สถานศึกษาคาทอลิกต้องเป็นสนามและฐานแห่งการประกาศข่าวดีอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแปลงเพาะบ่มคุณค่าชีวิตตามแนวทางพระวรสารที่เหมาะสมที่สุด (กฤษฎีกาฯ ข้อ 25) แล้วโรงเรียนคาทอลิก โดยเฉพาะในสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี จะเป็นศิษย์พระคริสต์ได้อย่างไรบ้าง คำถามดังกล่าวนี้พบแนวคำตอบได้จากกฤษฎีกาฯ ตามบทที่ 1 ข้อ 5-7 ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหัวข้อ ดังนี้
คริสตชนแต่ละคนเป็นศิษย์พระคริสต์ (ข้อ 5) ผู้ที่รับศีลล้างบาปทุกคนเป็นลูกของพระเจ้าและศิษย์ของพระคริสต์ จะต้องยึดมั่นในความเชื่อและเป็นประจักษ์พยานถึงพระเจ้าแก่คนรอบข้าง ทั้งด้วยคำพูด ความคิด และการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับความเชื่อคริสตชน ด้วยเหตุนี้ ตามสภาพของโรงเรียนคาทอลิกปัจจุบัน คริสตชนที่อยู่ในโรงเรียนคาทอลิกทุกคนไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ ซิสเตอร์ บุคลากรครู (ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ) เจ้าหน้าที่สนับสนุน และพนักงานของโรงเรียนในฝ่ายต่าง ๆ แม้พวกเราจะเป็นชนกลุ่มน้อยในโรงเรียนคาทอลิก (หากเป็นโรงเรียนของรัฐบาลก็จะเป็นชนกลุ่มน้อยยิ่งกว่า)แต่พวกเราต้องทำให้ทุกคนในโรงเรียนเห็นถึงพลังความเชื่อศรัทธา รับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และการอุทิศตนเพื่องานสร้างสรรค์นักเรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง และสามารถมีความสุขในการดำเนินชีวิต รวมถึงสร้างสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง ผู้ร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ทุกคนสัมผัสถึงความรักและพระเมตตาของพระเจ้าได้ทีละเล็กละน้อย สม่ำเสมอ ผ่านทางวิถีชีวิตของเราคริสตชนซึ่งเป็นศิษย์ของพระคริสต์
ชีวิตหมู่คณะ ชุมชนแห่งความรัก เจริญชีวิตเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ข้อ 6) การดำเนินชีวิตหมู่คณะหรือชุมชนคริสตชนด้วยความรักและเป็นหนึ่งเดียวกันดังเช่นคริสตชนในสมัยแรก ๆ ของพระศาสนจักร เป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสตเจ้าได้เป็นอย่างดี โรงเรียนคาทอลิกสามารถนำรูปแบบการดำเนินชีวิตดังกล่าวลงสู่ภาคปฏิบัติได้ในการจัดการศึกษาคาทออลิกของทุกโรงเรียน การจัดโครงสร้างองค์กร และการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมของผู้บริหารการที่หัวหน้าฝ่ายงานต่าง ๆ ดำเนินนโยบายผู้บริหารด้วยความมุ่งมั่น บูรณาการร่วมกัน และปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความรัก ให้เกียรติ และเห็นคุณค่าของกันและกันของทั้งผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง บุคลากรสนับสนุน และชุมชน การร่วมทุกข์ร่วมสุข และการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา เพศ วัย ถือเป็นวิถีชีวิตของกลุ่มคริสตชนอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้โรงเรียน (คาทอลิก) เป็นเครื่องหมายและเครื่องมือประกาศข่าวดีใหม่ของพระคริสตเจ้า ท่ามกลางกระแสโลกีย์นิยมที่คุกคามจิตใจอันดีงามของมนุษย์ คุณธรรมจริยธรรม และคุณค่าชีวิตให้ลดต่ำลงของสังคมโลกในปัจจุบัน
การรวมกลุ่มเป็นชุมชน องค์กรคาทอลิกต่าง ๆ ของศิษย์พระคริสต์ (ข้อ 7) ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ล้วนเป็นพระพรและเพื่อความดีของพระศาสนจักร โดยมีพระจิตเจ้าทรงอวยพรและนำทางเสมอมา ในส่วนของกลุ่มองค์กรคาทอลิกต่าง ๆ ในโรงเรียนคาทอลิกสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี ประกอบด้วย กลุ่มกองหน้าร่าเริง กลุ่มพลศีล กลุ่มวาย.ซี.เอส. กลุ่มยุวธรรมทูต กลุ่มผู้อ่านบทอ่านและช่วยจารีต กลุ่มนักขับร้อง กลุ่มพลมารีครูหรือนักเรียน กลุ่มครูคำสอนและครูคาทอลิก ฯลฯ สมาชิกในกลุ่มต่าง ๆเหล่านี้ ควรได้รับประสบการณ์ บรรยากาศ และสร้างอารยธรรมของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อดำเนินกิจกรรมตามวิถีทางและด้วยวิธีการขององค์กรของตนเองซึ่งแม้จะแตกต่างกันในโครงสร้าง จิตตารมณ์ และการดำเนินงาน แต่ล้วนมีเป้าหมายและพันธิกจร่วมกันในการประกาศข่าวดีอย่างมีเอกภาพ
ด้วยเหตุนี้ การเป็น “ศิษย์พระคริสต์” จึงเป็นพันธกิจร่วมของทุกภาคส่วนในพระศาสนจักร ซึ่งศิษย์พระคริสต์ที่ทำงานและเจริญชีวิตอยู่ในโรงเรียนคาทอลิกหรือโรงเรียนของภาครัฐหรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ล้วนมีบทบาท หน้าที่ และภารกิจร่วมกัน เพื่อเจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่เป็นประจักษ์พยานชีวิตถึงองค์พระคริสตเจ้าท่ามกลางเพื่อนพี่น้องรอบข้างในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
( จากคอลัมน์ การเป็นศิษย์พระคริสต์ในโรงเรียนคาทอลิก : บทไตร่ตรองจากกฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ค.ศ. 2015 โดย คุณพ่อสมเกียรติ จูรอด @ สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 36 ฉบับที่ 1 เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2017)