธิการชาวอิตาเลียนองค์แรก กิจการของโรงเรียนได้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาด้วยความช่วยเหลือ การสนับสนุน และการส่งเสริมของบุคคลและองค์กรที่มีจิตศรัทธาทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 500,000 บาทต่อปีในฐานะที่โรงเรียนเป็นสถานที่ให้ความช่วยเหลือแก่คนจนและผู้ด้อยโอกาสและกระทรวงศึกษาธิการได้ช่วยเหลือเรื่องเงินอุดหนุนเงินเดือนครูตลอดมา นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่ส่งเสริมการศึกษาผู้ด้อยโอกาสจากต่างประเทศ ทำให้โรงเรียนมีอุปกรณ์การเรียนการสอนด้านอาชีวะที่ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูงในการจัดซื้อเพื่อให้สอนฝึกอาชีพของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี และทางโรงเรียนมีระบบในการเรียน การฝึกหัดฝีมือ และการสอนด้านคุณธรรม จริยธรรม อย่างจริงจัง ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่นักเรียนได้รับ คือการอบรมให้เป็นเยาวชนที่ดี มีศีลธรรม มีความศรัทธาต่อศาสนาของตนเอง เพื่อจะได้เป็นพลเมืองที่ดี และมีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป โรงเรียนดอนบอสโก ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ ในวาระสำคัญอีกครั้ง โดยในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเปิดหลักสูตรวิชาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพสาขาการพิมพ์ (ปวช.) สำหรับคนพิการทางการได้ยิน ซึ่งมีเด็กผู้พิการ จำนวน24 คน (ชาย 16 คน และหญิง 8 คน) เป็นนักเรียนรุ่นแรกของหลักสูตรแห่งประวัติศาสตร์นี้ และทรงวางศิลาฤกษ์ตึกอนุสรณ์ 60 ปีของดอนบอสโก ในโอกาสฉลองครบ 60 ปีของการก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อเยาวชนไทยที่ยากจนและผู้ด้อยโอกาส

     อนึ่ง ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีใน พ.ศ. 2539 รัฐบาลและประชาชนได้เฉลิมฉลองวาระอันน่ายินดีนี้ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย กรุงเทพ-มหานคร มีส่วนร่วมในมหามงคลสมัยดังกล่าว ดังปรากฏในสมุดจดหมายเหตุรายวันของโรงเรียน บันทึกไว้ว่า
“11 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 คุณหญิงอลิศรา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายกสมาคมนักเรียนเก่ามาแตร์เดอีวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำหนังสือที่ รล 0003/10288 ลงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ลงนามโดยหม่อมหลวงพีระพงศ์ เกษมศรี ราชเลขาธิการ จากสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวังถึงนายกสมาคมนักเรียนเก่ามาแตร์เดอีวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ มามอบให้แด่คุณแม่บุญประจักษ์ ทรรทรานนท์ ผู้รับใบอนุญาต เป็นหนังสือตอบของหนังสือลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 ของนายกสมาคมนักเรียนเก่าฯ ซึ่งขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานชื่ออาคารเรียนที่สร้างขึ้นสำหรับชั้นอนุบาลและมัธยมศึกษา เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี สำนักราชเลขาธิการได้พิจารณา แล้วเห็นสมควรใช้ชื่ออาคารว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” พร้อมทั้งให้ประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีที่อาคารนี้ ซึ่งความทราบ ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทั้งนี้นำความปลาบปลื้มมายังคุณแม่บุญประจักษ์และทางโรงเรียนทุกคน”
    อนึ่ง เมื่อการก่อสร้าง “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” สำเร็จลงในปีต่อมา โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยได้เฉลิมฉลองวาระอันเป็นมงคลโดยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมาประกอบพิธีเปิดอาคารเรียน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ.1997)

    วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
เวลา 18.54 น. วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2557 (ค.ศ. 2014) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พระอัครสังฆราชกิตติคุณแห่งกรุงเทพฯ นำคณะสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย เฝ้า และเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อเชิญพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก ที่ได้รับการสถาปนาใหม่คือ นักบุญยอห์น ที่ 23 พระสันตะปาปา และนักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา ซึ่งได้รับมอบจากนครรัฐวาติกัน มาอธิษฐานภาวนาขอพระพรจากพระเจ้า ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง
พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของพระศาสนจักรคาทอลิก หมายถึง ชิ้นส่วนของร่างกาย เช่น กระดูก โลหิต ผิวหนัง หรือสิ่งของประจำกาย เช่น ไม้กางเขน ประคำของนักบุญ หรือบุคคลอันเป็นที่เคารพของชาวคาทอลิก ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และได้รับการเก็บรักษาไว้ ที่เชิญมาในโอกาสนี้ คือ พระฉวี หรือผิวหนังของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 และพระโลหิตของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557

     สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ทรงดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา ระหว่างปี 2501-2506 พระองค์ทรงได้รับการยกย่องในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพระศาสนจักรให้ทันสมัย และเสริมสร้างเอกภาพในหมู่คริสตชน ทั้งนี้ในช่วงเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ในยุโรป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ณ นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2503

     สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา ระหว่างปี 2521-2548 พระองค์ได้ทรงอุทิศพระวรกาย เสด็จไปทรงเยี่ยมคริสตชน และเผยแผ่พระธรรมในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องตลอดวาระสมัยรวมทั้งการเสด็จเยือนประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ได้เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงรับสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2527 ในโอกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ถึงความผูกพันระหว่างพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกกับราชอาณาจักรไทย ที่มีมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนความเจริญงอกงามของคริสตศาสนาในประเทศไทย รวมทั้งทรงยกย่องสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ในฐานะผู้แผ่ความสงบร่มเย็นและความสว่างแจ่มใสแก่ชาวโลกด้วย

บทเทศน์วันอาทิตย์

"จงเตรียมพร้อม" ข่าวดี สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า (C) วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2024ก.ความสำคัญ...
"กษัตริย์แห่งความรัก" ข่าวดี สมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล(B)วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2024ก. ความสำคัญ 1. วันอาทิตย์นี้เป็นวันสุดท้ายของปีพิธีกรรมของพระศาสนจักร บทอ่านจะบรรยายถึงการขึ้นครองราชย์ที่ยิ่งใหญ่ในสวรรค์ของพระเยซูคริสต์ในฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล...
"เตรียมพร้อม" ข่าวดี สัปดาห์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา (B)วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2024ก. ความสำคัญ...

ข่าว-ประชาสัมพันธ์

ฉลองวัดนักบุญเปาโลกลับใจ โพธาราม
วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2024 เวลา 10.00 น. พระสังฆราชซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณโอกาสฉลองชุมชนแห่งความเชื่อวัดนักบุญเปาโลกลับใจ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 📷...
ฉลองวัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ พุถ่อง
วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 เวลา 10.30 น. พระสังฆราชซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณโอกาสฉลองชุมชนแห่งความเชื่อวัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ พุถ่อง อ.ทองผาภูมิ...
ฉลองวัดแม่พระถวายองค์ในพระวิหาร ลูกแก
วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 เวลา 10.00 น. พระสังฆราชซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณโอกาสฉลองชุมชนแห่งความเชื่อวัดแม่พระถวายองค์ในพระวิหาร ลูกแก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี...
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงแต่งตั้ง คุณพ่อฟิลิป อดิศักดิ์ พรงาม เป็นพระสังฆราชองค์ใหม่แห่งสังฆมณฑลจันทบุรี
สังฆมณฑลราชบุรีร่วมโมทนาคุณพระเจ้าและแสดงความยินดีกับสังฆมณฑลจันทบุรีโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงแต่งตั้งคุณพ่อฟิลิป อดิศักดิ์ พรงามเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่แห่งสังฆมณฑลจันทบุรีประกาศ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024
ฉลองวัดนักบุญลูกา หนองนางแพรว
วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024...
วันแพร่ธรรมสากลและวันฆราวาสสังฆมณฑลราชบุรี ค.ศ. 2024
วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2024 ฝ่ายงานธรรมทูตร่วมกับสมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรม...

สาส์น-ประกาศจากสภาพระสังฆราชฯ

สาส์นอภิบาลฯ เรื่อง ปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 “บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง”
สาส์นอภิบาลของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ที่ 102/2024เรื่อง...

ประกาศสำนักพระสังฆราช

สาส์นอภิบาลฯ โอกาสปีศักดิ์สิทธิ์สามัญ ค.ศ. 2025
ที่ สร.091/2024สาส์นอภิบาลจากพระสังฆราชแห่งราชบุรีโอกาสปีศักดิ์สิทธิ์สามัญ ค.ศ....
ประกาศสังฆมณฑลราชบุรี เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ.2025
ที่ สร.090/2024ประกาศสังฆมณฑลราชบุรีเรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานปีศักดิ์สิทธิ์...
ประกาศสังฆมณฑลราชบุรี เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจ
ที่ สร.088/2024ประกาศสังฆมณฑลราชบุรีเรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจ...

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทยรวมพลังรักษ์โลก ค.ศ.2024-2025

สารสังฆมณฑลราชบุรี

สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2024

เล่า หลัง วัด

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

ปกิณกสาระพิธีกรรม

พ่อบูรณ์พ่อบู๊ชวนคุย

ความปีติยินดีแห่งความรัก

การปกป้องคุ้มครองนักเรียนฯ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองนักเรียน โรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี

เพื่อนร่วมทาง

สถานที่อบรม-สัมมนา

ศูนย์ภาวนา"ทาบอร์" จ.กาญจนบุรี
บ้าน"เย็นเนซาเร็ธ" จ.เพชรบุรี
ค่ายลูกเสือดรุณาเฉลิมพระเกียรติบ้านพระหฤทัย บางนกแขวก