เขายังได้สัมผัสกับความทุกข์ทรมานของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนที่หลากหลายรูปแบบโดยผ่านทางชีวิตของบุคคลต่างๆที่เขาได้พบเช่นกัน และเขายังได้เกิดความเชื่อมั่นในความศรัทธาต่อพระเจ้าว่า พระองค์ทรง “กระทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นใหม่” อย่างแท้จริงโดยผ่านทางการแบ่งปันประสบการณ์ของเพื่อนร่วมทางที่เขาได้หันเหออกจากความบาปต่างๆในชีวิตที่ผ่านมา และเมื่อถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่อไป ชายผู้ศักดิ์สิทธิ์คนนี้ได้ภาวนาว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดยกโทษให้ลูกด้วย ที่ลูกได้เดินทางไกลเพื่อแสวงหาพระองค์ โดยคิดว่าพระองค์ประทับอยู่ห่างไกล และได้หลงลืมไปว่าพระองค์ประทับอยู่ในสถานที่ทุกแห่งและสถิตอยู่กับคนทุกคน”
(นี่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปแสวงบุญที่ไหนเลย) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือสถานที่จาริกแสวงบุญนั้นยังเป็นเครื่องหมายสำคัญที่แสดงให้เราเห็นว่าพระพรของพระเจ้าและการประทับของบรรดานักบุญของพระเจ้ามีอยู่จริงในสถานที่ต่างๆเหล่านั้น การเดินทางไปแสวงบุญยังคงมีความสำคัญต่อชีวิตของเราในฐานะที่เป็นการเตือนใจเราให้ระลึกว่าชีวิตของเราเป็นการเดินทางครั้งใหญ่ของความเชื่อจากโลกนี้กลับไปยังบ้านของพระบิดา แต่เราต้องไม่ลืมว่าพระเจ้าประทับอยู่กับเราที่บ้านของเรา พระองค์ประทับอยู่กับเราตลอดการเดินทาง และพระองค์จะทรงต้อนรับเราเมื่อการเดินทางของเราสิ้นสุดลง
วันนี้เราฉลองวันอาทิตย์แพร่ธรรมสากล เราต้องให้การสนับสนุนบรรดามิชชันนารีของเราที่กำลังทำงานอยู่ทั่วทุกมุมโลกโดยทาง คำภาวนาและการบริจาคเงินสนับสนุน พี่น้องธรรมทูตชายหญิงของเราเหล่านี้เป็นเครื่องหมายที่ชัดเจนที่ทำให้เราพูดได้เต็มปากว่าพระบัญชาของพระเจ้าได้รับการตอบสนองอย่างแท้จริง “ท่านทั้งหลายจงออกไปในโลกและประกาศข่าวดี” แน่นอน การที่พวกเขาจะออกไปอยู่ท่ามกลางโลกและประกาศข่าวดีได้นั้น เขาจะต้องตอบรับคำเชิญของพระองค์ที่ว่า “จงมาและติดตามเรา” “จงออกไป” และ “จงมา” ดูเหมือนเป็นพฤติกรรมที่ขัดแย้งกัน แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีเราจะเห็นได้ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงเป็นผู้ส่งเราออกไป และทรงเป็นพระองค์เองที่ประทับอยู่ในทุกหนทุกแห่งทรงเรียกเรามา ดังนั้นคำบัญชาทั้งสองจึงมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกันคือองค์พระผู้เป็นเจ้า และต่างก็มุ่งไปยังเป้าหมายเดียวกัน คือ พระเยซู ดังนั้นเราทุกคนที่เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า เราที่เป็นผู้ติดตามพระเยซู จึงอัครสาวกคนหนึ่งของพระองค์ และเป็นธรรมทูตคนหนึ่งของพระองค์ด้วยเช่นกัน
เราทุกคนต่างเป็นมิชชันนารี เป็นธรรมทูตของพระคริสตเจ้า “พระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามาในโลกฉันใด ข้าพเจ้าก็ส่งเขาเข้าไปในโลกฉันนั้น”(ยอห์น 17:18) วิธีการที่พระบิดาทรงส่งพระบุตรลงมาในโลกก็เป็นวิธีการเดียวกันกับที่พระเยซูเจ้าทรงส่งพวกเราเข้าไปในโลกเช่นกัน แต่ส่งเข้าไปแล้วจะต้องทำอย่างไร คำตอบที่ชัดเจนอยู่ในพระวรสารของนักบุญยอห์นเช่นกัน คือ “ฟิลิปเอ๋ย...ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย”(ยอห์น 14:9) เราสามารถมองเห็น สัมผัส รับฟัง เข้าหาองค์พระผู้เป็นเจ้าได้โดยผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า ดังนั้นถ้าพระเยซูเจ้าทรงส่งเราอย่างที่พระบิดาทรงส่งพระเยซูลงมาในโลก พันธกิจของเราในฐานะธรรมทูตของพระองค์นั้นก็คือทำให้โลกได้เห็น ได้สัมผัส ได้รับฟังเสียง และสามารถเข้าถึงพระเยซูเจ้า พูดอย่างตรงประเด็นก็คือ “ใครเห็นเรา เขาก็ควรเห็นพระเยซูเจ้าในตัวของเรา”
แต่เราจะทำให้คนในโลกได้เห็น “พระพักตร์” และรับฟัง “พระสุรเสียง” ของพระองค์ได้อย่างไร พระเยซูเจ้าทรงสั่งเราด้วยพระวรสารในวันนี้ว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาและสุดกำลังของท่าน และท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง”(มาระโก12:30-31) นี้แหละเป็นความรักที่เราคริสตชนจะสามารถทำให้คนอื่นๆได้รู้จักองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ ทั้งนี้เพราะ “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” (1ยอห์น 4:8) การที่เรานอบน้อมและนำเอาพระวาจาของพระเจ้าไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันเช่นนี้ เราจึงจะสามารถเปิดเผย “พระพักตร์” และ “พระสุรเสียง” ของพระเจ้าให้คนอื่นๆมองเห็นและรับรู้ได้อย่างชัดเจน
แน่นอนที่เดียว ความเชื่อมาจากการได้รับฟัง นี้แหละจึงเป็นสาเหตุให้เรามีความจำเป็นที่จะต้องมีคนประกาศข่าวดี แต่ความเชื่อที่มาจากการได้รับฟังนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับยืนยันอย่างแข็งขันจาก “การปฏิบัติตนที่เป็นประจักษ์พยาน” จริงๆของผู้ประกาศข่าวดีนั้น แตร์ตูเลียนได้เขียนไว้ว่า คนต่างความเชื่อเมื่อได้เห็นชีวิตของชุมชนคริสตชนในยุคแรกๆนั้นแล้วอดที่จะประหลาดใจไม่ได้ เมื่อเห็นว่าพวกเขามีความรักต่อกันและกัน คนต่างความเชื่อได้เห็นความรัก และการเห็นความรักก็คือการได้เห็นว่าพระเจ้าคือองค์แห่งความรัก นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี ได้กล่าวไว้ว่า จงเทศน์สอนข่าวดีของพระเจ้า(ด้วยการดำเนินชีวิต)ในทุกเวลาและทุกสถานที่ และเมื่อถึงเวลาให้เทศน์ด้วยคำพูดด้วย และนี้เองที่นักบุญมัทธิวระบุว่าพระเยซูเจ้าทรงส่งสาวกของพระองค์ออกไปเป็นคู่ๆ เช่นเดียวกับที่นักบุญออกุสตินได้ออกกฎว่าศิษย์ของท่านจะต้องออกไปทำงานเป็นคู่ๆเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะท่านไม่ไว้วางใจศิษย์ของท่าน แต่ทั้งนี้เพราะว่าท่านเห็นถึงความจำเป็นของการเทศน์สอนด้วยการแสดงความรักให้เป็นแบบอย่างนั้นเอง
(ผู้เขียนบทเทศน์ Fr. Gerard Francisco P.Timoner III, อธิการบ้านเณร UST มะนิลา)