Maximum Illud คือสมณลิขิตของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ที่ทรงประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 1919 ในปีที่ 6 แห่งสมณะสมัยของพระองค์ ซึ่งเป็นต้นแบบของสมณสารที่เกี่ยวกับงานแพร่ธรรมในสมัยต่อๆมา
สาเหตุที่พระองค์ทรงเขียนสมณลิขิตฉบับนี้ขึ้นก็เพราะพระองค์ทรงมีความรู้สึกเสียใจที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง(1914-1918) ทำให้คนจำนวนมากต้องตายและเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงไปทั่วทวีปยุโรป นอกจากนั้นบรรดาธรรมทูตจากยุโรปมักจะนำเอาวัฒนธรรมประจำชาติของตนไปครอบงำผู้คนในประเทศต่างๆ จนทำให้คนเกิดความรู้สึกว่าคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาของคนยุโรปหรือเป็นคนแปลกหน้าสำหรับคนท้องถิ่นนั้นๆ หรือเป็นศาสนาที่มาเพื่อล่าอาณานิคม ธรรมทูตบางคนแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆให้กับประเทศของตนแทนที่จะทำเพื่อพระศาสนจักรส่วนรวม และในสมัยนั้นมีการค้นพบประเทศใหม่ๆ จำนวนมากซึ่งประชาชนเหล่านั้นยังไม่รู้จักพระเจ้า ด้วยเหตุเหล่านี้พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 จึงได้ออกสมณลิขิตฉบับนี้ขึ้น
สมณลิขิต Maximun Illud ประกอบด้วย 5 ภาค 42 ข้อ ประกอบด้วย
ภาคที่ 1 “บทนำ” (ข้อที่ 1-7) พระสันตะปาปาทรงเชิญชวนให้ทุกคนหวลคิดถึงบรรดาอัครสาวกแห่งพระวรสารผู้ที่มีส่วนทำให้งานธรรมทูตได้แพร่หลายไปตามพระบัญชาของพระเยซูที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง” (มก 16:15) พระองค์ทรงทบทวนประวัติศาสตร์งานธรรมทูตที่ผ่านมา เช่น ตัวอย่างของ น.ฟรังซิสเซเวียร์ในประเทศอินเดียและญี่ปุ่น บาโทโลมิว เดอ ลา กาซัสในทวีปอเมริกา และบุคคลอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการทำงานเพียงคนๆเดียวก็สามารถรับใช้พระเจ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีบรรดาธรรมทูตจำนวนมากได้ตายเป็นมรณะสักขีเพื่อยืนยันความเชื่อ และหลายคนดำเนินชีวิตเยี่ยงนักบุญ พระองค์ยังทรงตระหนักถึงงานธรรมทูตยังดินแดนที่พบใหม่ๆ เช่น ออสเตรเลียและหมู่เกาะต่างๆ รวมถึงประเทศต่างๆ ในทวีปอัฟริกาและเอเซีย ซึ่งพระองค์ตรัสว่ายังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้จักพระเจ้า และทรงชี้แจงถึงจุดประสงค์สองประการของสมณลิขิตนี้ ได้แก่ ปลุกจิตสำนึกบรรดาพระสังฆราช อธิการเจ้าคณะ สงฆ์นักบวช และสัตบุรุษทุกคนให้มีความกระตือรือร้นในงานในงานธรรมทูต และแนะนำวิธีการเพื่อการทำงานธรรมทูตให้บังเกิดผล
ภาคที่ 2 “ถึงบุคคลที่รับผิดชอบงานธรรมทูต” (ข้อ 8-17) ถึงบทบาทของพระสังฆราชในฐานะอัครสาวกมีหน้าที่โดยตรงในการขยายพระอาณาจักรของพระเจ้า ถึงบรรดาอธิการเจ้าคณะให้ใช้เครื่องมือทุกชนิดเพื่องานธรรมทูต ทั้งการพูด การกระทำ การเขียน เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นสมาชิกให้ทำงานในท้องทุ่งของพระเจ้า ให้ร่วมงานกับสมาชิกด้วยความรัก เป็นทั้งผู้นำและผู้พิทักษ์ความเชื่อ เมื่องานที่หนึ่งแข็งแข็งแล้ว ให้ขยายออกไปยังสถานที่ใหม่ๆต่อไป ถ้าบุคลากรไม่พอให้หาคนจากคณะอื่นๆ มาช่วย โดยอาจจะให้ช่วยในด้านโรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์เด็กกำพร้า ศูนย์จิตเมตตา ฯลฯ ให้ฝึกสงฆ์นักบวชพื้นเมืองเพื่องานธรรมทูต เพราะพวกเขาเข้าใจบริบทของประชาชนและสามารถเข้าถึงประชาชนในสถานที่และสภาพการณ์ที่ธรรมทูตต่างประเทศไม่สามารถเข้าถึงได้ ที่สำคัญคือการเตรียมพวกเขาอย่างดีให้เท่าเทียมกับสงฆ์นักบวชที่ได้รับการเตรียมตัวจากยุโรป เพราะพวกเขาไม่ได้มาทำงานเป็นเพียงผู้ช่วยของธรรมทูตต่างประเทศเท่านั้น แต่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่เท่าเทียมกับธรรมทูตอื่นๆ และพระศาสนจักรจะต้องไม่ทำตนให้เป็นคนแปลกหน้า จึงต้องฝึกอบรมคนพื้นเมืองให้เข้ามาร่วมงานมากขึ้น
ภาคที่ 3 “ถึงบรรดาธรรมทูต” (ข้อ 18-30) บรรดาธรรมทูตที่กำลังทำงานในท้องทุ่งของพระเจ้าจงระลึกว่าพวกท่านกำลังนำแสงสว่างแห่งเมืองสวรรค์ไปให้มวลมนุษย์ ไม่ใช่ทำงานเพื่อโลกแต่เพื่อพระคริสต์ จึงต้องมีชีวิตจิตที่มั่นคง ไม่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน ตรงกันข้ามกับต้องทำงานเพื่อพระศาสนจักรส่วนรวม นอกจากนั้นธรรมทูตจะต้องอุทิศตนทำงานโดยไม่เห็นแก่ตัว หรือยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง ก่อนที่จะเข้ารับหน้าที่พวกเขาจะต้องได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษ สำหรับประชาชนทั่วๆไปแล้ว การปฏิบัติตนเป็นคนดีมีศีลธรรมมีคุณค่ามากกว่าคนรู้ทางสติปัญญา แต่อย่างไรก็ตามเขาจะต้องสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับความเชื่อที่ยุ่งยากต่างๆได้ ทั้งนี้โดยการอ่านและการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ผู้เตรียมเป็นธรรมทูตจะต้องเรียนรู้ทั้งทางธรรมได้แก่วิชาศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และวิชาทางโลกที่จำเป็นสำหรับงานธรรมทูตซึ่งมหาวิทยาลัยอูบาร์นีอานาของสมณกระทรวงเพื่อการประกาศพระวรสารสู่ปวงชน (1 สิงหาคม 1627) เป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมงานด้านธรรมทูต (Missiology) อย่างเป็นทางการให้กับสมาชิกของพระศาสนจักร นอกจากนั้นธรรมทูตควรเรียนรู้เรื่องภาษาและวัฒนธรรมของประเทศที่จะต้องไปทำงานด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือธรรมทูตต้องเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ให้ยึดพระเยซูเจ้าเป็นรูปแบบในการทำงาน และทรงชมเชยการอุทิศตนทำงานของบรรดานักบวชหญิง
ภาคที่ 4 “ถึงคาทอลิกทุกคน” (ข้อ 31-40) พระสันตะปาปาทรงเน้นว่างานธรรมทูตไม่ได้เป็นงานของบรรดาธรรมทูตเท่านั้น แต่คาทอลิกทุกคนต้องมีส่วนร่วมในงานนี้ ทุกคนสามารถช่วยได้ในสามรูปแบบด้วยกัน คือ การภาวนาเพื่องานธรรมทูต การสนับสนุนกระแสเรียก และการช่วยเหลือทางด้านวัตถุปัจจัย
นอกจากนั้นพระสันตะปาปายังได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสมณองค์กรที่รับผิดชอบบริหารจัดการงานธรรมทูตของพระศาสนจักร ได้แก่ สมณกระทรวงการประกาศพระวรสารสู่ปวงชน ซึ่งมีสมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรม หรือ PMS (Pontifical Mission Societies) เป็นหนึ่งในการรับผิดชอบฯ ซึ่งยังประกอบด้วยสมณองค์กรย่อยอีกสี่สมณองค์กร ได้แก่ สมณองค์กรเผยแพร่ความเชื่อ ( Society for the Propagation of the Faith) มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนงานด้านการเงินที่จำเป็นในการเผยแพร่ความเชื่อ ทั้งในพระศาสนจักรที่จัดตั้งขึ้นแล้วและพระศาสนจักรที่กำลังจัดตั้งขึ้นในอนาคต ในโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานแพร่ธรรม เช่นการสร้างโบสถ์ การสนับสนุนครูคำสอน สื่อมวลชน ฯลฯ สมณองค์กรยุวธรรมทูต (Association of the Holy Childhood) สมณองค์กรนี้ให้ความช่วยเหลือบรรดาเด็กๆ ให้ได้รับศีลล้างบาปก่อนตาย สนับสนุนเด็กๆให้มีความเชื่อมั่นคง และเรียนรู้ที่จะเป็นธรรมทูต พร้อมที่จะแบ่งปันความเชื่อให้ผู้อื่น สมณองค์กรนักบุญเปโตรอัครสาวก (Society of St. Peter the Apostle) เป็นสมณองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาและการฝึกอบรมพระสงฆ์นักบวชท้องถิ่นเพื่องานธรรมทูต และสมณองค์กรสหพันธ์ธรรมทูตของพระสงฆ์และนักบวช (Missionary Union of the Clergy) เป็นสมณองค์กรเพื่อช่วยทำให้พระสงฆ์นักบวชมีความพร้อมและความสามารถในการทำงานธรรมทูตเพื่อความรอดของคนที่ไม่ได้เป็นคาทอลิกและสนับสนุนงานของสันตสำนักในงานธรรมทูต
ภาคที่ 5 “บทสรุป” (ข้อ 41-42) พระสันตะปาปาทรงคาดหวังว่างานธรรมทูตจะต้องประสบผลสำเร็จถ้าทั้งบรรดาธรรมทูตและสัตบุรุษร่วมมือกัน ปัญหา ความขัดแย้งและบาดแผลจากสงครามโลกจะได้รับการเยียวยาโดยเร็ว เราพร้อมที่จะปฏิบัติตามเสียงของพระองค์ที่ว่า “จงแล่นเรือออกไปที่ลึก” (ลก 5:4) ขอพระมารดาของพระเจ้า ราชินีแห่งอัครสาวกสดับฟังคำภาวนาของเราและวอนขอพระจิตเจ้าทรงช่วยพระสงฆ์นักบวชและสัตบุรุษในงานธรรมทูตนี้ด้วย
***ข้อสังเกต: สมณลิขิต Maximun Illud ได้รับการยอมรับว่าเป็นเอกสารฉบับแรกที่ศึกษางานธรรมทูตด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และได้ให้หลักปฏิบัติพร้อมแนวทางในการทำงานแพร่ธรรม ซึ่งเป็นต้นแบบของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานธรรมทูตของพระศาสนจักรคาทอลิกอื่นๆในสมัยต่อมา
สมณลิขิตนี้ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ทรงให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาที่พระองค์ทรงห่วงกังวลสองประการได้แก่การที่บรรดาธรรมทูตมีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันและการที่ไม่พยายามที่จะฝึกอบรมสงฆ์นักบวชพื้นเมืองในงานธรรมทูต และลักษณะของการยึดติดในชาติของตนหรือลัทธิชาตินิยมทำงานเฉพาะกลุ่มของตน
สรุปสาระสำคัญของสมณลิขิตฉบับนี้ได้สี่ประการสำคัญ คือ
1) เน้นการให้ความสำคัญและแนวปฏิบัติแก่บรรดาผู้นำในงานธรรมทูต
2) การให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพระสงฆ์นักบวชท้องถิ่น และทำให้พระศาสนจักรเป็นสากลมากที่สุด
3) เน้นการบริหารจัดการและความร่วมมือกันในระหว่างองค์กรระดมทุนต่างๆของพระศาสนจักร
และ 4) เน้นการอบรมธรรมทูตในอนาคตให้สมบูรณ์แบบที่สุด
คำถามที่ท้าทายสำหรับงานธรรมทูต คือ “ทำอย่างไรให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุดโดยใช้คนให้น้อยที่สุด” (to cover maximum ground with the minimum number) และ “เขตพื้นที่ที่ท่านรับผิดชอบใดที่ยังไม่ได้รับข่าวดีของพระเยซูเจ้า และจำนวนคนที่ยังไม่ได้รับข่าวสารคริสตชนมีทั้งหมดกี่เปอร์เซ็นต์”
( https://www.svdcuria.org/
https://w2.vatican.va/content/francesco/en/letters/2017/)